การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระ 1 กุมภาพันธ์ 2550 จนถึง 31 มกราคม 2552 ก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. คณะกรรมการแพทยสภาจะประกอบไปด้วยกรรมการโดยตำแหน่งครึ่งหนึ่ง และกรรมการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง ในวาระที่ผ่านมามีกรรมการโดยตำแหน่ง 19 คน แต่วาระนี้มี 23 คน (มีคณบดีเพิ่มขึ้น 4 ตำแหน่ง) จึงทำให้วาระนี้มีกรรมการมาจากการเลือกตั้ง 23 คน ทำให้กรรมการแพทยสภาทั้งหมดมี 46 คน กรรมการโดยตำแหน่งคือคณบดีทั้งหมด เจ้ากรมแพทย์ทหารทุกเหล่าทัพ แพทย์ใหญ่ตำรวจ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย.
จากการเลือกตั้งพบว่ามีผู้สมัคร 46 คน ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 23 คน แบ่งผู้สมัครออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มสถาบันฝึกอบรมฯ หรือกลุ่มราชวิทยาลัย มีผู้สมัครทั้งสิ้น 10 ท่าน ได้รับการเลือกตั้ง 3 ท่าน สอง กลุ่มแพทย์ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ (พ.ป.) ซึ่งมีผู้สมัคร 9 ท่าน ได้รับการเลือกตั้ง 4 ท่าน สาม กลุ่มชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ ของท่านนายกสมศักดิ์ โล่ห์เลขา สมัคร 14 ได้ทั้งหมด และสี่ กลุ่มอิสสระ สมัคร 13 คน ได้ 2 คน ซึ่งในที่นี้ คือ ตัวผมเอง และท่านอาจารย์อนงค์ เพียรกิจกรรม ท่านอาจารย์อาวุโส ที่มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมือง.
และในการเลือกตั้งผู้บริหารแพทยสภาในวันประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้ในวันพฤหัสที่ 1 กุมภาพันธ์ ท่านนายกสมศักดิ์ โล่ห์เลขา ท่านนายกเดิมได้รับเลือกเป็นนายกแพทยสภาอีกหนึ่งวาระ คือ 2 ปี ท่านคณบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายแพทย์กิตติ ลิ่มอภิชาติ ได้รับเลือกเป็น อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร ได้รับเลือกเป็นอุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 ซึ่งผมขอชมว่ากรรมการแพทยสภาเลือกได้เหมาะสมมาก. ท่านคณบดีกิตติเป็นคณบดีที่กล้าแสดงความคิดเห็น อย่างตรงไปตรงมา และการที่ท่านมาจากกรรมการโดยตำแหน่งก็จะดีมาก. ส่วนอาจารย์ประสบศรีนั้นเหมาะสมมากเพราะมีความสามารถ ทักษะในการสื่อสารอยู่แล้ว มีความนิ่มนวล เป็นสุภาพสตรี มีประสบการณ์ เป็นถึงประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย อดีตอาจารย์ที่จุฬา ฯลฯ จึงน่าที่จะช่วยทำให้กรรมการบริหารของแพทยสภาดำเนินการไปด้วยดี. สำหรับตำแหน่งเลขาธิการ รองเลขาธิการ เหรัญญิก นั้นเป็นสิทธิ์ของท่านนายกที่จะเลือก ซึ่งสำหรับผมเอง ผมได้เรียนท่านนายกไว้ นานแล้ว ก่อนการเลือกตั้งว่า ผมทำงานกับท่านนายก สนุก เราเสริมซึ่งกันและกัน ท่านเก่งวิชาการ กฎเกณฑ์ ผมถนัดเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ จึงไปกันด้วยดี. แต่ผมเป็นเลขาธิการมา 4 ปี แล้ว ซึ่งผมถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงสุด ควรจะให้ท่านอื่นมาทำแทนบ้าง จะได้มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง ท่านนายก ได้เลือกอาจารย์อำนาจ กุสลานันท์ อดีตอาจารย์ นิติเวช จากศิริราชมาเป็นเลขาธิการแพทยสภา ซึ่งอาจารย์อำนาจมีความชำนาญทางด้านกฎหมาย จบแพทย์ กฎหมาย และเนติบัณฑิตด้วย. ท่านนายกอยากให้อาจารย์อำนาจมาดูแลเรื่องจริยธรรม เรื่องกฎหมายอย่างใกล้ชิด. อาจารย์อำนาจเองก็ได้รับเลือกโดยมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ส่วนรองเลขาธิการนั้นเป็นกรรมการใหม่ในชุดนี้ แต่เคยเป็นกรรมการแพทยสภามาแล้ว 1 วาระ คือ พ.ศ. 2546-2548 คือ อาจารย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ซึ่งมาจากโรงพยาบาลสมุทรปราการ และเป็นประธานองค์กรแพทย์ ที่นั่น รวมทั้งเป็นหัวหน้ากลุ่มแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ ที่ยกทีมเข้ามาทั้ง 14 คน ส่วนเหรัญญิกก็ยังเป็นอาจารย์ท่านเดิม คือ อาจารย์วิรัติ พาณิชย์พงษ์ หัวหน้าภาควิชานิติเวช จุฬาฯ.
ผมอยากให้ทั้งแพทย์และประชาชน ทุกองค์กร โปรดให้การสนับสนุนกรรมการแพทยสภาชุดนี้ เท่าที่ผมทำงานกับท่านนายกมา 4 ปี ผมทราบดีว่าท่านเป็นห่วงประชาชนมาก ท่านไม่เคยเข้าข้าง พูดถึง หาประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชนเลย. ท่านเป็นผู้ที่รอบรู้ทางวิชาการจริงๆ รู้กฎเกณฑ์ทางด้านแพทยสภามากมาย เนื่องจากเป็นกรรมการแพทยสภามาเป็นระยะเวลา 20 กว่าปีแล้ว.
ผมอยากให้ประชาชนชาวไทยทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างมองกันเป็นมิตร ไม่ใช่มองแบบศัตรู มองแบบไม่ไว้ใจ ไม่ใช่ว่าคนที่เราไม่ชอบพูดอะไรออกมาก็ขอค้านไว้ก่อน อยากให้ทุกๆ คนอดทน ใจเย็น ทำเพื่อส่วนรวมจริง มีอะไรไม่เข้าใจ ไม่พอใจก็ขอคุย ปรึกษาหารือกันก่อน. ผมเองก็พยายาม ทำอย่างนั้นกับทุกๆ คน ทุกๆ ฝ่าย เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นที่แพทยสภา ราชวิทยาลัย (ช่วงที่ผม เป็นประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์) ที่สำนักงาน ยุวกาชาด หรือที่อื่นๆ ประเทศไทยมีปัญหามากพอแล้ว อย่ามาทะเลาะกันเลยครับ มีอะไรพูดออกมา แต่ต้องพูดให้เก่ง ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยเหตุและผล.
ผม และคุณหมอสมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล (อดีตรองเลขาธิการ) คุณหมอเอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ได้รับเกียรติเลือกจากกรรมการแพทยสภา 46 ท่าน ให้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารด้วย ซึ่งผมก็จะพยายามใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถเท่าที่มีอยู่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ. ผมอยากเห็นแพทยสภาเป็นที่ "พึ่งพาได้" ของประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งแพทย์ องค์กรต่างๆ เหมือนอย่างที่สำนักงานยุวกาชาดของผมนั้น "พึ่งพาได้" สำหรับประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยง.
ด้วยความปรารถนาดี
พินิจ กุลละวณิชย์ พ.บ.
ศาสตราภิชาน, กรรมการแพทยสภา
- อ่าน 2,365 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้