ผมหนีตายจากใต้ฝุ่น "ทุเรียน" ที่เริ่มกระหน่ำประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่เย็นของวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2549 มาได้อย่างหวุดหวิด. ผมไปฟิลิปปินส์เพื่อประชุมวิชาการของสมาคมระบบทางเดินอาหารของภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และในฐานะประธาน ฝ่ายต่างประเทศของสมาคมฯ ที่มีการประชุมทางด้านบริหารหลายครั้ง โดยการประชุมมีขึ้นที่เกาะ Cebu ตั้งแต่ 25-30 พฤศจิกายน 2549 ผมโชคดีกลับมาก่อนพายุใต้ฝุ่นถล่ม 1 วัน! (กลับ 30 พฤศจิกายน). Cebu อยู่ทางใต้ของกรุงมะนิลา 600 กิโลเมตร ที่ๆ พายุถล่มอยู่เหนือ Cebu 300 กิโลเมตร.
กลับมาถึง 4 วัน ก็ถูกพายุ "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" กระหน่ำซ้ำอีก! กรรมการแพทยสภาได้มีมติเห็นชอบ "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" ในการประชุมประจำเดือนพฤศจิกายน ในวันพฤหัสบดี ที่ 9 พฤศจิกายน 2549 แต่ไม่ได้ระบุขั้นตอนหรือวิธีการ "ปล่อย" ข่าวออกไป. ผมไม่ได้ติดตามขั้นตอนของการปล่อยประกาศ ออกไปสู่สังคม ฯลฯ วันอาทิตย์ ที่ 3 ธันวาคม ผมเดินทางไปเปิดศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับให้ลูกศิษย์ที่โรงพยาบาลมหาชัย แล้วก็เดินทางไปร่วมประชุมและแสดงความยินดีต่อการก่อตั้งสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย ที่ชะอำ นอนค้าง 1 คืน ฟังวิชาการครึ่งวัน แสดงความยินดีกับนายกสมาคมฯ เสร็จแล้วก็กลับ. ขณะที่กำลังจะถึงบ้าน (วันจันทร์เย็น)-หลังจากแวะไปทำงานที่แพทยสภา ที่ยุวกาชาด-ก็มีโทรศัพท์จากผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่รู้จักดี ถามเกี่ยวกับประกาศ "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" ที่ประกาศออกไปแล้ว ผมบอกว่าผมยังไม่เห็น "ประกาศ" (ผมไม่ทราบว่าท่านนายกเซ็นไปแล้ว) ว่าประกาศออกไปว่าอย่างไร ฯลฯ เขาก็บอกว่าท่านนายกสมศักดิ์เซ็นไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 และสื่อมวลชนทราบหมดแล้ว มีเสียงกล่าวหาว่าแพทยสภาหาเสียง โดยท่านนายกเซ็นประกาศวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวาระของกรรมการชุดนี้ (ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด วาระของกรรมการชุดนี้ยังไม่หมด จะหมดในวันที่ 31 มกราคม 2550 และหลายคนหาว่าแพทยสภาประกาศให้หมอปฏิเสธการดูแลผู้ป่วยได้. ผมพยายามไม่ให้สัมภาษณ์เพราะผมไม่เห็น "ประกาศ" แต่ทราบว่ากรรมการแพทยสภามีมติ เห็นชอบแล้ว แต่เมื่อถูกเซ้าซี้มากๆ เลยตอบไปว่า หนึ่ง ไม่ได้เป็นการหาเสียงเพราะกรรมการแพทยสภาคิดและทำเรื่องนี้มา 4 ปีแล้ว รวมแล้วเป็นระยะเวลาถึงสองวาระของกรรมการแพทยสภา ใครจะเป็นคนหาเสียง ในเมื่อกรรมการแพทยสภา มี 38 คน ครึ่งหนึ่งเป็นโดยตำแหน่ง เช่น เจ้ากรมแพทย์ต่างๆ แพทย์ ใหญ่ตำรวจ คณบดีทุกคณะ ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ และอธิบดีกรมอนามัย โดยมีกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งเพียง 19 คนเท่านั้น และ 19 คนนี้จริงๆ แล้วมาจากแพทย์หลายกลุ่มมาก จึงไม่รู้ว่าหาเสียงไปทำอะไร หาเพื่อใครๆ เป็นคนหาเสียง. สอง แพทยสภาไม่ได้บอกว่าให้แพทย์ปฏิเสธไม่ดูผู้ป่วยได้ แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง แพทย์อาจปฏิเสธการรักษาถ้าไม่ฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิตโดยต้องให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยตามความเหมาะสม ผมก็ย้ำกับน้องผู้สื่อข่าวว่าถ้าจะลงข่าวขอให้ลงอย่างยุติธรรมที่สุด.
ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ของน้องที่สัมภาษณ์ผมไม่ได้ลงข่าว แต่หนังสือพิมพ์ที่ผมอ่านสองฉบับ ลงข่าวที่ผมถูกสัมภาษณ์! สงสัยว่าผู้ที่สัมภาษณ์ผมได้ส่งต่อให้ฉบับอื่นๆ ปรากฏว่าวันที่ 5 และวันที่ 6 ผมถูกสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ออกวิทยุรวมไป 5 ครั้งได้กระมัง.
วันพุธ ที่ 6 ธันวาคมเป็นวันดีเดย์ (D-Day) ! ผมประชุมไตรภาคี กับท่านรองปลัดมานิตย์ (ประจำเดือน คือมี 3 ฝ่าย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาและแพทยสมาคม) ประชุมเสร็จก็เดินจากชั้น 5 ลงมาชั้นที่ 1 เพราะจะไปประชุมกรรมการประสานการแพทย์ของประกันสังคมต่อ (ปกติจะเดินไปขึ้นลิฟท์ที่ชั้น 5 ไปชั้น 7 เพื่อเดินไปสำนักงานของแพทยสภา) พอลงมาถึงชั้น 1 ของสำนักงานปลัดกระทรวง พบผู้สื่อข่าวเป็นร้อย! ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ฯลฯ กลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ก็มามอบพวง หรีดให้ผม! (ก็ดีเหมือนกัน ไม่ทันตายได้เห็นพวงหรีด! อาจเป็นการแก้เคล็ด ทำให้เป็นการต่ออายุก็ได้!). ผมถามผู้มอบว่าไม่สบายใจตรงไหน ท่านก็ยิ้มไม่ตอบ แต่ยื่นเอกสารให้. หลังจากนั้นก็ถูกมะรุมมะตุ้มจากผู้สื่อข่าวอย่างที่เป็นข่าว! คืนนั้นผมออกโทรทัศน์ (แต่ผมไม่ได้เห็นเพราะกลับบ้านจากที่ทำงานดึก) และเป็นข่าวในวิทยุแห่งประเทศไทยช่วง 19.00 น. และมีเสียงผมออกวิทยุด้วย!
คนที่ไม่เคยเห็น คนที่ไม่เคยรู้จักผม เลยได้เห็น ได้รู้จักผม ผมก็เฉยๆ ไม่ได้หนักใจ กลุ้มใจ หรือตื่นเต้นอะไร เพราะชักชินเสียแล้ว และต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ ในกรณีอย่างนี้ก็ต้องยิ้มลูกเดียว (ถ้ายิ้มออก) และใจเย็นๆ เข้าไว้. ถ้าต้องพูดก็พูดให้น้อย พูดจากใจ ตรงไปตรงมา ด้วยเหตุผล, evidence based ห้ามโมโห โกรธเด็ดขาด! ช่วงนั้นผมถูกรุมอยู่คนเดียว เพราะเดินลงมาคนเดียว! ตอนจบเห็นท่านอุปนายก ที่ 1 อาจารย์อำนาจ ยืนให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ.
ช่วงนั้นท่านนายกสมศักดิ์ไม่อยู่พอดี ก็คุยกันหลายๆ คนว่าในการประชุมกรรมการแพทยสภา ในวันพฤหัสบดี ที่ 14 ธันวาคม 2549 ซึ่งตอนนั้นท่านนายกจะกลับมาแล้ว จะต้องคุยกันและแถลงข่าวให้ประชาชน สังคม เข้าใจให้ดีขึ้น. ท่านนายกสมศักดิ์กลับจากต่างประเทศวันอาทิตย์ ที่ 10 ธันวาคม 2549 และท่านอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์บนเครื่องบินก็ตกใจ. วันจันทร์ ที่ 11 ธันวาคม ท่านนายกแพทยสภาและรองเลขาธิการ นายแพทย์สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล ได้ออกโทรทัศน์ในรายการ "ถึงลูกถึงคน" กับคุณสรยุทธ์ และวันอังคารที่ 12 เช้า ผมจึงทราบว่าท่านนัดแถลงข่าว 10.00 น. ที่แพทยสภา ซึ่งผมก็ได้ไปร่วมด้วย.
ผมจึงอยากให้ข้อมูลตามความเป็นจริงในส่วนที่ผมทราบ พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ แพทย์ และท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน จะได้เข้าใจความเป็นมาของ "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" อย่างน้อยที่สุดจากเท่าที่ผมรู้ ผมเห็น.
คงต้องย้อนไปเกือบ 4 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ที่ผมเข้ามาเป็นกรรมการแพทยสภาและได้รับความกรุณาจากเพื่อนๆ กรรมการแพทยสภา เลือกให้ผมเป็นเลขาธิการเลยในวาระแรก! ผมศึกษาข้อมูลพบว่าแพทยสภามีวัตถุประสงค์ ตามมาตรา 7 6 ข้อดังนี้ 1) ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม 2) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพในทางการแพทย์ 3) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก 4) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน องค์กร อื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข 5) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ 6) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย. จากการศึกษาข้อมูลของการฟ้องร้องที่ผ่านแพทยสภา ผมมีความเห็นว่าการฟ้องร้องนั้นป้องกันได้เป็นส่วนใหญ่ มีการฟ้องร้องใน พ.ศ. 2531-2545, 52 ราย, 55, 59, 27, 57, 64, 65, 33, 68, 105, 89, 173, 287, 257 และ 289 ครั้งตามลำดับ. กรรมการแพทยสภาจึงมีมติให้พวกเราออกไปเยี่ยมเพื่อนๆ แพทย์ให้ข้อมูล ถามปัญหา อุปสรรคในการทำงาน รวมทั้งได้ให้การแนะนำไปว่าควรทำตัวอย่างไร ไม่ทำอะไร จะได้ป้องกันการฟ้องร้อง ปรากฏว่าใน พ.ศ. 2546-2549 มีการฟ้องร้องลดลง คือ 251, 222, 294 ตามลำดับและ 267 ครั้งในปีนี้ (อย่าลืมว่ามีแพทย์ ประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี).
แพทยสภาไปเยี่ยมเพื่อนๆ แพทย์มาแล้ว 50- 60 จังหวัดใน 4 ปี โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 5 อำเภอของสงขลา แพทยสภาไปมาแล้วทุกโรงพยาบาลชุมชน และจังหวัด! แพทย์ทั้งหลาย ได้ถามว่าผู้ป่วยมีสิทธิ์แล้วผู้ป่วยมีหน้าที่หรือไม่ แล้วแพทย์เองมีสิทธิ์หรือไม่?! ผมเองได้ตอบไปตอนนั้นว่าคุณหมอก็น่าที่จะมีสิทธิ์ คือมีสิทธิ์ที่จะทำงานในสภาวะที่เอื้ออำนวย เช่น มีแพทย์ พยาบาลเพียงพอ มีเครื่องมือ งบประมาณเพียงพอ ไม่น่าที่จะต้องทำงานหนักไป ไม่ควรต้องอยู่เวรมากไป (แต่ในปัจจุบันนี้ที่มีการขาดแคลนแพทย์คงจะต้องอดทนไปก่อน เพื่อช่วยประชาชนให้มากที่สุด) มีค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ฯลฯ. แต่ผมได้เอาข้อมูลเหล่านี้มาแจ้งให้กรรมการแพทยสภาทุกท่านทราบ แพทยสภาจึงมีมติให้เราพิจารณาร่าง "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" ขึ้นมา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจแพทย์ดีขึ้นจะได้ร่วมมือได้ดียิ่งขึ้นจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเราไม่อยากเรียกว่าสิทธิของแพทย์ เดี๋ยวสังคมจะหาว่าเราไปชนกับประชาชน ผู้ป่วย ฯลฯ ที่ประชุมตั้งให้ผมเป็นประธานอนุกรรมการร่าง ประชุมร่างกันแล้วร่างกันอีก เอาเข้ากรรมการแพทยสภาหลายครั้ง ส่งไปให้ทุกคณบดี ราชวิทยาลัย สมาคมแพทย์ต่างๆ สสจ. ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ฯลฯ ช่วยดูให้ความคิดเห็นอย่างรอบคอบที่สุด รวมทั้งได้ผ่านที่ปรึกษาทางการแพทย์ที่มีบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์เป็นกรรมการด้วย.
ในที่สุดกรรมการแพทยสภา ทั้ง 38 คน จึงมีมติเห็นชอบกับประกาศ "ข้อเท็จจริงทางการแพทย์" ขึ้นมา ซึ่งมีดังนี้
ข้อ 1 "การแพทย์" ในที่นี้ หมายถึง การแพทย์แผนปัจจุบันซึ่ง คือ การแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์ แล้วทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประโยชน์จริง.
ข้อ 2 การแพทย์ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัย ป้องกัน และหรือบำบัดให้หายขาดได้ทุกโรค หรือทุกสภาวะ บางครั้งอาจทำได้เพียงบรรเทาอาการหรือประคับประคองเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น บางโรคยังมิอาจให้การวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก.
ข้อ 3 ในกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์อาจเกิดสภาวะอันไม่พึงประสงค์ได้ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย.
ข้อ 4 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมใช้ดุลยพินิจในการเลือกกระบวนการดำเนินการทางการแพทย์ รวมทั้งการปรึกษาหรือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วย.
ข้อ 5 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยต้องให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยตามความเหมาะสม.
ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรม ย่อมมีสิทธิและได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม.
ข้อ 7 ภาระงาน ข้อจำกัดของสถานพยาบาล ความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการทางการแพทย์.
ข้อ 8 การปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ทำการวินิจฉัยและรักษา ย่อมมีผลเสียต่อการวินิจฉัยและการรักษา.
ข้อ 9 การไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือบุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีผลเสียต่อการรักษาและการพยากรณ์โรค.
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงประกาศ เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ใช่ข้อบังคับ !
ผมขออนุญาตนำเอาประกาศสิทธิ์ของผู้ป่วย มาลงด้วยดังนี้ :-
คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพกับผู้ป่วยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดี และเป็นที่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา คณะกรรมการควบคุม การประกอบโรคศิลปะ จึงได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิของผู้ป่วยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 ไว้ดังต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้าน สุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ.
2. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย.
3. ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและเข้าใจชัดเจนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็น.
4. ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพ ด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่.
5. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน.
6. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้าน สุขภาพอื่น ที่มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ตนและมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้.
7. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเองจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย.
8. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ.
9. ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น.
10. บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้.
หลังจากที่มีข่าวว่าสังคมบ่นมากมายเกี่ยวกับการประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์ แพทยสภาจึงได้นัดแถลงข่าวให้สื่อมวลชน ประชาชน เข้าใจ ในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีข้อมูลดังต่อไปนี้
แถลงข่าวชี้แจง : ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ตามที่ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประกาศแพทยสภาที่ 46/2549 คณะกรรมการบริหารแพทยสภาขอแถลงข่าวชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในสังคม ดังต่อไปนี้
1. ประกาศนี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม แต่เป็นเพียงความจริงทางการแพทย์ที่ต้องการสื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ ไม่มีข้อใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิ ผู้ป่วย.
2. ข้อจำกัดทางแพทย์ตามข้อ 2, 3 และ 4 เป็นความจริงที่ได้ปฏิบัติอยู่แล้วในปัจจุบัน.
3. ในข้อ 5 เป็นที่ยอมรับในสังคมอยู่แล้วว่า มีการส่งต่อผู้ป่วยโดยแพทย์ไปยังแพทย์ท่านอื่นที่มีความชำนาญตามสาขา แพทยสภาประกาศข้อนี้มาทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิผู้ป่วย โดยไม่ต้องการให้แพทย์ปฏิเสธการรักษาโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วย และในการส่งต่อนั้นจะต้องให้คำแนะนำและส่งต่อตามความเหมาะสม.
4. ในข้อ 6 นั้น เป็นเรื่องที่แพทย์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว.
5. ในข้อ 7 เป็นเรื่องที่อธิบายให้ทราบว่าโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์มีศักยภาพในการทำงานไม่เท่ากัน และการที่แพทย์ทำงานโดยไม่ได้พักผ่อน หลับนอน อาจเกิดความผิดพลาดในการรักษา.
6. ส่วนข้อ 8 และ 9 นั้นเป็นความรับผิดชอบของผู้ป่วยที่ต้องปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง.
สำหรับผมเอง เท่าที่ผมอ่านแล้วอ่านอีก ไม่เห็นว่าจะละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วยตรงไหน อาจจะเป็นเพราะผมมองทุกคนในแง่ดี (รวมทั้งคนที่บ่น มอบพวงหรีดให้แพทยสภาด้วย) มีใจเป็นกลาง ชอบเดินสายกลางในชีวิต แต่สังคม (บางคน) ก็ยังหาว่าแพทยสภาปกป้องแพทย์ ละเมิดสิทธิของผู้ป่วย. แต่ผมขอเรียนว่าเจตจำนงของกรรมการแพทยสภาคือปกป้อง ช่วยเหลือผู้ป่วย พยายามแนะนำให้ผู้ป่วย ให้ความร่วมมือกับแพทย์ยิ่งขึ้น เช่นมาหาแพทย์เร็วๆ จะได้ผลดีกว่า แต่บางครั้งมาแล้วแพทย์อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ ถ้าเป็นโรคบางชนิดแพทย์อาจรักษาไม่ได้มากนัก ถ้าแพ้ยาหรือเป็นโรคอะไร ช่วยบอกหมอด้วย หมอเองก็ต้องถาม แต่แพทย์อาจมีผู้ป่วยมากจนลืมถามไป ถ้าผู้ป่วยช่วยบอกก็จะดี เพราะแพทยสภาเคยทำการวิจัยพบว่า ร้อยละ 38 ของผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แพทย์มีเวลาดูผู้ป่วยไม่ถึง 1 นาที อีกร้อยละ 38 ไม่ถึง 2 นาที อีกร้อยละ 10 ไม่ถึง 3 นาที! เพราะมีผู้ป่วยมาก รวมแล้ว ร้อยละ 86 ของผู้ป่วยแพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยแต่ละคนไม่ถึง 3 นาที! ฉะนั้นผู้ป่วยต้องช่วยแพทย์ ต้องให้ความร่วมมือ ถึงแม้แพทย์พยายามเต็มที่แล้ว อาจมีภาวะที่ไม่พึงประสงค์ได้ และข้อที่สำคัญเรื่องการขอให้ผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นดูก็เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง เช่น มาหาผมเรื่องกระดูก อย่างไม่ฉุกเฉินหรือเร่งด่วน ผมก็อาจแนะนำไปหาศัลยแพทย์ทางกระดูกก็ได้ โดยผมอาจช่วยติดต่อแพทย์ให้ ฯลฯ. ทั้งหมดนี้เป็นเพียง "ข้อเท็จจริง" ไม่ใช่กฎหมาย ข้อบังคับ ฯลฯ เป็นแนวทางให้ผู้ป่วย ประชาชนเข้าใจ จะได้ร่วมมือกับแพทย์ได้ ถ้าแพทย์ทำไม่ดี ก็ยังฟ้องร้องได้อยู่ดี สังคมกลัวว่า การตีความของคำว่า "ฉุกเฉิน" นั้นขึ้นอยู่ที่แพทย์ แต่ผมคิดว่าแพทย์เองไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำแบบนั้น สังคมควรมองแพทย์ในแง่ดีบ้าง. แพทย์ส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่ดี แน่นอนละแพทย์ที่ไม่ดีต้องมีบ้าง แพทยสภาพยายามที่จะลดแพทย์ที่ไม่ดีเหล่านี้ ด้วยการสนับสนุนให้มีการสอนเรื่องจริยธรรมในทุกโรงเรียนแพทย์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งการอบรม ประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประชาชน สังคม ต้องเข้าใจว่าแพทย์เองก็เป็นคน ที่มีเลือด มีเนื้อ เหนื่อยเป็น ง่วงเป็น หิวเป็น โกรธเป็น น้อยใจ เสียใจเป็น. แพทย์ต้องทำงานหนักมาก ที่มีเงินเดือนน้อย และยังเสี่ยงต่อการถูกฟ้องอีก ทำให้มีแพทย์จำนวนมากลงออกจากราชการ. อย่างไรก็ตามแพทยสภา คณาจารย์ทั้งหลาย ก็ขอให้แพทย์ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เขียนหน้าป้ายอย่างสรุปเป็น อ่านออก และต้องฝึกหัดพูดและมีการสื่อสารที่ดีกับผู้ป่วย ญาติและผู้ร่วมงาน รวมทั้งขอให้มีการศึกษาต่อเนื่องด้วย.
ปัญหาหลายๆ อย่าง แพทยสภาไม่ได้เป็นผู้สร้าง และไม่ใช่หน้าที่หรือมีอำนาจที่จะช่วยได้แต่เราอาจช่วยคิด ช่วยกระตุ้นให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำ ฯลฯ เช่น การกระจายแพทย์ให้ได้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องไปกระตุ้นรัฐบาลไป "ขายของให้เก่ง" ให้รัฐบาลมีวิธีการกระตุ้นให้แพทย์ไปอยู่ชนบท ซึ่งถ้าพูดตรงๆ ก็คือค่าตอบแทนต้องดีกว่านี้. แต่แพทย์ก็ต้องรู้จักพอ โรงเรียนลูกต้องดีและมีมากกว่านี้ ความปลอดภัยต้องมี (เช่นภาคใต้). แพทย์ที่เรียนมาด้วยกัน เช่นได้ board อายุรศาสตร์ คนหนึ่งทำงานหนัก ได้ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน แต่อีกคนหนึ่งจบวุฒิเท่ากัน ทำงานสบายๆ ได้ 150,000 บาทต่อเดือน แล้วใครจะไปรับราชการ? เสี่ยงต่อการฟ้องร้อง ซ้ำเดี๋ยวนี้ต้องสอนนิสิตแพทย์อีกด้วย ทุกๆ คนก็ต้องช่วยชาติ แต่ใครจะช่วยคนที่ช่วยชาติเล่า?
รัฐบาลต้องพยายามปรับเงินเดือนข้าราชการทุกอาชีพบ่อยๆ จนทุกท่านอยู่ได้จากเงินเดือนเท่านั้น ไม่ต้องไปทำงานที่สองเพื่อความอยู่รอด กระทรวงสาธารณสุขอาจต้องพิจารณาปรับโครงสร้างของโรงพยาบาลต่างๆ ใหม่ โรงพยาบาลชุมชนที่มี 10-30 เตียง ที่อยู่ไม่ไกลโรงพยาบาลทั่วไป อาจทำเป็น "Clinic GP" เท่านั้น ที่เมืองนอกถ้ามีหมอผ่าตัด ต้องมีหมอดมยา!?
แพทยสภาเองก็ได้ร่วมคุยกับหลายองค์กร รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข, สปสช. เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วย ทั้งๆ ที่แพทย์ไม่ผิด ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้กำลังดำเนินการอยู่.
มีหลายเรื่องที่แพทยสภาพยายามคิด พยายามทำ แต่เราเพียงแต่คิดและกระตุ้นรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขหรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐบาล ให้พิจารณาเรื่องต่างๆและดำเนินการตามความเหมาะสม เพราะทั้งหมดเป็นหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น.
เรามีความตั้งใจ ปรารถนาดี ถ้าจะพลาดไปก็ ตรงที่เราปล่อย "ประกาศ" ออกไปโดยไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี.
พินิจ กุลละวณิชย์ พ.บ.
ศาสตราภิชาน, เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 2,877 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้