Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
Glucosamine กับ hip osteoarthritis
Rozendaal RM. Effect of Glucosamine Sulfate on Hip Osteoarthritis
A Randomized Trial. Ann Intern Med 2008;148:268-277.
แม้ว่าผลการวิจัยที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า glucosamine ได้ผลดีในการรักษาข้อเสื่อม แต่ปัจจุบันมีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ สามารถหาซื้อได้ง่าย จำหน่ายแบบอาหารเสริม นักวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์กลุ่มหนึ่งจึงศึกษาเพื่อทดลองว่า การกินยานี้ได้ผลหรือไม่ ในการรักษาผู้ป่วยที่มีข้อสะโพกอักเสบ.
รูปแบบการศึกษาเป็น randomized controlled trial รวบรวมผู้ป่วยได้ 222 คน ที่วินิจฉัยว่าเป็นข้อสะโพกเสื่อมตามเกณฑ์ของ American College of Rheumatology แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งกินยา glucosamine sulfate 1500 มก./วัน อีกกลุ่มหนึ่งได้กลุ่มยาหลอก. ตัวชี้วัดที่ใช้คือ คะแนนความปวดและความสามารถในการใช้งานของข้อ โดยแบบทดสอบที่เรียก Western Ontario and McMaster University (WOMAC) ทำการประเมินทุก 3 เดือน และการถ่ายภาพรังสี ดูขนาดช่องว่างของข้อสะโพก เปรียบเทียบระหว่างเดือนแรกกับเดือนที่ 24 .
ผลการศึกษา ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีอายุเฉลี่ย (63.1 ปี) เพศ (หญิงร้อยละ 68.5) ความรุนแรงของโรคของทั้ง 2 กลุ่มคล้ายกัน ภายหลังการรักษาเป็นเวลา 24 เดือน พบว่า คะแนนความปวดวัดโดย WOMAC ของทั้ง 2 กลุ่มไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มได้ยา glucosamine มีคะแนนความปวดเฉลี่ยน้อยกว่ากลุ่มได้ยาหลอก -1.54 (95% CI -5.43, 2.36) คะแนนความสามารถในการทำงานของข้อสะโพกก็ไม่ต่างกันเช่นกัน นอกจากนี้ ผลการตรวจขนาดของช่องว่างของข้อ ก็ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน.
ข้อสรุป glucosamine sulfate ไม่ได้ดีกว่ายาหลอกในการรักษาข้อสะโพกเสื่อม.
ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ มีผู้ป่วย 20 คน (กลุ่ม glucosamine 13 คน และกลุ่มยาหลอก 7 คน) ขณะอยู่ระหว่างการศึกษาต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก.
กินน้ำอัดลมเสี่ยงต่อโรคเก๊าต์
Choi HK, et al. Soft drinks, fructose onsumption, and the risk of gout inmen : prospective cohort study. BMJ 2008;336:309-12.
การบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดและฟรักโทส กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ประเภทอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายที่มีการบริโภคมากที่สุด คือ กลุ่มเครื่องดื่มหวาน ผู้คนอาจสงสัยว่าไปเกี่ยว ข้องกับเก๊าต์ได้อย่างไร ทั้งที่เครื่องดื่มเหล่านี้น่าจะมี purine น้อย แต่การวิจัยพบว่าเครื่องดื่มที่มี ฟรักโทส ทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเก๊าต์ แต่ยังมีการวิจัยน้อยมากที่ศึกษาว่าการกินเครื่องดื่มเหล่านี้ทำให้เกิดเก๊าต์มากขึ้นหรือไม่.
งานวิจัยนี้ใช้รูปแบบ cohort study ติดตามคนจำนวน 46,393 คนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะผู้ชาย สัมภาษณ์ข้อมูลความถี่ของการกินน้ำอัดลม (เช่น โค๊ก เป๊ปซี่ น้ำอัดลมอื่นๆ) รวมทั้งน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียม น้ำผลไม้ (เช่น diet coke ฯลฯ) และผลไม้หวานที่มีฟรักโทสมาก เช่น แอปเปิ้ล ส้ม จากนั้นติดตามอุบัติการณ์การเกิดโรคเก๊าต์ในช่วง 12 ปี.
ผลการศึกษา ในช่วง 12 ปี พบว่ามีอุบัติการณ์โรคเก๊าต์ 755 ราย การดื่มน้ำอัดลมหวาน สัมพันธ์กับการเป็นเก๊าต์ ยิ่งดื่มมากยิ่งเสี่ยงมาก คนที่ดื่มสัปดาห์ละ 5-6 ส่วน (serving) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.29 เท่า (95%CI 1.00, 1.68) เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มสัปดาห์ละ 1 ส่วน การกินผลไม้หวานและน้ำผลไม้ซึ่งมีฟรักโทส ก็เพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน เมื่อแบ่งปริมาณที่กินจากน้อยไปมากเป็น 5 อันดับ พบว่าคนที่ยิ่งดื่มมากมีโอกาสเป็นเก๊าต์มากขึ้นเมื่อเทียบคนที่ดื่มน้อย (คนที่ดื่มมากมีโอกาสเป็นเก๊าต์จาก 1.3 เท่า ถึง 2 เท่า) ในขณะที่ผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมจำพวก diet ไม่พบว่าเสี่ยงเพิ่มขึ้น.
ฟรักโทสทำให้มีการสร้างกรดยูริคเพิ่มเนื่องจากฟรักโทส เพิ่มการแปลง ATP เป็น ADP ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นของกรดยูริคร่างกายได้.
การศึกษานี้อาจมีข้อจำกัดที่การกินอาหาร ได้จากการสัมภาษณ์ ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม การกินน้ำอัดลมหวาน และกินผลไม้หวานๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะคนที่กรดยูริคในเลือดสูง.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 4,718 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้