• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคเกาต์

โรคเกาต์

 
ผู้ถาม วันชัย /กรุงเทพฯ

โรคเกาต์เป็นโรคเกี่ยวกับอะไร  สามารถดูแลรักษาได้อย่างไร 

ผมอายุ ๓๕ ปี เคยได้ยินเพื่อนๆ พูดถึงโรคเกาต์ ว่ามีญาติเป็นโรคนี้ไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นโรคนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะหมอบอกว่าเป็นโรคเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ ผมจึงเขียนจดหมายมารบกวนถามคุณหมอ เกี่ยวกับรายละเอียดของโรคนี้ครับ

๑. โรคเกาต์เกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไร 

๒. เป็นความจริงหรือไม่ ที่เขาว่ากันว่าคนชอบกินเครื่องในสัตว์ จะทำให้เป็นโรคเกาต์ได้ง่าย

๓. โรคนี้เหมือนหรือต่างจากโรคปวดข้อธรรมดาอย่างไร สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์

๔. โรคนี้ต้องรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างไร 

 

ผู้ตอบ นพ.สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ

๑. โรคเกาต์ บางทีเรียก เก๊าท์หรือเก๊าต์ เป็นชื่อเรียกทับศัพท์มาจากคำว่า gout หมายถึง โรคปวดข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายมีการสะสมของสารที่เรียกว่า "กรดยูริก" (uric acid) มากเกินไป กรดยูริกเป็นสารที่ย่อยสลาย(เผาผลาญ) มาจากสารเพียวรีน (purine) ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์เครื่องในสัตว์ และพืชผักอ่อน รวมทั้ง เกิดจากการสลายตัวของเซลล์ภายในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติภายในร่างกายของเรา กรดยูริกจะไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด และถูกขับออกทางไต (ปัสสาวะ) 
 

๒. ในคนปกติทั่วไป ถ้าหากกินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และพืชผักอ่อนในปริมาณมาก ร่างกายจะมีการสร้างกรดยูริกมากขึ้น แต่ก็สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกทางไตได้มากขึ้นตามส่วน เรียกว่าสามารถรักษาดุลของกรดยูริกในร่างกายไว้ได้อย่างอัตโนมัติ แต่คนบางคนร่างกายมีความบกพร่องในการรักษาดุลของกรดยูริก คือ ถ้าหากกินอาหารที่มีสารเพียวรีนมาก ร่างกายจะมีการสร้างกรดยูริกมากขึ้น แต่ไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกไปได้เต็มที่ดังคนปกติทั่วไป จึงมีการสะสมกรดยูริกส่วนเกินไว้ในร่างกาย ซึ่งจะตกผลึกอยู่ตามข้อ ตามผนังหลอดเลือดในไต และอวัยวะต่างๆ ซึ่งเมื่อเจาะเลือดของคนไข้ตรวจจะพบว่า มีระดับกรดยูริกสูงเกิน ๘ มิลลิกรัม ต่อเลือด ๑๐๐ มิลลิลิตร โรคเกาต์เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ (เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรค หืด โรคไมเกรน) คนที่เป็นโรคเกาต์ นอกจากรับเชื้อกรรมพันธุ์มาจากพ่อ แม่แล้ว ยังสามารถถ่ายทอดความผิดปกติไปยังลูกหลานได้อีกด้วย เรียกว่าเป็นครอบครัวพันธุ์โรคเกาต์ ดังนั้น เมื่อพบคนไข้เป็นโรคเกาต์ จะต้องสืบค้นว่ามีญาติพี่น้องคนอื่นๆ เป็นโรคนี้ด้วยหรือไม่ โรคนี้ถือเป็นโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังติดตัวไปจนตาย ต้องคอยควบคุมอาหารและกินยาช่วยควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ ในเกณฑ์ปกติตลอดไป จึงเป็นโรคที่ห่างหมอห่างยาไม่ได้ และต้องคอยตรวจเลือดเป็นระยะๆ ถ้าสามารถดูแลรักษาตัวเองได้ดี ก็จะสามารถมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ เรียกว่า "หายขาด" ภายใต้การควบคุมกำกับ แต่ถ้าปล่อยปละละเลย ไม่รักษาตัวเองอย่างจริงจัง ในระยะยาว อาจมีผลแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ข้อพิการ ทำให้มีอาการปวดข้อ  ข้ออักเสบ นิ่วในไต อาจทำให้ไตพิการ ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวและตีบตัน ทำให้เกิดโรคความดันเลือดสูง

ส่วนใหญ่โรคนี้จะเกิดกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายจะมีอาการแสดงเมื่ออายุมากกว่า ๓๐ ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะมีอาการหลังวัยหมดประจำเดือน 
 

๓. การที่รู้ว่าเป็นโรคเกาต์แน่นอน ต้องอาศัยการตรวจเลือดเท่านั้น เพราะคนที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงในระยะเริ่มแรก หรือในระดับที่สูงเกินไปมาก อาจไม่มีอาการผิดปกติให้เห็นชัดเจน แต่ต่อมาจะค่อยๆ ปรากฏอาการให้เห็นที่พบบ่อยคืออาการปวดข้อ ซึ่งจะมีลักษณะจำเพาะ ได้แก่ 

- มีอาการอักเสบของข้ออย่างฉับพลันและรุนแรงตรงข้อหัวแม่เท้า (บางคนอาจอักเสบที่ข้อเท้า หรือข้อเข่า) เพียงข้างใดข้างหนึ่ง และมักเป็นเพียงข้อเดียว ข้อจะบวม แดงร้อนและเจ็บมากจนเดินไม่ไหวขณะที่อาการเริ่มทุเลา ผิวหนังในบริเวณที่ปวดนั้นจะลอกและคัน

- มักจะเริ่มปวดตอนกลางคืน หรือมีอาการกำเริบหลังดื่มเหล้า ดื่มเบียร์  เนื่องจากแอลกอฮอล์ทำ ให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง จึงมีกรดนี้คั่งในร่างกาย หรือหลังกินเลี้ยง กิน โต๊ะจีน หรือกินอาหารมากเกินปกติหรือเป็นหลังเดินสะดุด

- อาจมีอาการไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียร่วมด้วย

สำหรับคนที่มีอาการปวดข้อรุนแรง สังเกตว่าข้อมีอาการบวม แดง ร้อน เคลื่อนไหวลำบาก หรือมีอาการเป็นไข้ตัวร้อนร่วมด้วย ควรพบหมอโดยเร็วเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
 

๔. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคเกาต์ควรปฏิบัติตัว ดังนี้ 

- ติดต่อรักษากับหมอตามนัด และกินยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งบรรเทาอาการข้ออักเสบ และป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวได้

- ถ้ามีอาการข้ออักเสบกำเริบควรไปพบหมอ  แต่ระหว่างที่รอไปพบหมออาจกินยาแก้ข้ออักเสบ  เช่น บรูเฟน (Brufen) อินโดซิด (Indocid) ครั้งละ ๑-๒ เม็ด วันละ
๓ ครั้ง หลังอาหาร และควรกินยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคกระเพาะจากยาดังกล่าว 

- ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์เป็นอันขาด เพราะแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มนี้จะทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ทำให้โรคปวดข้อกำเริบ

- ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการกินเลี้ยง หรืองานเลี้ยง โต๊ะจีน

- ขณะที่มีอาการปวดข้อควรงดอาหารที่มีสารเพียวรีนสูง (ที่จะสลายเป็นกรดยูริก) เช่น เครื่องใน สัตว์ เป็ด ไก่ ห่าน นก อาหารทะเล กุนเชียง หมูยอ กะปิ เนื้อสัตว์ พืชผักอ่อน (เช่น หน่อไม้ ถั่วงอก สะเดา ยอดกระถิน ยอดผักอ่อน แตงกวา) ถ้าไม่มีอาการปวดข้อและกินยาลดกรดยูริกเป็นประจำ ก็อาจกินอาหารประเภทเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาได้บ้างในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

- ควรดื่มน้ำมากๆ วันละ๑๐-๑๕ แก้ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วในไต

- หลีกเลี่ยงการกินยาแอสไพรินและยาขับปัสสาวะ เพราะจะทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ทำให้อาการกำเริบได้ 

- ญาติพี่น้องของคนที่เป็นโรคเกาต์ควรตรวจเช็กเลือดดูระดับกรดยูริก หากพบว่าสูงเกินไป จะได้หาทางป้องกันมิให้กลายเป็นโรคเกาต์ตามมา

อย่าลืมว่าการดูแลรักษาตัวเองอย่างเคร่งครัด จะช่วยให้สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขและยืนยาวเช่นคนปกติได้