Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็น สัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
Chondroitin ลดการปวดข้อได้หรือไม่
Reichenbach S, et al. Meta-analysis : chondroitin for osteoarthritis of the knee or hip. Ann Intern Med April 17, 2007;146(8):580-90.
Chondroitin sulfate เป็นยากินที่มีลักษณะ เป็นเจลใช้ในผู้ป่วยที่ปวดข้อจากโรคข้อเสื่อม การวิจัยที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิผลจริงหรือไม่ งานวิจัยนี้จึงเป็นการทบทวนผลการวิจัยที่ผ่านมา.
การศึกษานี้ทบทวนงานวิจัย (systematic review) งานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากฐานข้อมูลต่างๆ เช่น Medline, EMBASE, CINAHL และอื่นๆ งานวิจัยประเภท randomized และ quasi-randomized controlled trials ที่ศึกษาการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าหรือข้อสะโพกอักเสบด้วย chondroitin. ตัวชี้วัดผลคือ การลดอาการปวดข้อ และตัวชี้วัดรองคือช่องว่างในข้อเพิ่มขึ้นหรือไม่.
ผลการรวบรวมจากงานวิจัย 20 ชิ้นจากผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,856 คน พบว่าผลการศึกษาของรายงาน ต่างๆมีความแตกต่างกันมาก จึงเลือกวิเคราะห์ผลสรุปจากการศึกษาที่มีคุณภาพสูง 3 รายงาน ซึ่งโดยรวมพบว่าการกินยา chondroitin ไม่ช่วยให้อาการปวดข้อดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และไม่พบว่ายานี้มีอาการข้างเคียงที่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม.
การใช้ยา chondroitin ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่มีประสิทธิผล. การที่ใช้ยานี้ร่วมกับ glucosamine ไม่ได้มีผลดีแตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้ยาอย่างมีนัยสำคัญ. โดยที่ยาเหล่านี้ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง แต่ก็มีราคาแพงมาก แพทย์อาจต้องให้ข้อมูลวิจัยนี้แก่ผู้ป่วยก่อนที่จะตัดสินจ่ายยานี้.
Beta blocker เพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวานหรือไม่
Bangalore S, et al. A meta-analysis of 94492 patients with hypertension treated with beta blockers to determine the risk of new-onset diabetes mellitus. Am J Cardiol 2007;100:1254-62.
งานวิจัยนี้เป็น meta-analysis ของการวิจัยชนิด randomized control trial 12 ชิ้นที่เปรียบเทียบการรักษาผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงด้วย beta blocker กับยาหลอก (5 ชิ้น) และยาลดความดันขนานอื่น (7 ชิ้น) จากนั้นติดตามการเกิดเบาหวาน. การวิจัยเหล่านี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 94,492 คน อายุเฉลี่ย 50-76 ปี เป็นชายร้อยละ 33-100.
ผลการศึกษา พบว่าอัตราเสี่ยงต่อเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 เท่า (95%CI 1.22, 1.39) เมื่อใช้ยา beta blocker ขนานเดียว. เมื่อใช้ beta blocker ร่วมกับยาขับปัสสาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.11 เท่า (95%CI 1.01, 1.22). นอกจากนี้ beta blocker ยังมีความเสี่ยงต่อ stroke เพิ่มขึ้นเป็น 1.15 เท่า (95%CI 1.01, 1.30) แต่ยานี้ไม่ทำให้มีการเสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเสียชีวิตโดยรวมมากกว่ายาลดความดันเลือดขนานอื่นที่กล่าวข้างต้น.
สรุป ผู้ป่วยความดันเลือดสูงที่รักษาด้วย beta blocker เป็นยาอันดับแรกมีความเสี่ยงต่อเบาหวาน และ stroke เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น คือ คนอ้วน (ดัชนีมวลกายสูง) และคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่เริ่มใช้ยา.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 14,098 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้