สลิลภร ปรัชญางค์ปรีชา, จาริกา มาคคช, ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันได้ง่ายและมีการแพร่กระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะถ้าเป็นสายพันธุ์ติดต่อมายังมนุษย์และใหม่มนุษย์ยังไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน ก็จะเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เช่นในอดีตได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่จะข้ามจากสัตว์ เช่น นก มาสู่คน ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดใหญ่เช่น ไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พ.ศ. 2552 ที่ข้ามมาจากหมูและเกิดการระบาดใหญ่อย่างที่เป็นข่าวใหญ่และสร้างปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลกใน 2-3 ปี ที่ผ่านมา
ลักษณะของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A
ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสที่สามารถก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู นกชนิดต่างๆ รวมถึงมนุษย์ ไวรัสชนิดนี้แบ่งได้เป็น 3 ชนิดได้แก่ A, B และ C แต่ไวรัสที่มีการระบาดทั่วไปในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดนั้นเป็นชนิด A ในขณะที่ B และ C นั้นพบในคนและไม่ก่ออาการรุนแรง ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A มีขนาดเล็ก 80-120 นาโนเมตร และมีสารพันธุกรรมแบบ RNA สายลบ (Negative single strand RNA; -ssRNA) จำนวน 8 ชิ้น สามารถสร้างโปรตีนของไวรัสได้จำนวน 10 ชนิด จัดอยู่ในแฟมิลี Orthomyxoviridae มีการจัดแบ่งสายพันธุ์ตามโปรตีน HA และ NA บนผิวของไวรัส โดยมีการแบ่งสายพันธุ์ตามความแตกต่างของโปรตีน HA (hemagglutinin) 17 แบบ (H1-17) และโปรตีน NA (neuraminidase) 9 แบบ (N1-9) ซึ่งไวรัสแต่ละสายพันธุ์อาจเกิดจากการจับคู่แลกเปลี่ยนระหว่าง H และ N ตัวใดก็ได้ เช่น H3N2, H1N1, H7N3 หรือ H5N1 เป็นต้น แต่ละสายพันธุ์จะมีความจำเพาะต่อสิ่งมีชีวิตและก่อให้เกิดโรคต่างกัน
รูปที่ 1 ภาพแสดงลักษณะโครงสร้างของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3b/3D_Influenza_virus.png)
การระบาดของไข้หวัดใหญ่
การระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก (pandemic) ในประวัติศาสตร์การเกิดโรคในมนุษย์นั้นจะเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด A ดังตัวอย่างการระบาดจากอดีตที่ผ่านมา ตั้งแต่ไข้หวัดใหญ่สเปน (เรียกตามสถานที่ที่พบครั้งแรก) ในปี พ.ศ.2461 ซึ่งเป็นการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดในประชากรโลก ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (H3N2) ในปี พ.ศ.2511 ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (H2N2) ในปี พ.ศ.2520 จนถึงการระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดคือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในปี พ.ศ. 2552 (pandemic H1N1 2009) นอกจากนี้ ในทุกปียังมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลเป็นประจำ รวมถึงการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกหลากสายพันธุ์ในสัตว์ปีก ทำให้เกิดความสูญเสียของกิจการฟาร์มสัตว์ปีกหลายแห่งในโลก การระบาดที่ประชากรโลกรู้จักดีคือไข้หวัดนก H5N1 รวมถึงมีรายงานว่ามีไข้หวัดนกบางสายพันธุ์มีการติดเชื้อข้ามมาก่อโรคในคนได้อีก เช่น H7N7 และ H9N2 นักวิจัยเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่เป็นรังโรคคือนกน้ำและนกอพยพ ซึ่งนกเหล่านี้จะเป็นตัวพาไวรัสสายพันธุ์ต่างๆมาสู่สัตว์ปีกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คนเลี้ยงไว้ ผ่านสิ่งคัดหลั่งต่างๆและอุจจาระ นอกจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นแล้วเชื้อไวรัสยังมีโอกาสติดต่อสู่คนได้ถ้าคนเหล่านั้น
- มีการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ
- สัมผัสกับสัตว์ปีกในชีวิตประจำวันเช่นการไปตลาดขายสัตว์ปีกหรือเลี้ยงสัตว์ปีกที่บ้าน
- เมื่อคนสัมผัสกับสัตว์ปีกจากโรงฆ่าสัตว์ หรือมีประวัติกับเนื้อสัตว์ปีกสดที่ติดเชื้อ
- คนที่อาศัยอยู่บริเวณหรือแหล่งน้ำบริเวณใกล้กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก เนื่องจากบริเวณนี้อาจมีสิ่งคัดหลั่ง อุจจาระหรือขนนกที่อาจปนเปื้อนด้วยไวรัสไข้หวัดนกได้
การระบาดของไข้หวัดนก
เชื้อไข้หวัดนกเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อฟาร์มสัตว์ปีกและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีการส่งออกสัตว์ปีก โดยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้จัดเป็นสองประเภทคือแบบชนิดก่อโรครุนแรง (high pathogenicity avian influenza; HPAI) คนที่ติดเชื้อจากไวรัสในกลุ่มนี้มักมีอาการทางระบบหายใจ ปอดบวม และอาจถึงชีวิตได้ และชนิดก่อโรคไม่รุนแรง (low pathogenicity avian influenza; LPAI) แต่ไม่จำเป็นที่ผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกแบบชนิดรุนแรง จะมีอาการรุนแรงเสมอไป
การระบาดของไข้หวัดนกแบบชนิดรุนแรง (HPAI) ในนกป่าและสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้เกิดไม่บ่อยครั้งแต่เมื่อมีการระบาดแล้วจะสร้างความกังวลทางด้านสุขภาพสัตว์ การแพทย์และสาธารณสุขประชาชน เช่นการระบาดของ H5N1 ในสัตว์ปีก และคนในประเทศฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ.2540 และ H7N7 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ.2546 การที่ไข้หวัดนกจะเกิดการระบาดใหญ่ในคนได้นั้น ไวรัสต้องมีความสามารถที่จะติดต่อจากคนสู่คนได้ และหลายครั้งที่การระบาดใหญ่เกิดจากการที่ไวรัสมีชิ้นโปรตีน HA ต่างจากเดิม ซึ่งโปรตีนนี้มีส่วนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมาจดจำ ดังนั้นถ้าประชากรส่วนมากไม่เคยเจอไวรัสนี้ในอดีตก็จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นั้นๆ ดังตัวอย่างการระบาดครั้งล่าสุดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี พ.ศ.2552 ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนและการกลายพันธุ์ของสายพันธุกรรมจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ของสัตว์ปีก คน และ หมู
สำหรับสายพันธุ์ที่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อจากสัตว์ปีกมายังมนุษย์เป็นครั้งคราวได้แก่ H5, H7, H9 ซึ่งคนกลุ่มนี้จะพบว่ามีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกหรืออาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีการระบาด โดยส่วนมากไวรัสทั้งสามสายพันธุ์นี้เป็นไวรัสชนิดก่อโรคไม่รุนแรง ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการใดเลย หรืออาจมีอาการคล้ายติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างไรก็ตามไวรัส H5 และ H7 บางสายพันธุ์เท่านั้นที่เป็นชนิดก่อโรครุนแรง และทั้งสองสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่พบว่าก่อโรคในมากที่สุดในฟาร์มสัตว์ปีกทั่วโลก รวมถึงมีหลายกรณีที่มีการกลายพันธุ์จากชนิดไม่รุนแรงมาเป็นชนิดรุนแรงได้ แต่ทั้งนี้ การกลายพันธุ์จะเกิดได้น้อยครั้งนัก นอกจากนี้การติดเชื้อของไข้หวัดนกสู่คนนั้นเกิดขึ้นได้แต่ไวรัสยังไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ได้มีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด ส่วนการบริโภคสัตว์ปีกที่ติดเชื้อนั้น แม้ยังไม่มีรายงานว่าไข้หวัดนกสามารติดสู่คนโดยการกินเนื้อสัตว์ปีก แต่มีคำแนะนำให้ปรุงอาหารที่ประกอบด้วยสัตว์ปีกให้สุกเพื่อเป็นการป้องกัน
รูปที่ 2 รายงานการติดต่อของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆสู่คน
การระบาดของไวรัสไข้หวัดนก H7N3 ในฟาร์มสัตว์ปีกของประเทศเม็กซิโก
สำหรับไข้หวัดนก H7N3 ที่แพร่ระบาดในรัฐจาลิสโค (รูปที่ 3) ซึ่งมีการทำฟาร์มไก่มากที่สุดของประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2555 นั้นได้สร้างความตื่นตัวกับประเทศเม็กซิโกและประชากรโลกอีกครั้ง เนื่องจากเป็นสถานที่กำเนิดเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พ.ศ.2552 ที่ระบาดใหญ่ทั้วโลกเมื่อปี พ.ศ.2552 แต่ครั้งนี้เป็นการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 ในสัตว์ปีกครั้งแรกของประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีลักษณะต่างกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พ.ศ.2552 (H1N1) คือ ความแตกต่างทางพันธุกรรมของยีนที่สร้างโปรตีนบนพื้นผิวของไวรัสได้แก่ HA และ NA อย่างไรก็ตามเมื่อปี พศ. 2547 ได้มีการระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์เดียวกันในประเทศแคนาดา มีการตรวจยืนยันว่าคนทำหน้าที่ทำลายไก่ติดเชื้อติดป่วย 2 คน รายหนึ่งติดไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N3 ชนิดรุนแรง HPAI อีกรายเป็นแบบไม่รุนแรง ทั้งสองมีเยื่อตาอักเสบ ส่วนรายหนึ่งมีอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบร่วมด้วย คนงานกลุ่มนี้ที่ไม่ได้รับการตรวจ อีก 10 คนมีอาการทางระบบหายใจและเยื่อตาอักเสบ แต่ยังไม่มีหลักฐานจากการระบาดครั้งนี้ว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่คน
รูปที่ 3 แผนที่ระบุที่ตั้งของรัฐจาลิสโค ประเทศเม็กซิโก ที่มีการระบาดไข้หวัดนก H7N3 (http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b0/Jalisco_en_M%C3...)
การระบาดของไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7 สู่คนในอดีต
เมื่อย้อนดูจากอดีตแล้วพบว่ามีการระบาดของ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7 อย่างสม่ำเสมอในสัตว์ปีก โดยสายพันธุ์ที่ระบาดนั้นมีการรายงานว่าเป็นแบบไม่รุนแรง (N1-4, N7 และ 9) และแบบรุนแรง (N1, N3, N4 และ N7) รวมถึงมีการติดเชื้อมายังคนด้วย แม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมาก แต่ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการคล้ายไข้หวัดเช่นมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ และมีน้ำมูก นอกจากนั้นยังมีเยื่อตาอักเสบและอาการท้องเสียร่วมด้วยแต่น้อยครั้งนักที่จะถึงแก่ชีวิต องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้รักษาอาการโดยยาต้านไวรัส Oseltamivir เพื่อลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
ตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก H7 ในฟาร์มสัตว์ปีกเป็นวงกว้าง เริ่มจากทวีปยุโรปมายังส่วนอื่นๆ ของโลก รวมถึงรายงานว่ามีคนติดเชื้อจากสัตว์ปีกเป็นครั้งคราวในช่วงการระบาดตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา แต่การระบาดในสัตว์ปีกครั้งที่รุนแรงที่สุดคือการระบาดของ H7N7 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ.2543 ซึ่งมีการสูญเสียสัตว์ปีกไปมากกว่า 30 ล้านตัว และมีคนดูแลสัตว์ปีกติดเชื้อ 89 ราย และอีก 3 รายที่มีความเป็นไปได้ที่อาจได้รับการติดเชื้อจากคนทำงานในฟาร์มสู่คนในครอบครัว แต่ผู้ป่วยมีเพียงอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา และ/หรือ เยื่อตาอักเสบ ยกเว้นสัตวแพทย์ผู้ดูแลการระบาด 1 ราย มีอาการปอดบวมรุนแรงซึ่งทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวและถึงแก่ชีวิตในที่สุด
การปรับตัวของไวรัสไข้หวัดนกและการกลายพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้น
จากการที่ก่อโรคไม่รุนแรง มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง ได้หลังจากติดเชื้อในสัตว์ปีกหลายประเภท จึงความกังวลว่าไวรัสไข้หวัดนกอาจมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมซึ่งทำให้เกิดการระบาดในคนได้ จึงทำให้มีการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของโปรตีนบนเปลือกของอนุภาคไวรัสที่สำคัญสองตัวคือ HA และ NA เพื่อหาความเปลี่ยนแปลงของสายพันธุกรรมที่ทำให้ไวรัสอาจมีความสามารถในการก่อโรคเปลี่ยนแปลง เนื่องจากโดยปกติแล้วสัตว์แต่ละชนิดก็จะมีไวรัสที่ปรับตัวให้เพิ่มจำนวนได้ดีกับสัตว์ชนิดนั้นๆ ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสข้ามสปีชีส์ก็จะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักโดยโปรตีน HA จะช่วยให้ไวรัสเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์เป้าหมายผ่านทางตัวรับบนผิวเซลล์ ซึ่งมีความจำเพาะต่างกันระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนและไวรัสไข้หวัดนก ในขณะที่ NA มีความสำคัญต่อการปลดปล่อยลูกหลานไวรัสหลังจากการเพิ่มจำนวนเสร็จสิ้น โดยจำนวนกรดอะมิโนที่หายไปจะทำให้ความสามารถในการเพิ่มจำนวนของไวรัสดีขึ้น
แต่หลังจากการกลายพันธุ์เกิดแล้วไวรัสจะก่อโรคในคนรุนแรงขึ้นหรือไม่นั้นไม่สามารถชี้ชัดได้ เพราะแม้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะก่อโรครุนแรงในสัตว์ปีก แต่เมื่อติดต่อมาสู่คนแล้วความสามารถในการก่อโรคไม่จำเป็นต้องรุนแรงเสมอไป เป็นที่น่าสังเกตว่าไวรัสไข้หวัดนกที่ข้ามมาก่อโรคในคนแล้วก่อให้เกิดอาการรุนแรงนั้นมักเป็นไวรัส HPAI ซึ่งน่าจะมาจากการที่มีไวรัสจำนวนมากแพร่ออกมาจากสัตว์ปีกติดเชื้อสู่คน อย่างไรก็ตามเป็นการยากที่จะทำนายความสามารถของไวรัสไข้หวัดนกว่าจะเกิดการระบาดใหญ่ในคนได้หรือไม่ แต่จากรายงานในอดีตนั้นพบว่าความสามารถในการติดต่ออจากคนสู่คนนั้นเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากความแตกต่างของโปรตีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนและไวรัสไข้หวัดนกยังมีอยู่มาก ดังนั้น การระบาดของไข้หวัดนก H7N3 ในฟาร์มสัตว์ปีก จึงสร้างความตระหนกในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ไม่ให้มีการแพร่ระบาดในมนุษย์
การปฎิบัติตนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
ถึงแม้ว่าไข้หวัดนกทั่วไปเช่น H5N1, H7N7, H9N2 จะติดต่อสู่คนทั่วไปได้ค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาสุขอนามัยนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างสม่ำเสมอเพราะเป็นสิ่งทุกคนสามารถปฏิบัติและควบคุมด้วยตนเองได้ การดูแลที่ถูกต้องไม่เพียงจะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลได้ แต่ยังจะสามารถป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างข้อปฏิบัติที่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้แก่
- การหมั่นล้างมืออย่างเหมาะสมและทั่วถึง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันและทานอาหารที่ปรุงสุกที่มีคุณค่าครบถ้วน
- เมื่อมีอาการป่วยด้วยไข้หวัด ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนทำงานบริษัทที่อยู่รวมกันในห้องปรับอากาศ เพราะอากาศจะไม่ถ่ายเท หรือถ้ามีอาการหนักควรพักผ่อนอยู่กับบ้าน ควรล้างมือให้บ่อยขึ้น และรักษาความสะอาดเพื่อสมาชิกในครอบครัวจะได้ไม่ติดเชื้อไปด้วย
- ผู้ที่ใช้การขนส่งสาธารณะควรคำนึงเสมอว่ามีโอกาสสัมผัสเชื้อได้มากทั้งการขึ้นรถตู้ที่อากาศไม่หมุนเวียน รถเมล์ หรือการใช้รถไฟฟ้าที่ผู้โดยสารต้องจับราวเพื่อการทรงตัว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่คนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการจับราวบันใดเลื่อน นอกจากนี้การหยิบจับใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันนั้นเป็นช่องทางหนึ่งที่อาจเกิดการติดต่อของเชื้อไข้หวัดได้ มีการศึกษาว่าไวรัสที่อยู่บนธนบัตรนั้นสามารถติดเชื้อต่อได้เป็นเวลา 1-2 วัน อย่างไรก็ตามวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นการรักษาความสะอาดมือ ถ้าไม่สามารถหาที่ล้างมือได้ก็ควรใช้เจลแอลกอฮอลล์ล้างมือ
- ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำการดูแลความสะอาดให้แก่บุตรหลาน เพราะโรงเรียนนั้นเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จะเกิดการติดต่อของเชื้อไข้หวัดระหว่างเด็กได้อย่างง่ายดาย
ส่วนสำหรับผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ปีก นอกจากควรจะมีวิธีดูแลตนเองดังข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องรักษาสุขอนามัยเป็นพิเศษรวมทั้งการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะมีความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกแม้ว่าจะมีอาการปรากฎหรือไม่ก็ตาม อาจทำให้เกิดการแลกสายพันธุ์ระหว่งไข้หวัดใหญ่คนและไข้หวัดนก เกิดกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ได้ ตัวอย่างกิจกรรมที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เช่นการฆ่าสัตว์ปีกในสถานที่ไม่มีการควบคุมซึ่งอาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายติดสัตว์ปีกตัวอื่นๆหรือคนได้ นอกจากนี้ควรรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ รองเท้า ชุดที่ใส่เข้าไปบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ปีกและสวมหน้ากากป้องกัน
สรุป
การระบาดของไข้หวัดนกนั้นสร้างความเสียหายให้แก่การค้าและส่งออกสัตว์ปีกของหลายประเทศ แต่ไม่มีใครสามารถควบคุมเส้นทางอพยพของนกหรือนกป่าที่อาจนำเชื้อไข้หวัดนกที่อาจมาแพร่ระบาดได้ ดังนั้นมาตรการป้องกันในฟาร์มสัตว์ปีกหรือการควบคุมการขนส่งสัตว์ปีกระหว่างประเทศ รวมถึงระหว่างฟาร์มสัตว์ปีกไปยังโรงฆ่าสัตว์หรือตลาดค้าสัตว์ปีก จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการลดความเสี่ยงในการนำเชื้อไข้หวัดนกเข้ามาในหมู่สัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ การดูแลรักษาความสะอาด การทำการฆ่าเชื้อในโรงเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนกมาสู่คนเป็นครั้งคราว แต่การติดเชื้อนั้นมักเกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วย โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการหรือมีอาการคล้ายการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและอาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่ความสามารถของเชื้อไข้หวัดนกในการติดต่อระหว่างคนสู่คนยังต่ำมาก ส่วนการบริโภคสัตว์ปีกนั้นไม่ควรเป็นกังวลว่าจะมีการติดเชื้อไข้หวัดนก เนื่องจากความร้อนสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เพื่อเป็นการป้องกันควรจะบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่แน่ใจว่าปรุงสุกดีแล้ว การระบาดของไข้หวัดนก H7N3 ในเม็กซิโกในปีนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นอกจากจะสูญเสียทางเศรษฐกิจในธุรกิจสัตว์ปีกของเม็กซิโก แล้วยังทำให้องค์กรทางสาธารณสุขทั่วโลกได้ตระหนักและเร่งรับมือเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาดสัตว์สู่คนได้
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ในการสนับสนุนผู้เขียน ในโครงการทุนศาสตราจารย์ดีเด่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งประเทศไทย ทุนมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (HR1155A-55) ทุนจุฬา 100 ปี และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- อ่าน 4,256 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้