• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ป้องกันโรคฉี่หนู

ถาม : สุมาลี/ปทุมธานี 

ช่วงน้ำท่วมนอกจากต้องระวังข้าวของเสียหายแล้ว ยังต้องระวังเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับน้ำท่วมอีก เช่น โรคฉี่หนู ซึ่งครอบครัวของดิฉันต้องระวังเรื่องนี้กันมาก จึงอยากรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นค่ะ

ตอบ : พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล

ภาวะน้ำท่วมขังอาจทำให้มีการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเล็ปโตสไปโรซิส” โดยเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำ และบางสภาวะเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำที่ท่วมขังได้นานหลายเดือน

โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวชื่อ “เล็ปโตสไปร่า” โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดเป็นพาหะหรือแหล่งแพร่เชื้อของโรคนี้ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนู ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญที่สุด ชื่อของโรคก็มีที่มาจากเหตุนี้นั่นเอง โดยเชื้อนี้จะอยู่ในไตของหนู และถูกขับออกมากับฉี่ของมันมาปนเปื้อนในน้ำ โดยเฉพาะกรณีที่มีน้ำท่วมขัง 

เมื่อเราเดินย่ำน้ำ เชื้ออาจไชเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลเล็กๆ ที่เท้า และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานๆ ได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย หรือแช่น้ำนานๆ จะมีโอกาสติดเชื้อฉี่หนูสูง

โรคฉี่หนูจะใช้เวลาในการฟักตัว ๑-๒ สัปดาห์ หรือบางครั้งอาจนานถึง ๓ สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อ อาจมีหรือไม่มีอาการก็ได้ 

กรณีที่มีอาการแสดงออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง น่อง และต้นคอหรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไอ หรืออาการอื่นคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถ้าติดเชื้อแล้วรีบมารับการรักษาก็จะหายจากโรคนี้ได้อย่างรวดเร็ว 

มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ไขสันหลัง หรือสมองอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกผิดปกติ แม้จะพบน้อย แต่ก็มีความสำคัญ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ดังนั้น ในสภาวะน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ หากป้องกันได้ ก็ควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ เช่น ถ้ามีบาดแผลหรือรอยถลอก ก็ควรงดลงน้ำ ถ้าต้องเดินลุยน้ำ ก็ให้สวมชุดป้องกัน สวมรองเท้าบู๊ตและอย่าให้น้ำขังในรองเท้านานๆ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้น และสังเกตอาการของตนเองและครอบครัว ถ้าผู้ใดที่เป็นไข้สูงนั้นทั้งระหว่างน้ำท่วมและช่วงหลังน้ำลด ๑ เดือน ให้รีบไปพบแพทย์ 

นอกจากนั้น การป้องกันด้านสุขอนามัยก็สำคัญไม่น้อย เช่น ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิด ล้างภาชนะใส่อาหารให้สะอาดก่อนใช้ทุกครั้ง และกินอาหารที่อุ่นร้อน แม้โรคไข้ฉี่หนูเป็นอันตรายร้ายแรง แต่การป้องกันและรักษาก็ทำได้ไม่ยาก