สวัสดีปีใหม่ แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ประเทศไทยได้ข้ามผ่านเรื่องราวหลากหลายของ ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งบางเรื่องก็ยังไม่สามารถหาคำตอบหรือจุดจบได้ ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง ผู้เขียนตั้งความหวังว่า ปีใหม่นี้จะพยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม แต่ก็น่าจะช่วยพยุงภาพรวมของประเทศไทยให้งดงามได้บ้าง.
อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์ที่ผ่านมา 2 ฉบับได้กล่าวถึงความเจ็บป่วยของเจ้าหน้าที่ 2 คน* ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งในเวลาใกล้เคียงกัน โดยที่ทั้ง 2 ท่านมีประวัติการทำงานเหมือนกันเมื่อ 15 ปีก่อน คือ การปฏิบัติงานบริเวณท่าเรือคลองเตยช่วงหลังเหตุการณ์โกดังสารเคมีระเบิด ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญว่าทั้ง 2 ท่านป่วยจากการทำงานหรือไม่ และแม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน การเจ็บป่วยของเจ้าหน้าที่นี้ ก็ควรจะนำไปสู่การรวบรวมข้อมูลความเจ็บป่วยในลักษณะที่คล้ายคลึงกันของเจ้าหน้าที่ที่มีประวัติการทำงานคล้ายกัน และที่สำคัญ นำไปสู่การป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสสารเคมีขณะเกิดอุบัติภัยสารเคมี.
สำหรับบทความฉบับนี้จะนำเสนอเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน โดยจะกล่าวถึงประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาภายหลังเหตุการณ์ "9/11" อันมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากเข้าปฏิบัติงานในบริเวณที่เกิดเหตุ และมีการสัมผัสฝุ่น สารเคมี ไอควัน หลายชนิดที่น่าจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยภายหลังได้ และฉบับหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของบทความชุดนี้ ซึ่งผู้เขียนจะได้เสนอแนวทางการดูแลสุขภาพเจ้าหน้าที่ "กลุ่มเสี่ยง" ของประเทศไทย.
วันเกิดเหตุ
มีการประมาณการว่า เหตุการณ์ผู้ก่อการร้าย ขับเครื่องบนชนตึก World Trade Center (WTC) เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2544 นั้น เกิดการเผาไหม้น้ำมันเครื่องบินมากกว่า 90,000 ลิตร ทำให้มีอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสและมีควัน เถ้าถ่าน โลหะหนัก สารตัวทำละลายอินทรีย์ (volatile organic compounds; VOCs) และกรดเกลือ (hydrochloric acid) จำนวนมากพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า.
อุณหภูมิจากการเผาไหม้ที่สูงเช่นนั้นทำให้ตึกพัง ส่งผลให้เกิดฝุ่นปริมาณมาก โดยเฉพาะปูนซีเมนต์ เส้นใย ไฟเบอร์กลาส กระจก เส้นใยแอสเบสทอสตะกั่ว สารไฮโดรคาร์บอนกลุ่ม PAHs (polycyclic aromatic hydrocarbon) สารกลุ่มพีซีบี (polychlorinated biphenyls) ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organocholorine) และสารกลุ่มไดออกซิน (polychlorinated furans and dioxin) อันเกิดจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างตึก.
ในแง่ของการกระจายปนเปื้อนบรรยากาศโดยรอบพื้นที่พบว่าฝุ่นและควันเหล่านี้ ครอบคลุมทั้งเขต Manhattan รอบตึกเอง รวมไปถึงเขต Brooklyn และพื้นที่ห่างไกลไปอีกหลายไมล์ นอกจากนั้น ฝุ่นยังเข้าไปสู่ตึกที่ทำงาน สำนักงาน โรงเรียนและบ้านเรือน อย่างไรก็ตาม ฝุ่นและสารเคมีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่วนมากกองอยู่บนพื้นดินฐานตึก ซึ่งเรียกว่า Ground Zero เป็นกองสูงขนาดตึก 6 ชั้น และมีการติดไฟเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน.
กลุ่มประชากรที่มีโอกาสสัมผัสสารเคมีเหล่านี้เป็นปริมาณมากที่สุด คือ ตำรวจดับเพลิง ตำรวจ ทีมกู้ชีพ (paramedics) ทีมกู้ภัยต่างๆ (first responders) เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าไปสอบสวนโรค (CDC; Centers for Disease Control and Prevention) คนงานก่อสร้างที่เข้าไปทำการรื้อถอนซากตึกและเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (volunteers) ซึ่งทุกกลุ่มที่กล่าวมานี้ ปฏิบัติงานทั้งในช่วงวันแรกๆ (rescue and recovery period) และต่อเนื่องอีกนานหลายเดือนหลังเกิดเหตุ.
กลุ่มประชากรที่มีโอกาสสัมผัสเป็นปริมาณมากรองลงมา คือ พนักงานทำความสะอาดตึกต่างๆ ที่ฝุ่น (WTC dust) กระจายไปถึง ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบตึก เขตใกล้เคียง ซึ่งตั้งครรภ์ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายนและประมาณหลายสัปดาห์หลังจากนั้น เด็กนักเรียนกว่า 3,000 คนที่พักอาศัยในบริเวณรัศมี 1 กิโลเมตรรอบตึกและเด็กนักเรียนอีกประมาณ 5,500 คนที่พักอาศัยที่อื่นแต่มาโรงเรียนที่อยู่ในรัศมีดังกล่าว.
รายงานการศึกษาวิจัยด้านผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนในช่วงเวลาไม่นานหลังเหตุการณ์ พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ WTC จำนวน 2,726 คน โดยเป็นตำรวจดับเพลิง 343 คนและตำรวจ 60 คน และพบด้วยว่ามีอุบัติการณ์ของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอเรื้อรัง สูงในกลุ่มตำรวจดับเพลิงและเจ้าหน้าที่กู้ภัย โดยอาการเหล่านี้สัมพันธ์กับ intensity และ ระยะเวลาของการสัมผัสฝุ่นควันที่กล่าวมาแล้ว นอกจากผลกระทบทางกายแล้ว ยังพบว่ามีอุบัติการของอาการ posttraumatic stress disorder (PTSD) อาการผิดปกติทางจิตเวชอื่นๆ การติดเหล้าและการใช้สารเสพติดสูงอีกด้วย.
เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบในระยะยาวอันเกิดจากเหตุการณ์นี้ Landrigan และคณะ1 ได้สรุปรวบรวมข้อมูลการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังจะได้กล่าวต่อไป.
ข้อมูลสิ่งแวดล้อม
ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลการตรวจวัดมลภาวะที่อาจก่อโรคได้ จำนวน 6 ชนิด คือ ฝุ่นที่ตกตามพื้น (settled dust) ฝุ่นที่ปลิวในอากาศ (airborne) โลหะหนัก (ตะกั่ว คลอรีน และแคลเซียม) ไดออกซิน และสารกลุ่ม chlorinated อื่นๆ เส้นใยแอสเบสทอสและสารไฮโดรคาร์บอน (PAHs) โดยพบว่า
¾ ฝุ่นที่ตกตามพื้น ส่วนมากมีขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 ไมครอน) โดยพบว่าฝุ่นขนาดเล็ก (2.5 ไมครอน) ซึ่งสามารถเข้าสู่ถุงลมปอดได้มีเพียงร้อยละ 0.88-1.98 ของกลุ่มตัวอย่าง ที่น่าสนใจ คือ พบว่าฝุ่นเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นด่างและ ยิ่งขนาดฝุ่นเล็กลง ก็จะยิ่งเป็นด่างมาก ขณะที่ฝุ่นขนาดใหญ่มีปริมาณของ PAH มากกว่าขนาดเล็ก.
¾ ฝุ่นที่ปลิวในอากาศ พบว่ามีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนสูงกว่าค่าที่ยอมรับได้ในช่วงวันแรกหลังตึกพัง (11 กันยายน) แล้วค่อยๆลดลงเรื่อยๆ นอกจากนั้น พบว่าฝุ่นจะมีปริมาณมากในช่วงกลางคืนเทียบกับกลางวัน.
¾ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA) สรุปว่า มีการใช้พลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) จำนวนมากในตึก WTC เมื่อเกิดการเผาไหม้จึงมีสารไดออกซินเกิดขึ้นมาก โดยพบว่ามีความเข้มข้นสูงกว่าค่า toxic equivalent (TEQ) ถึงหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ปริมาณไดออกซินลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและภายในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน คาดว่าระดับความเข้มข้นของไดออกซินจะลดลงจนเหลือเท่าๆกับปริมาณที่อาจตรวจพบได้ในเขตชานเมืองทั่วๆไปของสหรัฐอเมริกา.
¾ แอสเบสตอส มีการใช้เส้นใยนี้เป็นฉนวนกันความร้อนสำหรับตึกฝั่งเหนือ (North Tower) ตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นที่ 40 นั่นคือ มีปริมาณค่อนข้างมาก ภายหลังเหตุการณ์มีการเก็บตัวอย่างอากาศกว่า 10,000 ตัวอย่าง เพื่อหาเส้นใยที่มีความยาวมากกว่า 5 ไมครอน และตรวจหาเส้นใยขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 ไมครอนกว่า 8,000 ตัวอย่าง โดยสรุปแล้วพบว่ามีเพียง 22 ตัวอย่างที่มีจำนวนเส้นใยแอสเบสทอสมากจนอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่เมื่อประเมินการสัมผัสของเจ้าหน้าที่ ไม่พบว่ามีใครที่สัมผัสมากเกินค่ามาตรฐานในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงขณะทำงาน.
ผลต่อสุขภาพ
งานวิจัยนี้ได้ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรหลายกลุ่ม แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบทความ 2 ตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มตำรวจดับเพลิง (firefighters) และพนักงานทำความสะอาดหรือเก็บกู้ (cleanup and recovery workers).
ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ตำรวจดับเพลิง 240 นาย เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลหรือสถานบริการอื่น พบว่า 50 นาย (ร้อยละ 20.8) มีอาการ ด้านระบบทางเดินหายใจส่วนบน เนื่องจากการสูดหายใจควันและฝุ่น ทั้งนี้ ตำรวจดับเพลิงทุกคนเล่าเหตุการณ์ตรงกันหมดว่า "ต้องเดินผ่านกลุ่มควันที่หนามากเป็นชั่วโมงๆ หลังเหตุการณ์ ฝุ่นข้นประมาณซุปข้นๆ ทีเดียว".
6 เดือนหลังเหตุการณ์มีการตรวจสุขภาพตำรวจ ดับเพลิงจำนวน 10,116 นาย พบว่ามีตำรวจดับเพลิง 332 คนมีอาการที่เรียกว่า World Trade Center Cough กล่าวคือ มีอาการไอเรื้อรังร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆที่รุนแรงจนต้องหยุดงานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ นอกจากนั้น พบว่าอุบัติการณ์ของ WTC cough นี้ แปรผันกับระดับการสัมผัส กล่าวคือ พบอาการร้อยละ 8 ในกลุ่มที่สัมผัสมาก แต่พบเพียงร้อยละ 3 ในกลุ่มที่สัมผัสปานกลางและร้อยละ 1 ในกลุ่มที่สัมผัสน้อย.
สำหรับตำรวจดับเพลิงที่ไม่มีอาการ WTC cough พบว่ามีอาการ bronchial hyperreactivity ร้อยละ 23 ในกลุ่มที่สัมผัสมาก ขณะที่ในกลุ่มที่สัมผัสปานกลางพบเพียงร้อยละ 8 นอกจากนั้น พบว่ามีตำรวจดับเพลิง 1 นายป่วยเป็น eosinophilic pneumonia ด้วย.
ทั้งนี้ ความผิดปกติทั้งหมดที่ตรวจพบมีความสัมพันธ์กับระดับการสัมผัสฝุ่นและควันจากการเผาไหม้ รวมทั้งสัมพันธ์กับปริมาณ PAHs ที่ตรวจพบในร่างกายของตำรวจดับเพลิง.
สำหรับกลุ่มพนักงานทำความสะอาดหรือเก็บกู้ซึ่งทำหน้าที่เก็บกวาดซากปรักหักพังและขนไปทิ้งที่อื่นนั้น พบว่าส่วนมากเป็นคนขับรถบรรทุก ทีมวิจัยได้ทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยการตรวจวัดตัวอย่างอากาศและตรวจสุขภาพ.
การตรวจวัดอากาศทำ 2 ครั้ง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 และเดือนเมษายน พ.ศ. 2545 โดยตรวจวัดระดับของฝุ่น (PM) เส้นใยแอสเบสทอส และสารตัวทำละลายอินทรีย์ (VOCs) ตลอดช่วงการทำงานทั้งกะกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 7 วัน นอกจากนั้น พนักงานขับรถ 69 คนติดเครื่องตรวจวัดอากาศที่ตัว (personal sampler) ด้วย.
ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 พบว่าฝุ่นมีความเข้มข้นสูงที่สุดบริเวณกองซากปรักหักพัง (1,603 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งสูงกว่าบริเวณโดยรอบกว่า 5 เท่า แต่ในเดือนเมษายนพบว่าระดับฝุ่นลดลงจนเกือบใกล้เคียงกัน สำหรับตัวอย่างจากเครื่องตรวจวัดอากาศที่ตัว พบว่าค่า median ของปริมาณฝุ่นในเดือนตุลาคมเท่ากับ 323.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และลดลงเป็น 137.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในเดือนเมษายน ส่วนเส้นใยแอสเบสทอสนั้น พบว่ามีปริมาณน้อยมากและพบแต่เส้นใยที่สั้น และค่า VOCs ก็มีปริมาณต่ำมากเช่นกัน.
สำหรับผลต่อสุขภาพนั้น ได้มีการทำการศึกษาทางระบาดวิทยาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 โดยเลือก ประชากรจากกลุ่มพนักงานที่กำลังปฏิบัติงาน ในพื้นที่ ตามความสะดวก (convenient sampling) โดยมีเกณฑ์คัดเลือก คือ อายุอย่างน้อย 18 ปี ได้รับการจ้างงานที่จุดเกิดเหตุ และยินยอมตอบคำถามในแบบสอบ ถามที่ปรับจากแบบสอบถามโรคทางเดินหายใจเรื้อรังของ American Thoracic Society นอกจากแบบสอบถามแล้ว ประชากรวิจัยต้องผ่านการตรวจสมรรถภาพปอด (spirometric measurement) อีกด้วย.
มีพนักงาน 183 คนที่ได้รับการตรวจประเมินดังกล่าวมาแล้ว พบว่าร้อยละ 32.8 ระบุว่าเคยมีอาการไอที่เพิ่งเป็นหลังจากทำงานนี้ ร้อยละ 24 ระบุว่าเริ่มมีเสมหะมากหลังเริ่มทำงาน และร้อยละ 17.5 เริ่มมีอาการหายใจมีเสียงหวีด (wheeze) สรุปในภาพรวม พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มวิจัยมีอาการ อย่างน้อยหนึ่งชนิดหลังเริ่มทำงาน สำหรับผลตรวจสมรรถภาพปอด พบว่าค่าเฉลี่ย FEV1 และ FVC เท่ากับร้อยละ 96.3 และ 98.8 ตามลำดับ และค่าอัตราส่วน FEV1 : FVC เท่ากับร้อยละ 80.5.
ส่งท้าย
จากข้อมูลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมภายหลังเหตุการณ์ "9/11" และผลการตรวจสุขภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิงและพนักงานทำความสะอาดหรือเก็บกู้ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีโอกาสสัมผัสกับฝุ่น ควัน เส้นใย และสารเคมีต่างๆ มากที่สุด สรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีโอกาสสูง ที่จะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ขณะเกิดเหตุการณ์และในช่วงเวลา 6 เดือนภายหลัง.
อนึ่ง ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับผู้ป่วย 2 รายที่ได้นำเสนอเป็นกรณีศึกษาไปแล้ว กล่าวคือ ชี้ให้เห็นว่าภายหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่เช่นนี้ มีสารเคมีและมลภาวะต่างๆเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยมีระดับความเข้มข้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ และประชากรกลุ่มเสี่ยงที่สุด ที่จะมีโอกาสสัมผัสสารเคมีและมลภาวะ รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดโรค คือ เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจดับเพลิง พนักงานทำความสะอาด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข.
* "คุณวนิดา" พยาบาลประจำศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 41 (คลองเตย) ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
เอกสารอ้างอิง
1. Landrigan PJ, Lioy PJ, Thurston G, et al. Health and Environmental Consequences of the World Trade Center Disaster. Environmental Health Perspectives 2004 May; 112 (6):731-9.
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.
DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ
และสิ่งแวดล้อม, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข
E-mail address : [email protected]
- อ่าน 3,539 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้