โรคมือ เท้า ปาก พ.ศ.๒๕๕๕
กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ
กรณีการเสียชีวิตจาก “โรคมือ เท้า ปาก” ของชาวกัมพูชามากกว่า ๕๐ ราย ก่อให้เกิดความตื่นตัวอย่างมากในสังคมไทย
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงจากตัวผู้ป่วย หรือจากเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม และโรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ ๑-๕ ขวบ เป็นโรคที่พบอยู่เป็นประจำถิ่นในบ้านเรา และมีการแพร่ระบาดเป็นครั้งคราวในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนชั้นอนุบาล และโรงเรียนชั้นประถมศึกษา
ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปากในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง พบผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยมาก และพบไม่บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กโตและผู้ใหญ่มักติดเชื้อดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วัยเด็ก
โรคมือ เท้า ปาก เคยระบาดที่ไหนบ้าง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ กล่าวถึงกลุ่มอาการโรคมือ เท้า ปาก ว่าไม่ใช่โรคใหม่ แต่รู้จักกันมานานมากกว่า ๕๐ ปีแล้ว
ไวรัสที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการมือ เท้า ปาก ไม่ได้เกิดจากไวรัสชนิดเดียวแต่มีมากกว่า ๑๐ สายพันธุ์
สำหรับการระบาดใหญ่ของกลุ่มอาการโรคมือ เท้า ปาก พบว่ามีรายงานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๕๕ มีดังนี้
พ.ศ.๒๕๔๐ มาเลเซีย (เสียชีวิต ๓๑ ราย) พ.ศ.๒๕๔๑ ไต้หวัน (ผู้ป่วย ๑.๕ ล้านราย เสียชีวิต ๗๘ ราย)
พ.ศ.๒๕๕๐ อินเดีย (ผู้ป่วย ๓๘ ราย) และ พ.ศ.๒๕๕๑ อินเดีย (ผู้ป่วย ๒๕,๐๐๐ ราย เสียชีวิต ๔๒ ราย) สิงคโปร์ (ผู้ป่วยมากกว่า ๒,๖๐๐ ราย) เวียดนาม (ผู้ป่วย ๒,๓๐๐ ราย เสียชีวิต ๑๑ ราย) มองโกเลีย (ผู้ป่วย ๒,๖๐๐ ราย) และบรูไน (ผู้ป่วย ๑,๐๕๓ ราย)
พ.ศ.๒๕๕๒ จีน (ผู้ป่วย ๑๑๕,๐๐๐ ราย เสียชีวิต ๘๕ ราย) และ พ.ศ.๒๕๕๓ จีน (ผู้ป่วย ๑.๖ ล้านราย เสียชีวิต ๕๓๗ ราย)
พ.ศ.๒๕๕๔ เวียดนาม (ผู้ป่วย ๔๒,๐๐๐ ราย เสียชีวิต ๙๘ ราย) และจีน (ผู้ป่วย ๑.๓ ล้านราย เสียชีวิต ๔๓๗ ราย)
พ.ศ.๒๕๕๕ กัมพูชา (เสียชีวิต ๕๒ ราย) จีน (ผู้ป่วย ๔๖๐,๐๐๐ ราย เสียชีวิต ๑๑๒ ราย) ไทย (ผู้ป่วย ๑๖,๘๖๐ ราย เสียชีวิต ๑ ราย)
ประเทศไทยเกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใด
กลุ่มอาการโรคมือ เท้า ปาก ที่พบในประเทศไทย เกิดจากไวรัสหลายสายพันธุ์ ดังนี้
พ.ศ.๒๕๕๑ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสเอนเทอโร ๗๑ สายพันธุ์ C4 (enterovirus71-C4 เรียกสั้นๆ ว่า EV71-C4)
พ.ศ.๒๕๕๒ มีไวรัสเด่น ๒ ตัวคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสเอนเทอโร ๗๑ สายพันธุ์ C4 และไวรัสค็อกแซกกี สายพันธุ์ A16 (coxsackie A16 เรียกสั้นๆ ว่า CA16)
พ.ศ.๒๕๕๓ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสค็อกแซกกี สายพันธุ์ A16
พ.ศ.๒๕๕๔ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสเอนเทอโร ๗๑ สายพันธุ์ B5 (enterovirus71-B5 เรียกสั้นๆ ว่า EV71-B5)
พ.ศ.๒๕๕๕ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับเชื้อไวรัสค็อกแซกกี สายพันธุ์ A6 (coxsackie A6 เรียกสั้นๆ ว่า CA6) และมีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับเชื้อไวรัสเอนเทอโร ๗๑ สายพันธุ์ B5 (enterovirus71-B5 เรียกสั้นๆ ว่า EV71-B5)
ที่ผ่านมามีผู้ป่วย “โรคมือ เท้า ปาก” เสียชีวิตทุกปี และเชื้อไวรัสตัวที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตคือ เอนเทอโรไวรัส ๗๑ (ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้แก่ สมองอักเสบ ภาวะปอดบวมน้ำ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นจากเอนเทอโรไวรัส ๗๑ แล้วเสียชีวิต
อาการของโรคมือ เท้า ปาก
เชื้อที่เป็นสาเหตุโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้หลายชนิดเรียกว่ากลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่พบบ่อยคือ ไวรัสค็อกแซกกี เอ หรือบี และไวรัสเอนเทอโร ๗๑ ซึ่งเป็นเชื้อที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรง
อาการโรคมือ เท้า ปาก สามารถพบได้หลายลักษณะ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่มีบางส่วนที่เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนี้
๑. อาการของโรคมือ เท้า ปาก (Hand foot and mouth disease) โดยอาจมีไข้นำมาก่อน จากนั้นอีก ๑-๒ วันต่อมามีแผลในปากซึ่งมีลักษณะคล้ายแผลร้อนใน แต่มักมีหลายแผล ส่วนใหญ่พบที่บริเวณคอหอย หรือใกล้ต่อมทอนซิล หากเป็นมากจะลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม ไม่กินอาหารเพราะเจ็บ อาจมีน้ำลายไหล ร่วมกับพบตุ่มเล็กๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหายได้เอง เด็กบางรายมีเพียงแผลที่มือ เท้า และปากโดยไม่มีไข้
๒. อาการของโรคแผลในคอหอย (Herpangina) เด็กมีแค่แผลในปากอย่างเดียว ลักษณะแผลในปากเหมือนในกลุ่มที่มีอาการของโรคมือ เท้า ปาก แต่ไม่มีตุ่มน้ำที่มือและเท้า ส่วนไข้อาจมีหรือไม่มีก็ได้
๓. กลุ่มอาการรุนแรง ซึ่งมักมีอาการไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ ๓๙ องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก หรือแขนขาอ่อนแรง สั่น หรือไม่รู้สึกตัว (เนื่องจากสมองอักเสบ) นอกจากนี้ เด็กอาจมีอาการหอบเหนื่อย (เนื่องจากภาวะปอดบวมน้ำ) หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ (เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ) โดยที่เด็กอาจมีแผลหรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ปาก หรือไม่มีก็ได้ โดยอาการจะเกิดค่อนข้างเร็วภายใน ๒-๓ วัน
กลุ่มที่เสี่ยง วัยเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุต่ำกว่า ๕ ปี มักพบการระบาดในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ในรายที่รุนแรงมักพบในเด็กเล็กมากๆ เช่น อายุ ๑ ปีหรือน้อยกว่า จนถึงอายุ ๓ ปี แต่เด็กโตก็พบได้บ้าง
การติดต่อ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กๆ สัมผัสของเล่นหรือสิ่งของอื่นๆ ที่เปื้อนน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย จากนั้นใช้มือซึ่งสัมผัสเชื้อเหล่านั้นมาหยิบขนมหรืออาหารเข้าปาก นอกจากนี้อาจเกิดจากการแพร่ผ่านอุจจาระของเด็กที่ป่วยซึ่งเชื้อจะออกมากับอุจจาระมากที่สุดในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย
การรักษา
ขณะนี้โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ก็ให้ยาพาราเซตามอลลดไข้และเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา นอนพักมากๆ กินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้มากๆ ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน ๗-๑๐ วัน
เชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัสนี้เป็นเชื้อที่ค่อนข้างทนทาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเย็นหรือชื้นแฉะเชื้ออาจอยู่ได้เป็นเดือน
นอกจากนี้ การทำลายเชื้อต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วๆ ไปบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์และแอลกอฮอล์เจลใช้ป้องกันไวรัสไข้หวัดได้ แต่สำหรับเชื้อไวรัสเอนเทอโร แอลกอฮอล์ไม่มีผลโดยตรง
สิ่งที่ควรปฏิบัติ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) คือ เน้นการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธี และบ่อยๆ (แต่ละครั้งล้างนานพอสมควร บางคนใช้วิธีการร้องเพลง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่าฯ จำนวน ๑ เที่ยวเป็นอย่างน้อย) ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังการเตรียม/ปรุงอาหาร หลังขับถ่าย หลังหยิบจับของเล่นและใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
๑. ในกรณีที่เด็กในบ้านยังไม่ป่วย
- พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรแนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลแก่บุตรหลาน และผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก
- คำแนะนำสำหรับเด็ก ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย ก่อนกินอาหาร หรือเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย
- คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลเด็ก ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย รวมทั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก หลังการช่วยล้างก้นให้แก่เด็กเล็กที่เพิ่งขับถ่าย หรือสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของเด็ก เช่น น้ำมูก น้ำลาย
- แนะนำให้บุตรหลานหลีกเลี่ยงการเล่น หรือคลุกคลีกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก
- ไม่นำเด็กเล็กไปในที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ และควรให้อยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี
- พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยตรวจดูอาการของบุตรหลานทุกวัน หากมีแผลในปากหลายแผล โดยเฉพาะถ้าเจ็บมากจนทำให้ไม่ค่อยกินอาหาร ให้ช่วยแจ้งแก่โรงเรียนเพื่อให้มีการดำเนินการควบคุมโรคที่เหมาะสม
- สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กไปต่างประเทศที่มีการระบาด สามารถเดินทางได้ตามปกติ โดยให้ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงพาบุตรหลานไปสถานที่แออัด และหากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือ เท้า ปาก ให้พาไปพบแพทย์
๒. กรณีที่เด็กในบ้านมีอาการป่วย
- แยกของใช้เด็กที่ป่วยไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน-ส้อม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ และแปรงสีฟัน ดูแลให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปทิ้งในโถส้วม
- ทำความสะอาดพื้นห้องและพื้นผิวอื่นๆ ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ รวมถึงห้องสุขาและห้องน้ำ โดยล้างด้วยน้ำและผงซักฟอก แล้วตามด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ ไฮยีน คลอร็อกซ์ (ต้องใส่ถุงมือเมื่อสัมผัสน้ำยาเหล่านี้) โดยผสมตามฉลากปิดข้างขวด ทิ้งไว้ ๑๐ นาที ก่อนล้างออกด้วยน้ำให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของที่มีการนำเข้าปาก เช่น ของเล่น แก้วน้ำ ช้อน ล้างด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกแล้วนำไปตากแดดหรือเช็ดให้แห้ง
- แยกเด็กที่ป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ ทั้งเพื่อนบ้าน และพี่น้องที่อยู่ในบ้านเดียวกัน เช่น การกอดรัด การเล่นของเล่นที่เปื้อนน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีน้องเล็กๆ อายุ ๑-๒ ปีหรือน้อยกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง ไม่นำเด็กไปในที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี
- ขอให้เด็กหยุดเรียนเป็นเวลา ๗ วันนับจากวันเริ่มมีอาการ (ถึงแม้ว่าเด็กอาจมีอาการดีขึ้นก่อนครบ ๗ วัน) หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง อาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก หรืออาการแย่ลง ต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
๑. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ จากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- อ่าน 1 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้