ถาม-ตอบ ๓ เรื่อง
ช่วงนี้มีโอกาสรับเชิญไปบรรยายความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชนหลายกลุ่ม
คำถามที่ผู้เข้าฟังบรรยายชอบถามกันบ่อย ซึ่งพอจะประมวลสัก ๓ ประเด็น ก็คือ
๑. การกินอาหารเสริม หรือยาบำรุงสำเร็จรูปต่างๆ จะช่วยป้องกันโรค และช่วยให้อายุยืนจริงหรือไม่
สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่า สุขภาพขึ้นกับวิธีการใด วิธีการหนึ่งโดยเฉพาะ จนถึงกับยอมซื้อหามาบริโภค ด้วยราคาแพง ขณะเดียวกันก็ละเลยวิธีการสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ ไป
ข้อเท็จจริง ก็คือ สุขภาพจะดีได้ก็ต้องรู้จักปฏิบัติอย่างถูกต้องทั้งในเรื่องอาหาร การบริหารกาย การบริหาร จิต และการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพพร้อมๆ กันไป การสร้างเสริมสุขภาพจึงต้องอาศัยความ วิริยะในการกระทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถทำอย่างประหยัดได้
๒. ทำไมเป็นเบาหวาน หรือความดันเลือดสูง ต้องกินยาอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีอาการ
สะท้อนถึงการมองไม่เห็นความแตกต่างระหว่าง โรคเฉียบพลันกับโรคเรื้อรัง
คนทั่วไปมักคุ้นเคยกับโรคเฉียบพลัน (เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ) ที่จะมีอาการปรากฏให้เห็นชัดเจน และสามารถรักษาให้หายขาดภายในเวลาไม่กี่วัน แต่จะไม่เข้าใจว่า โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง) เป็นโรคที่มักจะไม่มีอาการแสดงชัดเจน ส่วนมากจะเข้าใจว่าความดันเลือดสูงจะต้องมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือเบาหวานจะต้องมีอาการกระหายน้ำ บ่อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย เมื่อไม่มีอาการก็จะไม่ยอมไปหาหมอ หรือไม่มีความพยายามในการปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำของหมอ มักจะปล่อยปละละเลยจน เกิดโรคแทรกซ้อน (เช่น โรคหัวใจ อัมพาต ไตพิการ) ตามมาในที่สุด
ข้อเท็จจริง ก็คือ มีโรคอยู่หลายชนิดที่ไม่มีอาการปรากฏชัดเจน เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง มะเร็งระยะแรกเริ่ม เป็นต้น จะรู้ได้ก็โดยการตรวจเช็กร่างกาย และโรคเหล่านี้จำเป็นต้องคอยดูแลรักษา เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในระยะอีกหลายปีข้างหน้า
๓. สมุนไพรมีความปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบันจริงหรือไม่
สะท้อนถึงกระแสนิยมในเรื่องธรรมชาติบำบัด จนบางครั้งถึงกับปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างเมื่อป่วยเป็นมะเร็ง จะมองว่าการักษาแผนปัจจุบันมีผลเสียมากกว่าผลดี
ข้อเท็จจริง ก็คือ การแพทย์ทุกระบบย่อมมีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย การแพทย์แผนปัจจุบันมีการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และมีมาตรฐานในการปฏิบัติ โรค ส่วนใหญ่รวมทั้งโรคจิตประสาทและมะเร็งหลายชนิด สามารถรักษาหรือควบคุมได้โดยวิธีการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ข้อเสียคือ มีราคาแพง เข้าถึงยาก บางครั้ง มีผลข้างเคียง และระบบบริการอาจมองคนเป็นวัตถุหรือชิ้นส่วนอวัยวะ ไม่ใส่ใจมิติทางจิตของคนไข้
ส่วนการแพทย์แผนธรรมชาติบำบัด (สมุนไพร การแพทย์แผนโบราณ การแพทย์ทางเลือก) มีจุดเด่นคือ ใส่ใจมิติทางจิตใจ ราคาถูก เข้าถึงง่าย แต่มักจะไม่สามารถ พิสูจน์ให้เห็นผลชัดแจ้งจนเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ และบางครั้งหากใช้ผิดๆ ก็อาจมีผลข้างเคียงได้เช่นกัน
ดังนั้น จึงควรหาทางผสมผสานจุดเด่นของการแพทย์ทั้ง ๒ ระบบเข้าด้วยกัน ข้อสำคัญจะต้องมี การพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย จนเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ
- อ่าน 3,521 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้