สายตาสั้นเกิดจากอะไร
Q อยากเรียนถามว่าสายตาสั้นเกิดจากอะไร การใช้สายตามากๆทำให้สายตาสั้นหรือไม่ และการใส่แว่นจะป้องกันไม่ให้สายตาสั้นมากขึ้นได้จริงหรือไม่.
นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์
A ปัจจัยที่มีผลกำหนดให้มนุษย์เรามีสายตาปกติ สายตาสั้น ยาว หรือเอียง เกิดจากความสมดุลระหว่างความโค้งของกระจกตาดำ เลนส์ตา และความยาวของลูกตา. ในคนที่สายตาปกติจะมองเห็นภาพได้ชัดเนื่องจากแสงจากภาพหรือวัตถุที่เข้าตาผ่านกระจกตาดำซึ่งจะหักเหแสงเข้าหากันระดับหนึ่ง จากนั้นจะผ่านเลนส์แก้วตาซึ่งก็จะหักเหแสงเข้าหากันมากขึ้นอีก และลำแสงจะไปรวมเป็นจุดเดียวที่กลางจอประสาทตาพอดี จึงทำให้เห็นภาพชัด. แต่ในคนสายตาสั้นลำแสงจะไปรวมเป็นจุดเดียวก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้ลำแสงที่ไปถึงจอประสาทตาเป็นลำแสงที่บานออก ไม่เป็นจุดเดียวจึงทำให้เห็นภาพ ไม่ชัด จำเป็นต้องใช้แว่นเลนส์เว้าเพื่อช่วยกระจายแสงออก เพื่อเลื่อนให้แสงไปรวมกันไกลขึ้นให้ไปตกที่กลางจอประสาทตาพอดีทำให้เห็นภาพชัด. สาเหตุของสายตาสั้นอาจจากกระจกตาของคนนั้นมีความโค้งมากกว่าปกติทำให้มีกำลังหักเหแสงมากเกินไป ลำแสงจึงรวมกันก่อนถึงจอประสาทตา แต่ในบางคนอาจจะจากมีลูกตายาวผิดปกติจึงทำให้ลำแสงรวมกันก่อนถึงจอประสาทตา.
ดังนั้น สายตาสั้น ยาว หรือเอียง จึงเป็นลักษณะตามธรรมชาติของแต่ละคน อาจเกิดเป็นเองหรือจากพันธุกรรมไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สายตา เช่น การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การดูโทรทัศน์ใกล้ๆ หรือการนอนอ่านหนังสือ. แต่เด็กที่มีปัญหาชอบดูโทรทัศน์ใกล้ๆ หยีตามอง กระพริบตาบ่อยหรือชอบเอียงหน้ามอง อาจจะเพราะเด็กมองเห็นไม่ชัดจากการมีปัญหาสายตาผิดปกติ แต่อธิบายไม่ถูก จึงควรพา ไปปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อให้การรักษาก่อนที่จะทำให้เกิดสายตาเสียอย่างถาวร.
มีผู้ที่สงสัยว่าการอ่านหนังสือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้ตาเสียหรือไม่ ก็ไม่เช่นกัน เพียงแต่จะทำให้มองไม่ชัด ต้องเพ่งตามากขึ้น ทำให้ปวดเมื่อยล้าตาได้ง่าย.
การใส่แว่นเป็นการช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่ได้ทำให้สายตาสั้นมากขึ้นและก็ไม่ได้เป็นการป้องกันไม่ให้สายตาสั้นมากขึ้น สายตาจะสั้นมากขึ้นเองตามธรรมชาติ.
การใส่แว่นไม่ได้ทำให้สายตาสั้นขึ้น สายตาจะสั้นมากขึ้นเองตามธรรมชาติของคนสายตาสั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าใส่แว่นสายตาสั้นที่เกินกว่าค่าสายตาที่แท้จริงเป็นเวลานาน ก็จะทำให้มีสายตาสั้นมากขึ้นชั่วคราวจากแว่นตาที่ไม่ตรงนี้ได้ มักพบในเด็กที่ไม่ได้หยอดยาลดการเพ่งของตาก่อนการวัดแว่นตา. ดังนั้น ในเด็กควรวัดสายตาโดยจักษุแพทย์ซึ่งจะมีการหยอดยาเพื่อลดการเพ่งของสายตาก่อนวัดแว่นตา ไม่ว่าสายตาสั้น เอียง หรือยาว ก็เช่นเดียวกันเป็นธรรมชาติของบุคคลนั้น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ไม่เกี่ยวกับแว่นตา โดยปกติมักจะต้องเปลี่ยนเลนส์แว่นตาหรือคอนแท็กเลนส์อย่างน้อย 1-2 ปีต่อครั้ง จนเมื่ออายุประมาณ 18 ปีขึ้นไปสายตาจะค่อนข้างคงที่ ไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์บ่อยๆอีก จนกว่าอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มมีปัญหาเวลามองใกล้ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนเลนส์แว่นตาอีก.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ติ่งเนื้อที่ก้น
Q เป็นติ่งเนื้อที่ก้นมาประมาณ 3-4 เดือน ไม่เจ็บ แต่โตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งมีเลือดออกแดงเวลาถ่ายอุจจาระด้วย ไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วแพทย์บอกว่าเป็นหูด ต้องผ่าตัด ไม่ทราบว่าจะรักษาด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่.
กิตติศักดิ์ วงศ์อมร
A จากประวัติที่เล่ามา เรื่องติ่งเนื้อที่บริเวณรอบทวารหนักและโตขึ้น และตรวจพบว่าเป็นหูดที่ทวารหนักแล้ว ขั้นตอนของการวินิจฉัยของแพทย์จะแบ่งว่าหูดนั้นมีขนาดใหญ่มากหรือไม่ มีการกระจายเข้าไปในช่องทวารหนัก หรืออยู่เฉพาะด้านนอก และอาจต้องตรวจเช็กสุขภาพหรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยด้วย.
ถ้าเป็นเฉพาะด้านนอก (perianal area) และไม่ใหญ่กว่าครึ่งซม. ถึงแม้จะมีหลายจุด อาจพิจารณารักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ใช้การจี้ด้วยสารเคมี หรือจี้ไฟฟ้า เช่น จี้ด้วย podophylline เป็นต้น.
ถ้าเป็นด้านในช่องทวารหนักร่วมด้วย (intra-anal canal extension) หรือหูดด้านนอกที่มีขนาดใหญ่ มักต้องรักษาด้วยการผ่าตัด อาจร่วมกับการจี้ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องทำในห้องผ่าตัด โดยศัลยแพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างขยายปากทวารหนักเพื่อตรวจและรักษาพยาธิ-สภาพที่เห็นด้านในทุกจุด รวมทั้งด้านนอกด้วย.
สิ่งสำคัญในการรักษาหูดที่ปากทวารหนักคือ ต้องมีการตรวจติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสจะกลับมาเป็นซ้ำได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก. อย่างไรก็ดี การรักษาเมื่อกลับเป็นซ้ำมักจะไม่ยุ่งยาก และมักสามารถทำได้ที่คลินิกผู้ป่วยนอก.
ปัจจุบันมีการใช้ครีมเพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาใหม่ ที่มีใช้คือ imiquimod cream ใช้ทาบริเวณที่เป็นสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ได้ผลค่อนข้างดี แต่ยังมีราคาแพง.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 43,766 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้