Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง » ข้อมูลโรคและการรักษา » งูสวัด

งูสวัด

  • อาการ
  • สาเหตุ
  • การรักษา
  • การดูแลตนเอง
  • อื่นๆ

ก่อนมีผื่นขึ้น 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบร้อน (คล้ายถูกไฟไหม้) เป็นพักๆ หรือตลอดเวลาบริเวณ

พบบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือเพียงข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ ถ้าปวดที่ชายโครง ก็อาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในไต ไส้ติ่งอักเสบได้ ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว อาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรน หรือโรคทางสมองได้ บางรายอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเดินร่วมด้วย ส่วนมากมีผื่นขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยง โดยเส้นประสาทที่อักเสบ ตุ่มน้ำมักทยอยขึ้นใน 4 วันแรก แล้วค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน เมื่อตกสะเก็ดและหลุดออกไป อาการปวดจะทุเลาไป รวมแล้วจะมีผื่นอยู่นาน 10-15 วัน ผู้ที่มีอายุมากอาจ มีอาการนานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ

การดำเนินโรค

ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 10-15 วัน  ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น

ภาวะแทรกซ้อน

ที่พบบ่อยคือ อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด (post herpetic neuralgia) โดยเฉลี่ยพบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยงูสวัด พบได้ประมาณร้อยละ 50 ที่ผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป และมากกว่าร้อยละ 70  ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งเป็นรุนแรงและนาน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรก หรือเกิดขึ้นภายหลังผื่นหายหมดแล้วก็ได้ มีลักษณะปวดลึกๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแบบแปลบๆ เสียวๆ (คล้ายถูกมีดแทง) เป็นพักๆ ก็ได้ มักปวดเวลาถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ปวดมากตอนกลางคืนหรือเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง บางครั้งอาจรุนแรงมากจนทนไม่ได้ อาการปวดมักหายได้เอง (ร้อยละ 50 หายเองภายใน 3 เดือน และร้อยละ 75 จะหายเองภายใน 1 ปี) บางรายอาจปวดนานเป็นแรมปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นที่บริเวณใบหน้า

ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากใช้เล็บแกะเกา หรือให้การดูแลผื่นตุ่มไม่ถูกต้อง ทำให้กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลได้
  • ในรายที่เป็นงูสวัดขึ้นตา อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน ประสาทตาอักเสบ ถึงขั้นทำให้สายตาพิการได้
  • ในรายที่เป็นงูสวัดที่บริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู  อาจทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก (ยักคิ้ว หลับตา เม้มมุมปากไม่ได้ซีกหนึ่ง) หรือมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ตากระตุกได้
  • ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ (ซึ่งพบเป็นงูสวัดร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 10) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจเกิดผื่นงูสวัดแบบแพร่กระจาย คือมีตุ่มขึ้นออกนอกแนวเส้นประสาทมากกว่า 20 ตุ่ม หรือขึ้นตามแนวเส้นประสาทมากกว่า 1 แนว อาการมักจะรุนแรงและเป็นอยู่นาน อาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายใน (เช่น ปอด ตับ) เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
  • ผู้หญิงที่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ อาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ เช่น  มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น

การแยกโรค

อาการมีตุ่มน้ำใสขึ้นตามผิวหนัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ อีสุกอีใส กับเริม

อีสุกอีใส ผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นร่วมกับมีผื่นแดงและตุ่มน้ำใสขึ้นกระจายๆ ตามลำตัวและใบหน้า ผื่นตุ่มจะขึ้นในวันแรกที่มีไข้ และมักมีอาการคันร่วมด้วย

เริม ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นหลายเม็ดอยู่กันเป็นหย่อม หรือกลุ่มเล็กๆ มักขึ้นเพียงที่เดียว เช่นที่ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น อวัยวะเพศ เป็นต้น มักมีประวัติขึ้นซ้ำซากที่เดิมเวลามีประจำเดือน ถูกแดด เครียด ได้รับการกระทบกระเทือนเฉพาะที่ (เช่น ถอนฟัน ผ่าตัดที่บริเวณใบหน้า) เวลาเป็นไข้หวัด หรือเป็นไข้ (เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น) 

  • อ่าน 37,875 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้

ข้อมูลสื่อ

348-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 348
เมษายน 2008
สารานุกรมทันโรค
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
Skip to Top

คุณไม่สบายตรงไหน

  • ศีรษะหู ตา คอ จมูก ปาก
  • ลำตัวท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน
  • ลำตัวส่วนล่างอวัยวะเพศ ขา เท้า
  • อาการทั่วไป ไข้หวัด ผิวหนัง ฯลฯ

ข้อมูลสุขภาพ

  • โรค
  • ยา
  • สมุนไพร
  • ปฐมพยาบาล
Doctor Me

  • สนับสนุนสื่อสุขภาพออนไลน์หมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • คำแนะนำสำหรับประชาชน เรื่อง โรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง
  • ผ่าตัดฟรีสำหรับเด็ก ที่เป็นโรคหัวใจ
  • สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย (สพท.)
Appstore
GooglePlay

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa