"There are only two sorts of doctors : those who practice with their brains, and those who practice with their tongues."
Sir William Osler (1849-1919)
Osler ปรมาจารย์การแพทย์ผู้คร่ำหวอดในเรื่องแพทยศาสตร์ศึกษาได้กล่าวไว้ว่า "แพทย์มีอยู่สองประเภทคือ แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโดยใช้ความคิดกับแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยด้วยการท่องจำ".
มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าขอแค่เพียงท่องจำเก่งก็สามารถเรียนแพทย์ได้แล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด. แพทย์เป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความสลับซับซ้อน อย่างเช่นการวินิจฉัยโรค อาการหนึ่งๆ พบได้ในหลายโรค ขณะที่โรคหนึ่งๆ ก็มีอาการได้หลายอย่าง แพทย์ต้องเป็นคนที่วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเก่งจึงจะเข้าถึงปัญหาของผู้ป่วยได้.
สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ อาจารย์เคยถามผู้เขียนว่า "โรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างไรบ้าง?" ผมรีบตอบไปว่า จะมีอาการต่างๆ คือ 1...2...3.... จากนั้นอาจารย์ก็ถามต่อว่า "ทำไมผู้ป่วยจึงมีอาการเช่นนั้น?" แต่คราวนี้ผมยืนนิ่งเพราะไม่รู้คำตอบ ท่านจึงสั่งสอนผมว่ากำลังใช้วิธีเรียนแบบผิดๆ คือท่องจำเป็นนกแก้ว นกขุนทอง เมื่อลองให้คิดด้วยตนเองจึงตอบไม่ได้ วันนั้นอาจารย์ทำให้ผมรู้ตัวและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนไปสู่การใช้สมองคิดมากขึ้น.
อย่างไรก็ตาม ความรู้ในส่วนที่ต้องใช้ความจำล้วนๆ ก็มีอยู่บ้าง เช่นค่าปกติต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นนักเรียนแพทย์ทุกคนจึงควรใช้ทั้งสองอย่างในการศึกษา อย่าเป็นแค่นกแก้วนกขุนทองอย่างผมในอดีตเลย.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 2,796 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้