โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ จะมีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นบริเวณกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย บางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกรหลัง หรือแขนขวา
บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นบางครั้งบางคราวเวลาออกแรงมากๆ (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรงๆ ทำงานหนักๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน) มีอารมณ์โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศเย็นๆ
ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้ หรือหัวใจเต้นเร็ว (เช่น หลังดื่มกาแฟ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้
อาการเจ็บหน้าอกมักจะเป็นอยู่ นาน 2-3 นาที (มักไม่เกิน 10-15 นาที) แล้วหายไปเมื่อได้พักหรือหยุดกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนโตรกลีเซอรีน)
นอกจากนี้ ขณะมีอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ร่วมด้วย
ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ เวลาหายใจเข้าลึกๆ ไอ หรือจาม หรือเจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว หรือกดถูกเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บทั่วหน้าอกอยู่เรื่อยๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและเวลาออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลินๆ หายเจ็บ มักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเป็น ครั้งคราว หากต่อมามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น กำเริบบ่อยขึ้น หรือมีอาการเจ็บหน้าอกแม้ขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย ให้สงสัยว่าตะกรันท่อเลือดแดงอาจสะสมมากขึ้นจนหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตัน มากขึ้น หรือตะกรันเริ่มแตกหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น อาการเช่นนี้ เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันตามมาได้
ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ แม้จะได้พักก็ไม่ทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะหรือไม่มีอาการเจ็บหน้าอกก็ได้
ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
ถ้าเป็นรุนแรง จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ใจหวิว เป็นลม) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
ผู้ป่วยอาจเป็นลมหมดสติ หรือตายในทันทีทันใด
บางรายอาจมีประวัติว่า เคยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราวนำมาก่อน เป็นเวลาหลายสัปดาห์
บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลยก็ได้
การดำเนินโรค
ถ้าไม่ได้รับการรักษา ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ส่วนในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายก็อาจเสียชีวิตกะทันหันได้
ส่วนผู้ที่ได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพผู้ป่วย โรคที่พบร่วม และวิธีรักษา
ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอสไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และลดการตายลงได้ ส่วนการทำบัลลูนและการผ่าตัดบายพาสช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ และการบำบัดที่เหมาะสม ผลการรักษามักจะไม่ดี
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมากก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด ในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้ 2-3 วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้ ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและมักจะเสียชีวิตภายใน 3-4 เดือน ถึง 1 ปีต่อมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วย
ส่วนในรายที่ได้รับการทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส มักจะฟื้นสภาพได้ดี และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น แต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันซ้ำ ซึ่งอาจต้องทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะช็อก (เป็นลม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ) หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจห้องล่างแตก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันได้
บางรายอาจมีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแทรกซ้อนหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย 10 วันถึง 2 เดือน หรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดสมอง (ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีก) และหลอดเลือดทั่วร่างกายได้
บางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า หลังจากฟื้นตัวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
การแยกโรค
-
อาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือเป็นต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงๆ ถึงเป็นวันๆ ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลม ที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ เช่น
- ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (pulmonary embolism) มีอาการหายใจหอบ เจ็บหน้าอก เป็นลม หรือชัก
- ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (aortic dissection) มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง คล้ายเนื้อถูกฉีกหรือกรีด เจ็บแผ่ไปที่ท้อง ต้นขา คอ และหลังส่วนล่าง อาจมีอาการเป็นลม หรือแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย
- ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) เกิดจากถุงลมปอดแตก มีลมรั่วเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ แน่นอึดอัดในหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย
-
อาการปวดเค้นหรือจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นช่วงสั้นๆ และกำเริบเป็นครั้งคราว ที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- โรคกระเพาะ มีอาการแสบลิ้นปี่เวลาหิวหรือก่อนมื้ออาหาร หรือจุกแน่นลิ้นปี่เวลากินอิ่มเกือบทุกมื้อ กินยาลดกรดก็ทุเลาได้
- โรคกรดไหลย้อน มีอาการแสบลิ้นปี่หรือจุกแน่นลิ้นปี่ เรอเปรี้ยวขึ้นไปที่ลำคอหลังกินอิ่มๆ หรือกินอาหารมัน เผ็ดจัด ของเปรี้ยว ดื่มกาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำส้มคั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินอิ่มแล้วนอนราบ นั่งตัวงอ เข็มขัดคับเอว หรือเวลามีความเครียด เมื่อกินยารักษาโรคกระเพาะแล้วทุเลา
- นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา นานครั้งละ 30 นาทีถึง 6 ชั่วโมง เป็นๆ หายๆ เป็นบางวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกินอาหารที่มันๆ
- อ่าน 86,805 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้