จากความตอนที่แล้ว ได้พูดคุยกับผู้ป่วยหญิงที่มาด้วยอาการปวดศีรษะเรื้อรังมานานหลายปี และปวดถี่ขึ้นหลังจากที่สามีขอหย่า สามารถสรุปปัญหาสุขภาพแบบองค์รวมของผู้ป่วยรายนี้ได้ดังนี้
สรุปปัญหาสุขภาพองค์รวม
31-year woman, mom of 1-year old boy, with
1. Chronic tension-typed headache [due to the divorce]
2. Separation phase of the divorcing family
3. Couple violence after divorce talk
4. History of conflicted couple origin
5. History of the divorce in family-of-origin
การวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม
ผู้ป่วยหญิงรายนี้มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดที่เกิดขึ้น แต่การบอกผู้ป่วยเพียงชื่อโรค ไม่สามารถช่วยผู้ป่วยให้แก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ แพทย์จึงควรซักประวัติเรื่องเหตุการณ์และที่มาที่ไปก่อนเกิดอาการให้ละเอียด เพื่อช่วยผู้ป่วยใหเข้าใจปัญหาและอาการป่วยของตนเอง แม้แพทย์อาจไม่ถนัดในการให้คำปรึกษาหรือจิตบำบัด ก็ไม่จำเป็นต้องกลัว เพราะเพียงแค่ถามและฟังให้เข้าใจ ให้ได้ยินด้วยใจ ไม่ใช่ ได้ยินด้วยหู (Active listening, not only hearing) ก็สามารถช่วยเหลือเยียวยาทุกข์ของผู้ป่วยได้แล้ว จะเห็นได้จากตัวอย่างบทสนทนา แพทย์เพียงถามตามเนื้อเรื่องไปเรื่อยๆ ถาม สรุป สะท้อนความรู้สึกเป็นครั้งๆ ไป ก็สามารถช่วยเข้าใจและบำบัดผู้ป่วยได้อย่างมากแล้ว.
การซักประวัติเรื่องปัญหาคู่ชีวิต ควรถามถึงที่มาที่ไปก่อนมาเป็นคู่กัน (Couple development cycle) จะเห็นว่าคู่นี้เป็นความรักในวัยอุดมศึกษา ซึ่งยังเป็นความรักในวัยรุ่นตอนปลาย แล้วเกิดพลาดพลั้งตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ทำให้คู่นี้มาผูกกันไว้ด้วยความรู้สึกผิดและจำต้องรับผิดชอบกันไป ไม่ใช่มาผูกกันเพราะความรัก (Reason of marriage is responsibility, not romantic love) เมื่อถึงคราวที่อยู่กันไปแล้ว เกิดมีเหตุให้ขัดแย้งกัน จึงขุดเอาความรู้สึกเดิมๆ มาปะทะกัน ฝ่ายชายเองน่าจะเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตนเองและกลัวเกินกว่าจะกล้าพูดความจริงในทุกๆ โอกาส แม้กระทั่งจะหย่ากันก็ยังไม่กล้าพูด อาจมองอีกมุมว่าเขาพยายามปกป้องความรู้สึกฝ่ายหญิงก็ได้ หากบอกว่าไปรักหญิงอื่น ผู้ป่วยก็คงจะรับไม่ได้อยู่ดี.
ประวัติครอบครัวเดิมของผู้ป่วยมีผลให้ผู้ป่วย คาดหวังสูงกับการแต่งงาน ฝันว่าจะมีครอบครัวให้สมบูรณ์ครบทั้งพ่อแม่ลูก เพื่อชดเชยความรู้สึกขาดในอดีต ในขณะที่ครอบครัวฝ่ายชายก็ดูเหมือนจะไม่ยอมรับลูกสะใภ้รายนี้เท่าที่ควร อาจไม่สมฐานะกัน และอาจจะคิดอยู่แล้วว่าแต่งงานกันตามหน้าที่ ลักษณะเริ่มต้นของคู่นี้จึงลงทุนด้วยความเสี่ยงสูงที่จะขัดแย้งกัน ถึงขั้นจะอยู่กันไม่ยืดและจบลงด้วยการหย่าร้าง.
สาเหตุของการเริ่มต้นเป็นพ่อเป็นแม่ ฟังดูไม่ใช่ความอยากของทั้งสองฝ่าย แต่เหมือนเอาลูกมาเป็นตัวกันชนสำหรับการทะเลาะกัน หรือเหมือนเป็นการชดเชยความผิดบาปที่ไปทำแท้งในอดีต จึงชดใช้ให้ด้วยการมีลูกคืนให้ ลูกที่เกิดจากความรู้สึกดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมจากพ่อแม่ (Child neglect) แต่หญิงหลายคนอาจคิดว่าการมีลูกเป็นเครื่องประกันความรักที่จะได้รับจากฝ่ายชาย ว่าเขาจะไม่หนีไปไหน หรือคิดว่าเขารักเรามากพอที่จะมีลูกกับเรา หรืออาจหวังว่าจะเปลี่ยนนิสัยเสียของเขาได้หากมีลูก การตัดสินใจมีลูกเพื่อเป็น "โซ่ทองคล้องใจ" ในกรณีนี้จึงอาจไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมของปัญหาคู่ ที่แค่ลำพังสองคนยังเอาตัวกันไม่รอด.
เมื่อเกิดความคิดหย่าร้าง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถแก้ปัญหาระหว่างกันได้อีกต่อไปแล้ว แต่อีกฝ่ายอาจพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาดีกัน จึงทำให้อีกฝ่ายรับไม่ได้ และอาจก่อความรุนแรงขึ้น หรือทำให้เจ็บช้ำน้ำใจเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความกลัวและการหย่าสัมฤทธิ์ผล แพทย์จึงควรถามถึงปฏิกิริยาต่อกันหลังพูดเรื่องหย่าร้าง ว่าทั้งคู่เป็นอย่างไร ควรคัดกรองความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรงว่ามี ด้วยหรือไม่ จะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัยขึ้น ลูกปลอดภัยด้วยหรือไม่ รวมทั้งอย่าลืมถามตัวละครตัวอื่นๆ ในฉากว่าเข้ามามีบทบาทอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงตัวช่วยอื่นๆ ของตนเอง เพราะการหย่าก็เหมือนการแต่งงานที่ไม่ใช่เรื่องของคนสองคนตามลำพัง แต่เป็นเรื่องที่กระทบหลายคนเป็นความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนอย่างหนึ่งของครอบครัวมนุษย์.
ธรรมชาติการหย่าร้าง
การหย่าร้าง (The divorce) แม้จะเพิ่มมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน แต่สังคมก็ยังไม่ถือว่าเป็นความปกติของสภาพครอบครัวที่ควรจะเป็น ตั้งแต่เกือบ 30 ปีก่อน สังคมอเมริกันเริ่มพบการหย่าร้างสูงถึงร้อยละ 50 ของการแต่งงานครั้งแรก และจะมีการหย่าร้างซ้ำอีกในการแต่งงานครั้งที่สองสูงถึงร้อยละ 601 ถ้าเช่นนั้นความชุกของการหย่าก็มีสูงมากมานานแล้ว ครอบครัวที่มีการหย่าร้างจะเผชิญหน้ากับความกดดันทางอารมณ์ อย่างสูงขึ้นๆ ลงๆ (Emotional roller-coaster) อยู่เป็นเวลานาน ทั้งส่วนที่เกิดกับคู่ครองเอง กับลูก หรือกับครอบครัวเดิมของทั้งสองฝ่าย.
ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะเผชิญหน้ากับอารมณ์หลายแบบ ทั้งโศกเศร้า สูญเสีย เจ็บปวด โกรธแค้น ตำหนิติเตียน รู้สึกผิด อับอาย ไร้ค่า สูญเสียความเป็นตัวตนของตนเอง ส่วนผสมของอารมณ์เหล่านี้วิ่งวนเวียนอยู่ในทุกระดับของครอบครัว.
ถ้าเช่นนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างกับครอบครัวที่มีการหย่าร้าง มีกลไกกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปแต่ละ ช่วงแต่ละตอนเป็นอย่างไร.
ระยะต่างๆ ของครอบครัวหย่าร้าง (Family life cycle of the divorce)2
ครอบครัวที่หย่าร้างมีระยะเปลี่ยนผ่านอยู่ 2 ระยะ คือ ระยะหย่าร้างและระยะหลังการหย่าร้าง.
ระยะหย่าร้าง (Divorce family)
ช่วงที่ 1 ช่วงตัดสินใจหย่า (Decision to divorce) เป็นช่วงที่ยอมรับว่าไม่สามารถอยู่กันในฐานะคู่ต่อไปได้ ยอมรับว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างกันต่อไปได้.
ช่วงที่ 2 ช่วงวางแผนแยกกันอยู่ (Planning to breakup) เป็นช่วงเริ่มหาข้อมูลสำหรับการหย่าร้าง ศึกษาข้อมูลทางกฎหมาย การแบ่งสมบัติ การบอกลูก การรับเลี้ยงลูกหลังหย่าร้าง การกลับไปทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงตนเองและลูก การเตรียมบอกพ่อแม่ของแต่ละฝ่าย.
ช่วงที่ 3 ระยะแยกกันอยู่ (Separation) เป็นช่วงพยายามตัดใจจากคู่ พยายามอยู่กับตนเองให้ได้มากขึ้น แบ่งอาณาเขตส่วนตัวภายในบ้าน แยกห้องนอน ในขณะที่ก็ยังต้องพบเห็นเขาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังต้องอนุญาตให้เขาเป็นพ่อแม่ของลูกต่อไปได้ แม้จะมีเรื่องแยกทางกับตนเอง ช่วงนี้หลายคนยังพยายามแก้ไขปัญหาและหวังว่าจะกลับมาดีกันเหมือนเดิม (Fantasy of reunion) เริ่มบอกคนอื่นๆ เพื่อให้รับทราบและอาจได้รับความเห็น รวมทั้งการแก้ปัญหามามากมายจนปวดศีรษะได้.
ช่วงที่ 4 ระยะหย่าร้าง (The divorce) เป็นช่วงที่ทำใจได้มากขึ้น ตัดใจได้ อยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ไม่เจ็บมาก ไม่โกรธแค้น ไม่รู้สึกผิด (Emotional divorce) ไม่หวังให้กลับมาคืนดีกัน ช่วงนี้จะกลับไปใช้เวลากับครอบครัวเดิมของตนเองมากขึ้น.
ระยะหลังการหย่าร้าง (Post-divorce family)
มีครอบครัวเดี่ยว 2 ครอบครัวเกิดขึ้นหลังการ หย่าร้าง (Binuclear family) คือ
1. Single parent family เป็นครอบครัวที่รับเลี้ยงบุตรเองหลังการหย่าร้าง ต้องยินดีที่จะอนุญาต ให้อีกฝ่ายมาพบหน้าลูกด้วย ไม่ใช่ตัดขาดกันไปเลย หย่าร้างเป็นเรื่องของการเลิกความสัมพันธ์แบบคู่ แต่ไม่ใช่การเลิกความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก หรือปู่ย่าตายาย ถึงจะหย่าก็ยังต้องให้ลูกมีความสัมพันธ์กับ คนอื่นๆ ได้เหมือนเดิม.
2. Single parent เป็นครอบครัวที่ไม่ได้รับเลี้ยงบุตรต่อหลังการหย่า เป็นช่วงที่โหวงๆ กลับไปอยู่กับชีวิตลำพังคนเดียว กลับไปสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทมิตรสหายคนอื่น ในขณะที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบหาเงินเพื่อนำมาแบ่งเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรด้วย ต้องจัดเวลากลับมาหาลูกเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ มักกลัวว่าลูกจะสนิทและรักฝ่ายที่เลี้ยงดูมากกว่าตน กลัวเข้าหน้าลูกไม่ติด กลัวเป็นคนแปลกหน้าของลูกเมื่อไปหา.
การให้คำปรึกษาเรื่องหย่าร้าง (Divorce counseling)
1. ถามจุดกำเนิดของชีวิตคู่ว่าเริ่มต้นอย่างไร และอยู่กันมาอย่างไร (Couple development cycle).
2. เมื่อไหร่ ใคร และเหตุการณ์เป็นอย่างไรที่เริ่มพูดถึงการหย่าร้าง (Decision to divorce).
3. คุณคิดและรู้สึกอย่างไรกับเรื่องหย่า (Idea and feeling toward divorce).
4. เล่าให้ใครรู้บ้างหรือยัง เขาว่าอย่างไรกันบ้าง (Divorce announcement and other support).
5. อยากลองแก้ปัญหาคู่ด้วยกันก่อนหรือเปล่า ยังอยากกลับไปอยู่ด้วยกันต่อหรือเปล่า (Intention to regain marital function and stop divorce).
6. เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังพูดเรื่องหย่าร้าง เริ่มแยกกันอยู่บ้างหรือยัง (Physical separation) เริ่มบอกลูกหรือยัง ลูกมีปฏิกิริยาเป็นอย่างไร (Restructuring parentchild relationship).
7. แล้ววางแผนจะไปหย่ากันเมื่อไหร่ ต้องหาทนายด้วยหรือเปล่า (Legal divorce).
8. แล้วจะอยู่กันอย่างไรหลังหย่าร้าง เรื่องที่อยู่ เรื่องเงินทอง เรื่องเลี้ยงลูก เรื่องการมาดูแลลูกเป็นระยะๆ (Discuss on housing, money, custody, visitation after divorce).
9. หลังหย่าร้าง ถ้าเขาไปแต่งงานใหม่ คุณจะเป็นอย่างไรบ้าง (Remarriage crisis).
10. หมอเสียใจด้วย มันคงเป็นช่วงเวลาที่ยากมากสำหรับคุณ ทั้งเจ็บทั้งเครียดมาก กระทบชีวิตคุณไปหมด แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วจริงๆ หมอขอให้คุณผ่านมันไปได้ด้วยดี แม้ว่ามันจะยากและใช้เวลาสักหน่อย แต่หมอเชื่อว่าคุณทำได้และจะทำได้ดีเหมือนทุกครั้งที่คุณแก้ปัญหาผ่านมา (Empathy loss and empower to live throughout life stress).
11. คงไม่มีการตัดสินใจไหนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่หมอคิดว่าคุณจะตัดสินใจได้ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ของตนเอง หมอเป็นกำลังใจให้ (Insist her strength to solve her own problem).
12. มีอะไรที่หมอพอจะช่วยได้บ้างไหม (Offer help).
¾ ขั้นตอนที่ 5 ให้ลองประเมินว่าทั้งคู่ขัดแย้งกันที่ประเด็นใดพอจะกลับไปแก้ปัญหาร่วมกันได้หรือไม่ เช่น เรื่องการไม่เข้าใจกันเพราะปัญหาการสื่อสาร (Miscommunication) แพทย์พยาบาลที่เป็นคนกลาง และฝึกเรื่องการทำคู่บำบัด (Couple therapy) มาก่อน จะสามารถช่วยฝึกการสื่อสารใหม่ระหว่างคู่ได้ และอาจแก้ไขปัญหาการหย่าร้างที่เกิดจากสาเหตุนี้ได้ แต่หากเป็นจากสาเหตุอื่นอาจต้องพิจารณาเป็นรายๆไป โดยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อการหยุดการหย่าร้าง แต่เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เพราะไม่ว่าทั้งคู่จะอยู่หรือหย่าก็จะนำปัญหาสื่อสารติดไปกับตนด้วย และจะมีปัญหาต่อไปอีกหากเกิดการแต่งงานใหม่กับ คู่คนต่อไป และจะอยู่หรือหย่าก็ควรจะพูดกันด้วยดีไม่ใช่ด่าฝากกันไว้ให้เจ็บใจซึ่งจะเป็นบาดแผลติดตัวไปอีกนาน.
บทสรุป
แม้การหย่าร้างจะถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ น่าตำหนิ ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวแบบหนึ่งที่ ไม่ได้ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของครอบครัวที่มีชีวิตคู่ และเกิดขึ้นได้บ่อยเสียจนแทบจะเรียกว่า ไม่ใช่ "ความผิดปกติ" ของครอบครัวในยุคปัจจุบัน และแทนการปฏิเสธไม่รับรู้ หรือบอกว่าไม่มีได้เป็นดีที่สุด เราควรมาทำความเข้าใจและเยียวยาผู้คนที่ต้องได้รับผลกระทบจากการหย่าร้างกันดีกว่า ในเมื่อมันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิตครอบครัวมนุษย์ในปัจจุบัน หมอไม่ได้มีหน้าที่หยุดการหย่าร้างหรือประคองชีวิตคู่ให้คนไข้ แต่มีหน้าที่ทำให้คนไข้จะอยู่หรือจะหย่าได้อย่างมีสุขภาวะที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่เหลือย่อมเป็นไปตามกรรมของเขาและเธอเอง.
เอกสารอ้างอิง
1. Glick P. Marriage, divorce and living arrangements. Journal of Family Issues 1984; 5:7-26.
2. Carter B, McGoldrick M. The divorce cycle : a major variation in the American family life cycle. In : Carter B, McGoldrick M, ed. The expanded family life cycle: Individual, family, and social perspectives. 3rd edition. New York: Pearson education; 2005. p. 377.
3. Ahrons CR. Divorce : an unscheduled family transition. In : Carter B, McGoldrick M, Ed. The expanded family life cycle: Individual, family, and social perspectives. 3rd edtion. New York: Pearson education, 2005. p.381-98.
สายพิณ หัตถีรัตน์ พ.บ.,
ว.ว. (เวชปฏิบัติทั่วไป), อ.ว.(เวชศาสตร์ครอบครัว),
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 8,146 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้