1. บุคคลที่เป็นโรคอะไรบ้าง ที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้
2. หมอที่มาตรวจสุขภาพเพื่อรับบริจาคโลหิต ตรวจร่างกายแล้วแจ้งว่า โลหิตไม่เข้มข้นพอบริจาคไม่ได้ สั่งให้บำรุงร่างกายโดยกินตับมากๆ อยากทราบว่าเป็นโรคอะไร
3. โรคมะเร็งในเม็ดเลือด มีอาการแสดงออกอย่างไร หากไม่มีการถ่ายเลือด จะมีชีวิตอยู่ไปได้อีกกี่ปี และมีวิธีรักษาอย่างไร ขอความกรุณาตอบให้ละเอียดด้วยครับ
จ.ส.อ. อำนวย
ตอบ
1. บุคคลต้องห้ามในการบริจาคเลือดมีหลายอย่าง แต่สรุปอยู่ในหลัก 2 อย่างเท่านั้น คือ ผู้ที่บริจาคเลือดแล้วจะนำโรคภัยไปให้ผู้รับ และบุคคลที่เมื่อเสียเลือดไปเพียง 1 หน่วย (350-400 ซีซี) จะเกิดอันตรายแก่ตนเอง ประเภทแรกได้แก่ผู้ที่มีโรคแฝงอยู่ และติดต่อได้ทางการให้เลือด ได้แก่คนที่เคยเป็นตับอักเสบ (ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ฯลฯ) โรคมาลาเรียเพราะบางชนิดอยู่ในคนที่เคยเป็นโดยไม่มีอาการรุนแรงได้เป็นปีๆ เพราะมีร่างกายดี ความต้านทานยังสูงอยู่ กามโรคที่มีเลือดบวกซิฟิลิส ฯลฯ ประเภทหลังได้แก่ คนที่มีสุขภาพไม่ดีมาก่อนมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯก่อนบริจาคเลือด จึงต้องซักถามประวัติและตรวจร่างกายผู้บริจาคทุกครั้ง
2.โลหิตจาง แสดงว่าขณะนั้นสุขภาพไม่สมบูรณ์พอ อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงเป็นโรคภัยได้ แต่ที่ พบมากมักเป็นเพราะร่างกายขาดการพักผ่อนหรือขาดธาตุเหล็ก เพราะรับประทานอาหารไม่ถูกส่วนเหล็กเป็นตัวทำให้เม็ด เลือดมีสีแดง และเป็นตัวนำออกซิเจนไปให้เซลล์ทั่วร่างกาย ถ้าเลือดจาง คนนั้นมีตัวนำออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว ถ้าบริจาคออกไป อีกเจ้าตัวก็ยิ่งแย่ลงจึงเข้าข่ายบุคคลต้องห้ามประเภทหลังข้อ 1 เหล็กมีมากในเนื้อสัตว์ และในตับ คนอดนอนก็ทำให้เลือดจางได้ชั่วคราว ถ้าหลับนอนแต่หัวค่ำ(ประมาณคืนละ 8 ชั่วโมง)ตื่นขึ้นร่างกายสดชื่นเลือดจะกลับข้นได้
3.มะเร็งในเม็ดเลือดมักมีอาการซีด บางรายมักมีพรายย้ำหรือจ้ำเลือด เกิดขึ้นทั่วตัวหรือมีเลือดออกมากตามที่ต่างๆ เช่น ที่ไรฟัน (แต่ไม่ใช่เพราะขาดวิตามินซี) พวกนี้มักมีไข้เพราะมีการติดเชื้อโรคได้ง่าย อ่อนเพลียมาก การตรวจเลือดจะช่วยบอกได้การให้เลือดเป็นการชดเชยเม็ดเลือดจากคนดีไปเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเพื่อไปเพิ่มตัวนำออกซิเจนไปสู่เซลล์ทั่วร่างกาย เพราะพวกนี้เม็ดเลือดจะผิดปกติไป และเลือดออกมาก การรักษาประกอบด้วย การให้ยาฆ่าเม็ดเลือดที่ผิดปกติ และการประคับประคองอาการทั่วไป เช่น ซีดมากก็ต้องให้เลือด เมื่อมีการติดเชื้อก็ต้องแยกคนไข้ไว้ในที่สะอาดไม่ปะปนกับคนที่เป็นโรคอื่นๆ หากไม่มีการถ่ายเลือดให้ผู้ป่วยอาการจะเลวลงอย่างรวดเร็ว อาจถึงแก่ชีวิตเพราะขาดเลือดดี แต่บางอย่างก็มีระยะที่โรคดีขึ้นไม่ต้องให้เลือด สลับด้วยระยะที่โรคกำเริบจนต้องให้เลือด
เวชปฏิบัติ
- อ่าน 5,226 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้