ผมพูดเสมอว่าคนไทยขายของไม่เป็น (แต่ชอบซื้อของ shopping เป็นบ้า! ซื้อได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะไปประเทศไหน! ผมว่าเข้าคุกก็ยังซื้อได้!) ที่พูดว่าขายของไม่เป็น คือพูดไม่เป็น เสนอข้อมูลไม่เป็น ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ไม่รู้จุดแข็งของตนเอง ไม่รู้จักวิธีทำจุดอ่อนของตนเองให้เป็นจุดแข็ง!.
ที่พูดว่าขายของไม่เป็นก็คงรวมหมดตั้งแต่ผู้แทนบริษัทยาที่พูดไม่ค่อยเป็น มาถึงก็ยกมือไหว้และมอบเอกสาร หรือยา 2-3 เม็ดให้แล้วพูดว่า " ฝากอาจารย์ด้วยนะคะ! " ถ้าผมถามมากเธอก็จะมีความรู้สึกว่าลองภูมิ จริงๆ แล้วผู้แทนยาน่าที่จะมีความรู้เรื่องยาตัวเองดีกว่าหมอ เช่น ข้อดี ข้อเสีย เมื่อราคาแพงทำไมจึงน่าใช้กว่ายาที่เหมือนกัน ต้องรู้ประเด็นที่สำคัญและ " ขาย " คือ พูดได้เลย. นิสิตแพทย์หรือแพทย์ " ขาย" ไม่เป็น จึงไม่ได้แต้มที่ดีในเวลาสอบ พ.บ. หรือวุฒิบัตร แพทย์ " ขาย " (พูด) ไม่เป็นผู้ป่วยจึงไม่เข้าใจ ผม" ขาย" (คำสั่งไม่ชัดเจน) ไม่เป็น คนใช้จึงทำผิด ฯลฯ สามี " ขาย " ไม่เป็นภรรยาจึงไม่ให้เงิน! หรือไม่ให้ไปเที่ยว! จนกระทั่งถึงรัฐบาลพูดไม่เป็น (หรือพูดเก่งเกินไป!) ประชาชนจึงไม่มีใครเชื่อ!.
ในที่นี้การ " ขาย " ของผม จึงหมายถึงการพูด การเขียน หรือการสื่อสารนั่นเอง ที่เห็นบ่อยที่สุด คือ นิสิตแพทย์ แพทย์ ทั้งที่กำลังเรียน Board Subboard หรือแม้แต่เป็นแพทย์ใหญ่ อาจารย์แล้ว ยังพูดไม่เป็นเลย อาชีพอื่นก็เหมือนกัน ผมต้องสอนแพทย์มากต้องเขียน references ให้แพทย์และบุคลากรอื่นมากยังเห็นว่าทุกๆ คน ทุกๆ อาชีพ พูดหรือสื่อไม่เป็น ไม่รู้จักประเด็นที่สำคัญ ไม่รู้จักเอาจุดอ่อนมาเป็นจุดแข็ง.
ตัวอย่างที่เห็นบ่อยที่สุด คือเวลาแพทย์เสนอ case ของผู้ป่วยหรือขอให้ผมสนับสนุนการไปนอกหรือหางานในประเทศไทย หรือเวลาผมสัมภาษณ์ผู้ที่จะเข้างาน ไม่ว่าเป็นแพทย์หรือไม่ใช่แพทย์ จะพบว่าสื่อไม่เป็น ไม่รู้ว่าผู้ถาม ผู้สัมภาษณ์ต้องการอะไร ยังเขียน C.V. (curriculum vitae) ของตนเองไม่เป็น. การเขียน C.V. ต้องเขียนให้ผู้อ่านทึ่ง ต้องให้ข้อมูลที่สำคัญโดยเมื่ออ่านจบผู้อ่านพอใจและทราบข้อมูลทุกอย่างตามที่อยากจะทราบ แต่ทุกอย่างต้องเป็นความจริง ต้อง evidence based! ห้ามโกหก!.
โดยหลักการแล้วการสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่แพทย์ เจ้าของบริษัท หรือโรงพยาบาลที่ต้องการรับคน จะต้องการรู้หลักๆ เพียง 2 อย่างคือ เก่งหรือเปล่าในอาชีพนั้นๆ และเป็นคนดีหรือเปล่าเก่งหรือไม่ถ้าเพิ่งจบ พบ. ก็คงทราบง่ายๆ จากการดูคะแนน Gpax ถ้าได้เกียรตินิยมอันดับ 1 คงจะเก่งพอสมควร แต่ดีหรือไม่ เช่น ขยัน มีความรับผิดชอบสูงเข้าได้กับทุกๆ คนไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (considerate) หรือไม่ อยากรู้ อยากเห็น มีวิสัยทัศน์ มีความคิดริเริ่ม อยากพัฒนา ชอบมีการศึกษาต่อเนื่อง เป็นคนที่มีความยุติธรรม ไว้ใจได้ ฯลฯ นั้น คงต้องมาจากผู้ใกล้ชิด เช่น อาจารย์ ที่รู้จักผู้นั้นดี ถ้าอาจารย์ที่รู้จักผู้นั้นดี เป็นคนดัง well known เชื่อถือได้ด้วยก็ยิ่งดีใหญ่. แต่การให้ใครเขียน reference ไม่ใช่ไปขอคนดังให้เขียน โดยที่ผู้นั้นไม่รู้จักนิสิตแพทย์หรือแพทย์เลย. จริงๆ แล้วนิสิตแพทย์ควรขอให้อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์หัวหน้าภาค คณบดี รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต หรืออาจารย์ที่รู้จัก ที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยหรืออาจารย์ที่สอนมากเป็นพิเศษ เป็นผู้ให้ reference ไม่ใช่ไปขอจากอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ดัง โดยที่ไม่เคยได้สอนมากกว่าธรรมดา เพราะธรรมดาบางครั้งอาจารย์ไม่ได้สอนเลย หรือ lecture เพียง 1 ครั้ง ward round 1 ครั้ง ฯลฯ เท่านั้น ไม่รู้จักเพียงพอที่จะให้ข้อมูลได้.
แต่ถึงแม้ผมไม่รู้จักนิสิตแพทย์ แพทย์จุฬาฯ หรือแพทย์อื่นๆ มาก่อนโดยมากผมก็ยังจะช่วยอยู่ดี! แต่ทำให้ผมเหนื่อยหน่อย คือต้องคุยกับคุณหมอผู้นั้นเป็นเวลานาน เช่น ทำไมจึงอยากไปเรียนที่นั่น อยากทำงานที่นั่น ในที่สุดต้องการอะไรในชีวิต จุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง ความสามารถพิเศษหลังจากคุยกัน 1-2 ชั่วโมงผมก็พอที่จะรู้ว่าผู้ที่คุยกับผมนั้นดีหรือไม่ดี! บางคนยังไม่รู้จุดเด่นของตัวเอง ยังไม่รู้จักวิธีเอาจุดอ่อนมาเป็นจุดแข็ง!.
การเขียนประวัติของตนเอง แพทย์ทุกๆ คนควรหัดเขียนไว้ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตแพทย์ หรือตั้งแต่จบแพทย์ใหม่ๆ แล้วคอยปรับปรุงให้ทันสมัย ดีขึ้นอยู่ เรื่อยๆ. ประวัติควรมีตั้งแต่ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด ที่อยู่ถาวร เบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรศัพท์มือถือ เบอร์โทรสาร อีเมล์ ที่ทำงานปัจจุบัน ชื่อบิดา มารดา พี่น้อง อาชีพ อายุ ฯลฯ ประวัติการศึกษาตั้งแต่ประถม มัธยม อุดมศึกษา การศึกษาหลังปริญญา
ประสบการณ์การทำงาน รางวัลที่ได้ ถึงแม้จะเป็นเพียงดินสอ 1 แท่งสมัยอยู่ชั้นประถม! คะแนนที่ได้ กิจกรรมนอกหลักสูตรงานอดิเรก ความสามารถพิเศษ. บางคนมี " จุดอ่อน " คือ เรียนได้ไม่ค่อยดี เช่น Gpax 2.8 แต่ทำกิจกรรมมากมาย เช่น เป็นหัวหน้านิสิต ฯลฯ ก็อาจช่วยได้ วิธีการเขียนก็อาจทำจุดอ่อน (คะแนน)ให้เป็นจุดแข็ง เช่น ถึงแม้จะทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมมากมาย แต่ก็ยังเรียนได้ถึง 2.8! ความสามารถพิเศษอาจรวมตั้งแต่ภาษาอังกฤษ เล่นดนตรี เล่นกีฬา ถ่ายรูป เต้นรำ โต้วาที ทำอาหาร ฯลฯ จุดเด่นของตนเองอาจจะเป็นคนขยัน มีความรับผิดชอบสูง จุดอ่อนอาจจะเป็นคนขี้ใจน้อย ฯลฯ.
ถ้าแพทย์ขายของเก่ง คือ พูดเก่งๆ อาจจะลดปัญหาการฟ้องร้องก็ได้ ผู้ป่วยก็จะเข้าใจในโรคที่ตนเองเป็น จะได้ให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการดูแลตนเองด้วย. การที่จะขายของเก่งจะต้องเป็นคนที่รู้จริง รู้เรื่องที่กำลังจะขาย (พูด) จริง ฉะนั้นต้องเป็นคนที่มีความรู้ รอบรู้ มีบุคลิกที่สุขุม ใจเย็น เรียบร้อย ต้องพูดช้าๆ อย่างนิ่มนวล สายตาต้องจับผู้ฟัง ท่าทางสนใจ เอาใจ เป็นห่วงเป็นใยผู้ฟัง ต้องตั้งใจฟังจริงๆ อย่าทำท่ารำคาญเวลาผู้ป่วย (หรือคนอื่น) พูด.
การที่จะ " ขายของ" เก่ง ผู้ขายจะต้องรู้ข้อมูลจริง ทั้งข้อดี ข้อเสีย จุดแข็ง จุดอ่อน ต้องอ่านมากๆ ต้องจริงใจ พูดแต่ข้อมูลที่จริง (ถึงแม้จะพูดไม่หมด! แต่ที่พูดต้องเป็นความจริง!).
ถ้าแพทย์ทุกคนสื่อเก่ง และสื่อเท่าที่เหมาะสมจะสามารถลดการฟ้องร้องไปได้มากทีเดียว.
พินิจ กุลละวณิชย์ พ.บ. ,ศาสตราภิชาน, เลขาธิการแพทยสภา พ.บ. ,ศาสตราภิชาน, เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 2,758 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้