"ถ้าคุณอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวันนี้ คุณต้องค้นหาอดีตของมัน"
Pearl Buck กล่าวไว้ว่า "ถ้าคุณอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวันนี้ คุณต้องค้นหาอดีตของมัน" ประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์นั้นมีเยอะ บางอย่างก็ไม่ตรงกัน ความพยายามรวบรวมจากหลายแหล่ง เพื่อหาข้อสรุปช่วยให้เราเข้าใกล้ "หนึ่งเดียว" นั้นมากขึ้น
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่พบมานานแล้ว การระบาดแต่ละครั้งมักจะเกิดพร้อมๆ กันในบริเวณกว้าง ตอนนั้นจึงเชื่อกันว่าเกิดจากผลกระทบ (influence) ของอุกกาบาตที่ตกมาสู่โลก โรคนี้จึงมีชื่อว่า Influenza (ความจริงแล้วที่เป็นพร้อมๆ กันนั้นเนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนี้สั้น) แต่มันก็ไม่ได้ความสนใจจนกระทั่งเกิดการระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 คือในปี ค.ศ. 1918-1919 อันที่จริงโรคไม่ได้เริ่มที่ประเทศสเปน แต่เนื่องจากประเทศอื่นๆ กำลังมีสงครามจึงปิดข่าวการระบาดของโรค สเปนไม่ได้เข้าร่วมสงครามเลยมีข่าวออกมา ทำให้ทั่วโลกเรียกการระบาดครั้งนี้ว่า Spanish flu ด้วยเหตุที่มันทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน (มากกว่าคนตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก) เป็นเหตุให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง.
ตอนแรกคิดว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus influenzae แต่ต่อมาค.ศ. 1939 Christopher Andrews และ Wilson Smith ก็พบว่าเชื้อที่ก่อโรคเป็นเชื้อไวรัสเรียกว่า Influenza virus และทดลอง
ให้เห็นว่าไวรัสนี้มี 3 ชนิดคือ type A, B และ C ติดต่อได้ทั้งในคนและสัตว์ จากการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าที่เปลือกหุ้มของมันมีสาร Hemaglutinin (H) และ Neuraminidase (N) ทำให้จำแนกเชื้อนี้ได้เป็นชนิดต่างๆ คือ H1-15 N1-9 โดยเชื้อที่ก่อโรคในคนคือ H1-3 N1-2.
Maurice Ralph Hilleman (1919-2005) นักจุลชีววิทยาชาวอเมริกันผู้ซึ่งเกิดในช่วง Spanish flu ค้นพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีนที่ผิวเล็กน้อยทุกปี (ปัจจุบันเรียกว่า genetic drift). นอกจากนี้ เขายังพบว่าในรอบหลายสิบปีเชื้อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนเป็นสาเหตุ ให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก (ปัจจุบันเรียกว่า genetic shift).
17 เมษายน ค.ศ. 1957 Hilleman อ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ New York Times เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเอเชียโดยที่ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อราว 250,000 คน เขาตระหนักดีว่ามันเป็นสัญญาณของการระบาดครั้งใหญ่แน่นอนจึงเดินทางไปยังฮ่องกงเก็บตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยและพบว่าเชื้อเกิด genetic shift จริงๆ จึงแจ้งให้ทั่วโลกทราบ. บริษัทยาต่างเร่งผลิตวัคซีนขึ้นมาป้องกันทำให้ลดอัตราการตาย ลงไปได้มาก การระบาดใหญ่ในครั้งนี้มีชื่อเรียกว่า Asian flu เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ type A, H2N2.
ต่อมามีการระบาดครั้งใหญ่อีกสองครั้งคือในปีค.ศ. 1968-1969 ที่ฮ่องกงเรียกว่า Hong Kong flu ซึ่งเกิดจากเชื้อ type A, H3N2 และในปีค.ศ. 1977 ที่รัสเซียเรียกว่า Russian flu ซึ่งเกิดจากเชื้อ type A, H1N1 ร่วมกับ H3N2.
ต่อมาในปีค.ศ. 1997 ที่ฮ่องกงมีไก่ตายเป็นจำนวนมาก Kennedy F. Shortridge นักจุลชีว-วิทยาชาวออสเตรเลียสืบสวนพบว่าเกิดจากเชื้อ H5N1 ซึ่งปกติจะก่อโรคในสัตว์ปีกเท่านั้นที่เรียกว่าไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีก (Avian Influenza) หรือเรียกสั้นๆ ว่าไข้หวัดนก (Bird flu). เดือนพฤษภาคมปีนั้นเองมีเด็กชายวัยสามขวบเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และผลทางห้องปฏิบัติการพบว่าเกิดจากเชื้อ H5N1 ซึ่งไม่เคยก่อโรคในคนมาก่อน. ผู้ป่วยรายนี้ถือเป็นรายแรก จึงก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วโลกเพราะกลัวว่าจะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ จากวันนั้นจนถึงเดือนธันวาคมมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 18 ราย เสียชีวิตไป 6 ราย. แพทย์หญิง Margaret F.C. Chan ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสาธารณสุขของฮ่องกงในขณะนั้นจึงตัดสินใจสั่งทำลายไก่จำนวน 1.6 ล้านตัว อันมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ก็ทำให้ควบคุมโรคได้จน ไม่แพร่กระจายไปประเทศอื่น.
Shortridge และ Chan ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาสาธารณสุขประจำปีค.ศ. 1998.
Hilleman ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุขประจำปีค.ศ. 2002.
ข่าวเงียบหายไปจนมีการรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอีกสองรายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 ที่ฮ่องกงและในเดือนธันวาคมก็มีการระบาดของ H5N1 ในไก่ที่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามและระบาดในประเทศญี่ปุ่น.
สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มมีไก่ตายเป็นจำนวน มากตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2003 แต่เบื้องต้นกรมปศุสัตว์แจ้งว่าเกิดจากเชื้ออหิวาห์ไก่ (ทั้งๆ ที่ไข้หวัดนกระบาดอยู่ในประเทศโดยรอบ) ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเชื่อแน่ว่าเกิดจากเชื้อไข้หวัดนกจึงเฝ้าระวังโรคในคนอย่างใกล้ชิด จนพบผู้ป่วยปอดบวมเป็นเด็กอายุ 7 ปีที่จังหวัดสุพรรณบุรีและเด็กอายุ 6 ปีที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งทั้งสองต่างมีประวัติอุ้มไก่ตายก่อนมีอาการ. ผลทางห้องปฏิบัติการเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2004 ยืนยันว่าเกิดจากเชื้อ H5N1 ทำให้รัฐบาลต้องออกมายอมรับว่า มีการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทยจริง.
สำหรับการใช้วัคซีนในสัตว์นั้น มีผลการศึกษาของ Chang Won Lee, Dennis A. Senne และ David L. Suarez ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Virology ฉบับสิงหาคม ค.ศ. 2004 เนื้อหาคร่าวๆ คือ มีการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 (ความรุนแรงน้อยกว่า H5N1) ที่ประเทศ Mexico ตั้งแต่ค.ศ. 1993 ไก่ตายเป็นจำนวนมาก จนค.ศ. 1995 รัฐบาลจึงประกาศให้ใช้วัคซีน H5N2 ในสัตว์ได้ คณะวิจัยจึงศึกษาว่าการใช้วัคซีนมีผลอะไรตามมาหรือไม่? โดยแยกเชื้อไวรัสตั้งแต่ค.ศ. 1993-2002. จากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าในพื้นที่ที่ใช้วัคซีนไวรัสมีการกลายพันธุ์เร็วขึ้น จึงเกรงกันว่าถ้าใช้วัคซีน H5N1 อาจจะทำให้ไวรัสกลายพันธุ์จนเป็นเชื้อที่รุนแรงกว่าเดิม. ดังนั้นเมื่อรัฐบาลไทยอนุญาตให้ใช้วัคซีนในสัตว์ปีกพันธ์หายากและในไก่ชน ประเทศผู้นำเข้าไก่จากไทยจึงมีปฏิกิริยาทันทีเพราะเขาไม่เชื่อว่าเราจะควบคุมการใช้วัคซีนในวงจำกัดได้.
นับตั้งแต่โรคนี้ระบาดเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีรายงานการพบเชื้ออยู่เป็นระยะๆ จนอาจกล่าวได้ว่ามันกลายเป็นโรคประจำถิ่นของภูมิภาคนี้ไปเสียแล้ว.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 2,776 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้