• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร

ศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร


ถาม : พัชรา/กาญจนบุรี

ปัจจุบันดิฉันอายุ 30 ปี ต้องการผ่าตัดกระดูก ขากรรไกร อยากทราบว่าศัลยแพทย์จะทำอะไรบ้าง

ตอบ : ทพ.สรภูมิ คลอศิริโรจน์

การทำศัลยกรรมกระดูกขากรรไกรเพื่อแก้ไขเรื่องความสวยงามนั้น จำเป็นต้องใช้การรักษาร่วมระหว่างทันตกรรมจัดฟัน และศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร เนื่อง จากผู้ที่ความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรบน หรือล่างที่ยื่นหรือยุบมากกว่าปกติ จะทำให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติด้วยเสมอ
ดังนั้น การรักษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดฟันร่วมด้วยเสมอทั้งก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ
1. การรักษาทางทันตกรรมทั่วไปก่อนการจัดฟัน ได้แก่ การรักษาทางทันตกรรมต่างๆ เพื่อให้พร้อมต่อการรักษาในขั้นตอนต่อไป เช่น การทำความทำความสะอาดฟันโดยการขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟันกรามที่คุดอยู่ การถ่ายภาพรังสีเพื่อวางแผนการรักษา
2. การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันก่อนการผ่าตัด การรักษาในช่วงนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความสวยงามของใบหน้าแต่อย่างใด แต่เป็นการปรับตำแหน่ง ของฟันในกระดูกขากรรไกรเพื่อให้ตำแหน่งของฟันซี่ต่างๆ อยู่ในตำแหน่งที่ปกติ การจัดฟันในขั้นตอนนี้โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1 ปี
3. การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร เป็นขั้นตอนการผ่าตัดภายหลังจากปรับตำแหน่งของฟันให้อยู่ในระดับปกติแล้ว อาจเป็นการผ่าตัดเฉพาะขากรรไกรล่าง หรือทั้งบนและล่าง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของความผิดปกติ
4. การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันหลังการผ่าตัด เป็นการปรับตำแหน่งของฟันอีกครั้งเพื่อให้ฟันเข้าที่ และปรับการสบฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน หลัง การถอดเครื่องมือจัดฟันออกแล้ว จำเป็น ต้องใส่เครื่องมือคงสภาพชนิดถอดได้ต่ออีกประมาณ 6 เดือน เพื่อให้การสบฟันถูกต้องและสมดุล
5. การรักษาทางทันตกรรมทั่วไปภายหลังการจัดฟัน เป็นการรักษาเล็กๆ น้อยๆ ภายหลังจากจัดฟันเสร็จแล้ว เช่น การอุดฟัน ใส่ฟัน รักษาโรคเหงือก รวมถึงการตรวจสุขภาพฟัน เคลือบฟลูออไรด์ประจำปี เป็นต้น

ขั้นตอนการรักษาอาจจะยุ่งยาก แต่วัตถุประสงค์ของการรักษาคือ การแก้ไขความผิดปกติของการสบฟันอันเนื่องมาจากความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ดังนั้นไม่เพียงเพื่อความสวยงามแต่เพื่อให้เกิดการสบฟันที่ดี และสุขภาพช่องปากที่ดีด้วยจึงจำเป็นต้องมีการรักษาที่ต้องใช้เวลานาน และขั้นตอนที่มาก ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมืออย่างดีตลอดการรักษาตั้งแต่ต้นจนจบ (ไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี) รวมทั้งแพทย์เฉพาะทาง ทั้งทางทันตกรรมจัดฟัน และศัลยแพทย์กระดูกขากรรไกร