เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า Human papillomavirus (HPV) เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อของเยื่อบุปากมดลูกชนิด squamous และการคงอยู่ของการติดเชื้อชนิดนี้เป็นความเสี่ยงสูง (high risk oncogenic HPV) ต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก. อย่างไรก็ตาม HPV มีอยู่ด้วยกันหลาย genotypes ก็ทำให้เกิดอาการแสดงทางคลินิกได้หลากหลายรูปแบบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น HPV-6, HPV-11 จะก่อให้เกิดโรคหูดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วน HPV-16, HPV-18 จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์พบว่า การติดเชื้อ HPV ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด แต่การติดเชื้อมักจะเป็นแบบชั่วคราว ไม่มีอาการ และมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ตามมาในภายหลัง. แต่ถ้ามีการติดเชื้อเรื้อรังด้วย HPV ชนิดเสี่ยงสูง (chronic carriage of oncogenic genotypes) เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอและร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ สามารถทำให้ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น severe dysplasia หรือมะเร็งปากมดลูกได้.
โรคมะเร็งปากมดลูกพบบ่อยที่สุดในสตรีประเทศที่กำลังพัฒนา. สตรีไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกสูง 20 รายในประชากรสตรี 100,000 ราย ทั้งๆ ที่มีความพยายามในการวินิจฉัยและให้การรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก.
ปัจจุบันการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกกำลังเป็นความหวัง บทความนี้จึงมุ่งเสนอการวิเคราะห์ว่าถึงที่สุด เราจะฝากความหวังไว้กับวัคซีนได้เพียงใด.
ในการผลิตวัคซีนขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการวิจัยในระยะที่ 3 ของ clinical trials ซึ่งในปัจจุบันก็มี 2 บริษัทที่กำลังทดลองวัคซีนอยู่ คือ บริษัท MSD และบริษัท GSK แต่ก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือ MSD ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในรูปแบบของ Quadivalent โดยศึกษา HPV 6, 11, 16, 18. ส่วน GSK ศึกษาในรูปแบบของ Bivalent ศึกษา HPV 16, 18 เท่านั้น โดยทดลองในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ โดยการฉีด 3 ครั้ง ในเดือนที่ 0, 1 และ 6 พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อ HPV 16, 18 ได้เป็นอย่างดี รายงานพบว่าได้ผลสูงถึงร้อยละ 99.7 และยังพบอีกว่าไม่เกิดการติดเชื้อ HPV 16, 18 เรื้อรัง รวมทั้งไม่เกิดสภาวะ dysplasia ที่สัมพันธ์กับ HPV 16, 18 ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย.
ดังนั้นในมุมมองด้านสาธารณสุขในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยการใช้วัคซีนก็น่าจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่จะลงทุน โดยการให้วัคซีนในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV หรืออาจจะให้เร็วกว่านั้นในสตรีก่อนวัยรุ่นและในวัยรุ่นที่โอกาส มีเพศสัมพันธ์ต่ำ.
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังมีความจำเป็นที่จะต้องรอดูข้อมูลทางคลินิกต่อไป ในประเด็นของภูมิคุ้มกันว่าจะคงอยู่นานเท่าใด และมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำอีกหรือไม่ หรือจะให้วัคซีนซ้ำบ่อยขนาดไหน. ส่วนประเด็นการฉีดวัคซีน HPV ให้ผู้ชายนั้นมีการศึกษาแล้ว พบว่าการใช้ไม่คุ้มค่าในการลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก. ในส่วนของวัคซีน HPV คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2549 โดยก่อนที่จะมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ก็คงต้องมีการเตรียมความ พร้อมเพื่อให้สาธารณชนทราบถึงข้อดีข้อเสียของวัคซีน HPV และควรที่จะต้องมีนโยบายทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้วัคซีน HPV ที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความสับสนและการเข้าถึงบริการ อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในประเด็นของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดย วิธีอื่นๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องชี้แจงให้สาธารณชนเข้าใจ. อย่างไรก็ตาม คาดว่าวัคซีน HPV จะเป็นก้าวกระโดดสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก.
เอกสารอ้างอิง
1. Jansen KU, Shaw AR. Human papillomavirus vaccines and prevention of cervical cancer. Ann Rev Med 2004;55:319-31.
2. Mandic A, Vujkov T. Human papillomavirus vaccine as a new way of preventing cervical cancer : a dream or the future? Ann Oncol 2004;15:197-200.
3. Munoz N, Bosch FX, Castellsague X, et al. Against which human papillomavirus types shall we vaccinate and screen? the international perspective. Int J Cancer 2004;111:278-85.
4. Department of Health and Human Services, Centers for Disease Control and Prevention Division of STD Prevention. Prevention of Genital HPV Infection and Sequelae : Report of an External Consultantsี Meeting. http://www.cdc.gov/nchstp/dstd/Reports_Publications/99 HPVReport.htm.
5. Harper DM, Franco EL, Wheeler C, et al. Efficacy of a bivalent L1 virus-like particle vaccine in prevention of infection with human papillomavirus type 16 and 18 in young women : a randomised controlled trial. Lancet 2004;364:1757-65.
ประทักษ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ พ.บ.,ศาสตราจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ,มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,349 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้