• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีนเอดส์

วัคซีนเอดส์
 

ผู้ถาม อัญชัน/กรุงเทพฯ

อยากทราบว่าวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ยังมีการคิดค้นกันอยู่หรือปล่า ถ้ายังมีการดำเนินการอยู่ตอนนี้คิดค้นไปถึงขั้นไหนแล้ว และมีโอกาสจะสำเร็จไหม

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวด้านโรคเอดส์เสมอ แต่ระยะหลังไม่ค่อยมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เท่าไหร่นัก ดิฉันจึงขอเรียนถามคุณหมอว่าขณะนี้การพัฒนายารักษาโรคเอดส์ไปถึงขั้นไหนแล้วคะ มีโอกาสจะสำเร็จไหม ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ไม่ทราบว่ายังมีการคิดค้นกันอยู่หรือเปล่า ถ้ายังดำเนินการอยู่ขณะนี้ถึงขั้นไหนแล้วคะ ใกล้สำเร็จหรือยัง ถ้าสำเร็จคงเป็นข่าวดีของมนุษยชาติทีเดียวนะคะ

 
ผู้ตอบ น.พ.ประพันธ์ ภานุภาค

ยารักษาโรคเอดส์ได้มีการพัฒนาไปค่อนข้างรวดเร็วมากครับ โดยเฉลี่ยจะมียาใหม่เกิดขึ้นในท้องตลาด (สหรัฐอเมริกา) ประมาณปีละ ๑-๒ ขนาดตลอด ในปัจจุบันมียาต้านเอดส์ ที่จำหน่ายอยู่ในอเมริกา ๑๑ ขนาน ในขณะที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในประเทศไทยเพียง ๘ ขนาน และยังมียาที่อยู่ในขั้นการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพในคนที่กำลังจะออกสู่ท้องตลาดภายใน ๑-๒ ปี อีกราว ๔-๕ ขนาน อย่างไรก็ตาม ยาต่างๆ ที่มีอยู่ก็ยังอยู่ใน ๓ กลุ่มเดิม คือ กลุ่มที่เรียกว่า

  • “Nucleoside reverse transcriptase inhibitors”,
  • “Non-nucleoside reverse transcriptase inhibitors”
  •  “Protease inhibitors”

ซึ่งยาหลายตัวมีการดื้อยาเหมือนๆกัน ถ้าเป็นยาที่อยู่ภายในกลุ่มเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าดื้อยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนั้น ก็อาจจะดื้อยาตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน ต้องข้ามไปใช้ยากลุ่มอื่นซึ่งก็ไม่มีให้เลือกมากนัก
นอกจากจะมีการพัฒนาทางด้านปริมาณดังที่กล่าวแล้วยังมีการพัฒนาทางด้านคุณภาพด้วยค่อนข้าง มาก กล่าวคือ ยาต้านเอดส์ตัวใหม่ๆ จะมีประสิทธิภาพแรงขึ้น ฆ่าเชื้อไวรัสเอดส์ได้มากขึ้น บางตัวก็มีการพัฒนาขึ้นให้ใช้ได้พียงวันละครั้งเพราออกฤทธิ์ในร่างกายได้ยาวนาน โดยเดิมกินวันละ ๒ ครั้ง ตอนนี้พบว่าสามารถรวมกินเป็นวันละมื้อเดียวก็ได้ผลดีเท่ากัน ทำให้สะดวกมากขึ้นในการใช้ยา

ระยะเวลาในการเริ่มต้นใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ก็ได้มีการพัฒนาแนวคิดไปมาก ในปัจจุบัน แนะนำให้ใช้ยิ่งเร็วยิ่งได้ผลในระยะยาวที่ดี เพื่อความคุ้มค่าในการใช้ยา ปัจจุบันแนะนำว่าให้เริ่มต้นใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ถ้าระดับภูมิคุ้มกันเริ่มต่ำลงโดยดูจากระดับ CD4+cell ถ้าต่ำกว่า ๕๐๐ ตัว ก็เริ่มให้ยาได้ แม้จะยังไม่มีอาการอะไร

ในระยะ ๑-๒ ปีที่ผ่านมา มีการนำการวัดปริมาณไวรัสเอดส์ในเลือดมารวมเป็นเกณฑ์ตัดสินการเริ่มต้นใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่มี CD4+cell เกิน ๕๐๐ ตัว ถ้าระดับไวรัสในเลือดเกิน ๑๐,๐๐๐ ตัวขึ้นไป ก็ควรเริ่มให้ยาแล้ว เหตุผลที่แนะนำให้เริ่มการรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะถ้ายิ่งรอนาน เชื้อเอดส์จะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ยากต่อการลดจำนวนลง และเชื้อที่ยังหลงเหลืออยู่ เมื่อมีการแบ่งตัว ก็อาจเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้ได้เชื้อที่ดื้อยาเร็ว

นอกจากนี้ ปริมาณหรือจำนวนตัวยาที่จะใช้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งก็ต้องเป็น ๒-๓ ตัวพร้อมกันเป็นอย่างน้อย ห้ามใช้เพียงตัวเดียวโดดๆ เพราะจะเกิดการดื้อยาง่าย เนื่องจากยาโดดๆตัวเดียวลดปริมาณซื้อได้ไม่มาก ต้องใช้ยา ๒-๓ ตัวขึ้นไปจึงสามารถลดปริมาณเชื้อลงมาจนตรวจไม่พบได้ หลายๆท่านอาจเคยได้อ่านพบข่าวคราวของ Dr.David Ho จากกรุงนิวยอร์กว่าใช้ยา ๓-๔ ตัวร่วมกันในคนไข้ จะทำให้เชื้อไวรัสเอดส์ในเลือดลดลงมาจนถึงระดับที่ตรวจไม่พบในคนไข้ส่วนใหญ่ จึงหวังว่าถ้าให้ยาสูตรแรงๆ แบบนี้ไปสัก ๓ ปี ไวรัสใหม่ไม่แบ่งตัวเพราะถูกยากดไว้ ขณะเดียวกันไวรัสเดิมในร่างกายรวมทั้งที่อยู่ตามเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆก็จะค่อยๆ ตายไปตามอายุขัยของมัน ในที่สุดคนไข้คนนั้นอาจกำจัดเชื้อเอดส์ออกจากร่างกายได้จริงๆ คือ สามารถรักษาให้หายขาดได้ คาดว่าภายใน ๑-๒ ปีจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ทฤษฎีที่ท้าทายนี้ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยการหยุดยาในคนไข้ที่กินยามานานพอแล้ว ค้นหาโดยวิธีการทุกรูปแบบว่ายังมีเชื้อเอดส์ลงเหลืออยู่ในร่างกายหรือไม่ ดังนั้นในอีก ๑-๒ ปีข้างหน้า อาจมีข่าวดีสำหรับชาวโลกว่าโรคเอดส์ อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้านไวรัสเอดส์เดี่ยว ๆ เช่น AZT ก็ยังเป็นมาตรฐานทั่วโลกในการป้องกันไม่ให้ลูกที่เกิดมาใหม่ติดเอดส์จากแม่ได้ ทั้งนี้เป็นผลการศึกษาที่ถูกเปิดเผยออกมาเมื่อต้นปี ๒๕๓๗ ว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ถ้าได้รับยา AZT ตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ ๑๔-๓๔ สัปดาห์ โดยให้ยา AZT จนเด็กคลอดจึงหยุด และให้ยา AZT แก่ทารกต่ออีก ๖ สัปดาห์หลังคลอดจะสามารถลดอัตราการติดเอดส์จากแม่สู่ลูกได้ลงร้อยละ ๒๕ ลงเหลือเพียงร้อยละ ๘.๓ ลดลงได้ ๒ ใน ๓ แสดงว่า AZT สามารถช่วยชีวิตทารกไม่ให้ติดเอดส์ได้

ส่วนเรื่องวัคซีนเอดส์นั้นก็ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆเช่นกัน แม้ว่าช่วงหนึ่งอาจชะลอตัวไปบ้างเพราะผลไม่สู้ดี แต่เนื่องจากยายังไม่รู้ว่าจะรักษาหายขาดได้หรือไม่ และยังมีราคาแพงมาก ยากที่ประเทศจนๆ ซึ่งมีคนที่ติดเอดส์มากๆ จะสามารถนำไปใช้ได้ ประกอบกับการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีคลินตันของสหรัฐอเมริกาว่าจะต้องคิดค้นวัคซีนเอดส์ให้ได้ภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า (นับตั้งแต่ ๒๕๔๐ ที่ประกาศ) จึงทำให้เกิดความสนใจในการพัฒนาวัคซีนเอดส์ขึ้นมาใหม่อีกรอบ โดยมีการคิดค้นวิธีการทำวัคซีนใหม่ๆ เช่น วัคซีนดีเอ็นเอ (DNA vaccine) หรือมีสายพันธุ์ไวรัสเอดส์ที่เป็นปัญหาในประเทศกำลังพัฒนาผสมอยู่ในวัคซีนเอดส์ที่ทดลองด้วย เป็นต้น การศึกษาส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นที่ทดสอบความปลอดภัย และดูการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ในประเทศไทยเองก็มีการทดสอบในลักษณะนี้อยู่หลายราย เป็นที่หวังว่าภายใน ๒-๓ ปีข้างหน้า จะมีวัคซีนที่พร้อมจะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพ คือ ทดสอบในประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อดูว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ ถ้าโชคดีพบว่าป้องกันได้จริง ทั่วโลกก็คงจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนนั้นในอีก ๓-๔ ปี หลังเริ่มขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพ ถ้าทดสอบแล้วไม่ได้ผลก็ต้องนอนรอต่อไปอีก