การรักษารากฟัน
Q อยากทราบว่าเมื่อไรที่ฟันผุแล้วต้องรักษารากฟัน และต้องรักษาอย่างไร นานขนาดไหน
ศุภชัย กิจศิริไพบูลย์
A ฟันผุทั่วไปที่เป็นไม่มาก จะผุอยู่ในชั้นของเคลือบฟัน หรือถ้าผุลึกไปจนถึงเนื้อฟัน อาจทำให้มีอาการเสียวฟัน แต่ผู้ป่วยจะไม่ปวด. ฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา และผุมากเกินชั้นของเนื้อฟัน จนเข้าไปในโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในโพรงประสาทฟัน และทำให้เกิดอาการปวดอย่างมากได้ เป็นข้อบ่งชี้ของการรักษารากฟัน เพื่อกำจัดการติดเชื้อและเก็บรักษาฟันซี่นั้นไว้.
ขั้นตอนการรักษารากฟัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและชนิดของซี่ฟันที่ผุ เช่น ฟันกรามอาจมี 3-4 รากฟัน แต่ฟันหน้าอาจมีเพียงรากฟันเดียว ทันตแพทย์จะกรอฟันเพื่อเปิดและขยายคลองรากฟัน และทำความสะอาดในโพรงประสาทฟัน และกำจัดเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบและหนองออก เมื่อเสร็จแล้วในแต่ละครั้งจะใส่ยาฆ่าเชื้อไว้ และต้องทำการอุดด้วยวัสดุชั่วคราว และนัดมาทำความสะอาดคลองรากฟันอีกประมาณ 2-3 ครั้ง. เมื่อคลองรากฟันสะอาดดีไม่มีหนองและผู้ป่วยไม่มีอาการปวดฟันแล้ว ก็จะทำการอุดคลองรากฟันด้วยวัสดุอุดคลองรากฟัน และหลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการบูรณะตัวฟันหลังจากรักษาคลองรากฟันเสร็จแล้ว ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการอุดฟัน ด้วยวัสดุอุดอะมัลกัมหรือวัสดุอุดสีเหมือนฟัน (composite). การทำเดือยฟันและการทำครอบฟัน ขึ้นอยู่กับความเสียหายของตัวฟัน หรือปริมาณของเนื้อฟันที่เหลืออยู่ เนื่องจากฟันที่เคยรักษารากฟันแล้ว เนื้อฟันจะบางลงและแตกหักได้ง่าย การทำครอบฟันจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวฟันที่เหลืออยู่.
บางครั้งรักษารากฟันแล้ว ผู้ป่วยมีอาการปวดฟันกลับมาใหม่ อาจเกิดจากการติดเชื้อซ้ำที่จุดเดิม หรืออาจเป็นจากการกำจัดเชื้อได้ไม่หมด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษารากฟันอีกครั้ง (retreatment) เพื่อจะเก็บรักษาตัวฟันไว้ให้ได้นานที่สุด. ข้อดีสำคัญของการรักษารากฟันคือ ถ้าเก็บรักษาฟันไว้ได้ ก็จะใช้งานได้เหมือนฟันปกติ ซึ่งดีกว่าการต้องถอนฟันและใส่ฟันปลอมทดแทน. ข้อเสียสำคัญคือ ต้องใช้ เวลา จึงต้องพบทันตแพทย์หลายครั้ง. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรป้องกันไม่ให้ฟันผุ และไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันเริ่มผุในระยะแรกๆ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น.
สุภานันท์ สุวรรณธรรมา ทพ.บ.
ทันตแพทย์
ความสามารถการมองเห็นในเด็กเล็ก
Q อยากทราบวิธีการตรวจดูว่าเด็กเล็กมองเห็นปกติหรือไม่
หมอใหม่
A ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในอายุ 1 ปีแรก บิดามารดาอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการมองเห็น ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบโดยการถามเด็กได้ ต้องใช้วิธีประเมินจากพฤติกรรมการมองของเด็ก ทั้งที่เป็นพฤติกรรมปกติที่เมื่อสังเกตพบจะแสดงว่าเด็กมองเห็น และพฤติกรรมผิดปกติที่เมื่อสังเกตเห็นจะแสดงว่าเด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น.
พฤติกรรมการมองเห็นปกติ ที่จะพบได้ในช่วงอายุต่างๆ มีดังนี้
- อายุช่วง 1 เดือนแรก มองตามไฟ, จ้องหน้ามารดา.
- อายุ 2-3 เดือน อ่านริมฝีปากมารดาได้, สนใจวัตถุสดใสและเคลื่อนไหว.
- อายุ 3-6 เดือน จ้องมือของตัวเอง, กวาดตาจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง, เอื้อมมือหยิบของได้.
- อายุ 7-10 เดือน สนใจในรูปภาพ, หยิบขึ้นมาได้โดยใช้สองนิ้วหยิบ.
- อายุ 11-12 เดือน สามารถจำผู้คนได้, จำภาพต่างๆ ได้, เล่นซ่อนหาได้.
สำหรับพฤติกรรมการมองที่เป็นลักษณะผิดปกติที่สังเกตได้ ได้แก่
- Eye contact เด็กอายุ 2-3 เดือน ควรจะ มองหน้ามารดาเมื่อกินนม หรือเมื่อมีการหยอกล้อ.
- ตาสั่น (horizontal nystagmus) แสดงถึงปัญหาตามัว และสาเหตุของตามัวเกิดก่อนอายุ 2 ปี.
- Roving or wandering eye movement (ตาลอยไร้จุดหมาย) แสดงถึงตามัวมาก.
- Oculodigital sign (syndrome) จะพบในเด็กที่มองเห็นแสงรำไรหรือไม่เห็นอะไร โดยเด็กจะชอบ กดตาซึ่งจะไปกระตุ้นจอประสาทตาให้เกิดลักษณะเหมือนเห็นแสง เพื่อกระตุ้นตา แต่ไม่ดีเพราะลูกตา จะยุบลงไปจาก orbital fat atrophy ต้องแนะนำเด็กว่าอย่ากดตา ดังนั้นต้องบอกมารดาเด็กให้มีของเล่น ที่มีเสียงดังไว้หลอกล่อลูก เพื่อดึงความสนใจของลูกเวลาที่เขาจะกดตา.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การผ่าตัดฝีคัณฑสูตร
Q อยากทราบว่าถ้าเป็นฝีคัณฑสูตร ผ่าตัดแล้วจะหายขาดหรือไม่.
สมาชิก
A ฝีคัณฑสูตร (fistula in ano) เป็นโรคซึ่งเกิดตามหลังการอักเสบของต่อมบริเวณปากทวารหนัก (anal glands) ซึ่งการอักเสบเฉียบพลันจะทำให้เกิดฝีที่ตำแหน่งต่างๆ รอบรูทวารหนัก แต่เมื่อฝีนั้นได้รับการระบายหนอง ไม่ว่าจะโดยการผ่าตัด หรือแตกออกมาเองภายนอก ก็จะเกิดเป็นฝีคัณฑสูตรขึ้น.
การรักษาฝีคัณฑสูตร มีวัตถุประสงค์สำคัญสองอย่าง คือ การเก็บรักษากล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไว้ให้ทำงานได้ดีที่สุด และการรักษาโรคนี้ให้หายขาด เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของฝีคัณฑสูตร มาจากต่อมบริเวณปากทวารหนัก ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในชั้นระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นในและชั้นนอก จึงพบ ฝีคัณฑสูตรตำแหน่งนี้ได้บ่อยที่สุด.
การผ่าตัดอาจทำได้โดยตัด tract ของ fistula ออกทั้งหมด หรือทำการผ่าตัดระบายการติดเชื้อ โดยผ่าตัดเปิด tract ตามยาวตลอดความยาวของ tract (fistulotomy) และกำจัด granulation tissue ภายใน tract ออกไป และให้แผลหายแบบ second intention คือเกิด granulation tissue และมี epithelization ขึ้นมาเอง. ดังนั้นหลักการผ่าตัดที่สำคัญคือ ต้องหารูเปิดภายในให้พบและถูกต้อง และรักษา tract ที่อยู่ข้างเคียง (side branch) ให้หมด. ในรายที่อาจต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูดจำนวนมาก หรือ tract อยู่ทางด้าน anterior โดยเฉพาะในผู้หญิง อาจต้องทำให้กล้ามเนื้อหูรูดส่วนที่จะต้องถูกตัดเกิด fibrosis เสียก่อนที่จะตัด โดยการผูกไหมดำที่เรียกว่า Seton ไว้ แล้วมาทำผ่าตัด second stage และตัดกล้ามเนื้อหูรูดที่เหลือภายหลัง.
โอกาสการหายขาดขึ้นกับชนิดและการหารูเปิดภายในและ side branch ให้พบ และรักษาให้หมด จึงจะมีโอกาสหายขาดได้ครับ.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,043 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้