• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาย... จากยาฝ้า?

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวไฮโซเขมรเสียชีวิตจากยาทาฝ้า เนื้อข่าวโดยย่อๆ ดังนี้

"...หญิงสาวชาวเขมรที่เสียชีวิตอายุ ๒๓ ปี บิดาผู้เสียชีวิตเปิดเผยว่า ลูกสาวตนกำลังจะแต่งงานจึงไปซื้อครีมลอกผิว หรือครีมทาผิวขาว ยี่ห้อเป็นภาษาเวียดนามอ่านว่า "เบ๋าดั๋ม" มาทาทั่วตัวเพื่อต้องการให้ผิวขาว หลังทาครีมทิ้งไว้ประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็เกิดอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ผิวลอกออกมาเป็นแผ่นๆ และหมดสติ ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในที่สุด แพทย์ระบุสาเหตุการตายว่า ตับวายเฉียบพลันจากการแพ้ครีมอย่างรุนแรง เนื่องจากครีมผสมสารปรอทด้วยทำให้ร่างกายดูดซึมสารปรอทเข้าไปมาก..."

ช่วงนี้ถึงแม้จะเข้าใกล้ฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่อากาศเมืองไทยก็ยังร้อนอบอ้าวเป็นระยะๆ ส่งผลให้บางคนมีฝ้าเข้มขึ้น จึงขอถือโอกาสเล่าเรื่องครีมทาฝ้า
 

ยาทารักษาฝ้า
ยาทารักษาฝ้าที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่
๑. ไฮโดรควิโนน (hydroquinone)
ไฮโดรควิโนนเป็นยารักษาฝ้าที่ใช้บ่อยที่สุด มีคุณสมบัติทำให้การผลิตเม็ดสีเมลานินน้อยลง การใช้ในสตรีมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย การใช้ยาอาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น

ข้อควรระวังคือ ก่อนใช้ยาทาอาจทดสอบโดยทาผิวที่ไม่มีรอยแตก หากเกิดอาการคัน มีตุ่มน้ำใส และ/หรือผิวอักเสบแดง ไม่ควรใช้ยา ในการทายาต้องระวังไม่ให้สัมผัสนัยน์ตา ห้ามใช้ยาเพื่อป้องกันผิวไหม้แดด ถ้าใช้ยาทานาน ๒ เดือนแล้วฝ้าไม่จางลงให้งดยาตัวนี้ ในบางราย (พบน้อย) ฝ้าอาจเข้มขึ้นเป็นสีดำ-น้ำเงิน ก็ให้หยุดยาเช่นกัน การใช้ยาทาตัวนี้ให้ใช้เฉพาะใบหน้า คอ มือ หรือแขน

ผลแทรกซ้อนคือ ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสทั้งชนิดจากการแพ้และจากการระคายเคือง เกิดปฏิกิริยาแพ้แสงแดดที่อาจมีผื่นผิวหนังเป็นรอยดำหลังการอักเสบตามมา และที่พบได้ยากคือเกิดฝ้าถาวร

ครีมทาฝ้าที่มีส่วนผสมของ "ไฮโดรควิโนน" จัดเป็น "ยา" จะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
สำหรับสารโมโนเบ็นซิล อีเทอร์ ออฟ ไฮโดรควิโนน (monobenzyl ether of hydroquinone, MBEH) ต่างกับไฮโดรควิโนนตรงที่ MBEH ทำให้เกิดรอยด่างถาวร ในทางการแพทย์จึงไม่ใช้ MBEH รักษาฝ้า เพราะนอกจากทำให้เกิดรอยด่างขาวในตำแหน่งที่สัมผัสสารแล้ว ยังเกิดรอยด่างขาวในตำแหน่งอื่นๆ ที่ห่างออกไปอีก กรณีเดียวที่ใช้คือ ใช้ทำลายเม็ดสีในตำแหน่งที่มีสีผิดปกติในผู้ป่วยโรคด่างขาวที่เป็นกระจายทั่วตัวและดื้อต่อการรักษา เพื่อให้ผิวมีสีขาวทั้งตัวไม่มีหย่อมสีน้ำตาล ดังเช่นในกรณีของไมเคิล แจ๊กสัน

สารโมโนเมทิล อีเทอร์ ออฟ ไฮโดรควิโนน (monomethyl ether of hydroquinone) ก็มีรายงานว่าไม่ปลอดภัยเพราะทำให้เกิดจุดขาวแพร่กระจายได้

นอกจากนั้น ไม่ควรใช้สารปรอทมารักษาฝ้า สารตัวนี้มักตรวจพบในเครื่องสำอางปลอม  พิษปรอททำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง และอาจทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ ตับอักเสบ ตับวาย และระบบการหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ดังที่พบในผู้ป่วยรายที่เป็นข่าว  

                                                                                                                                                             
๒. กรดวิตามินเอ
ยาทารักษาฝ้ากลุ่มกรดวิตามินเอออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ผิวหนัง เร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีเม็ดสีเมลานินหลุดลอกออก มีการผสมสูตรยาฝ้าที่มีส่วนผสมของทั้งกรดวิตามินเอ สตีรอยด์ และไฮโดรควิโนน พบว่าได้ผลเร็วขึ้น การทายาตัวนี้อาจเริ่มที่ความเข้มข้นต่ำก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของยา นิยมทาวันละครั้งก่อนนอน การใช้ในสตรีมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย การใช้ยาอาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาตัวนี้

ภาวะแทรกซ้อนจากยาตัวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยารักษาสิว และสารทำให้ผิวลอกอื่นๆ เช่น เม็ดขัดถู เครื่องเทศ และมะนาว ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดคือ ผิวระคายเคือง  นอกจากนั้นยังทำให้ผิวแห้ง ผิวเห่อแดง แสบคัน ผิวลอกเป็นขุย และผิวด่างขาว หรือด่างดำ การโดนแสงแดดจัดยิ่งทำให้เกิดผิวไวแดดมากขึ้น ต้องระวังไม่ทายาบริเวณที่มีผิวหนังอักเสบ ห้ามใช้บริเวณเยื่อบุ ริมฝีปาก และร่องจมูก     

                                                                                           
๓. กรดอะเซเลอิก (Azelaic acid) 
เป็นยาฝ้ากลุ่มสารปฏิชีวนะมักออกฤทธิ์ต่อเม็ดสีที่ทำงานมาก จึงไม่ทำให้ผิวหนังที่มีเม็ดสีที่ทำงานปกติมีสีจางลง  ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาตัวนี้
ผลแทรกซ้อนคือ ทำให้ผิวระคายเคือง ผิวเห่อแดง คัน ปวดแสบปวดร้อน และลอกเป็นขุย


๔. สตีรอยด์อย่างเดียว
ทำให้ฝ้าจางได้โดยการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่ถ้าใช้นานๆ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผิวบาง หลอดเลือดฝอยขยาย เป็นสิว และขนบนใบหน้าดกขึ้น                                                                                                                                                                
๕. ยารักษาฝ้าสูตรใหม่ๆ เช่น กรดโคจิก (Kojic acid) วิตามินซี สารสกัดชะเอมเทศ ฯลฯ

 

สุขศึกษาที่ผู้เป็นฝ้าควรทราบ
.  ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด หรือใช้ยากันแดดร่วมด้วย

๒.  การทาครีมรักษาฝ้าให้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นฝ้าเท่านั้น ไม่ต้องทาทั่วหน้า 

การรักษาฝ้ากินเวลานาน ฝ้าในสตรีเอเชียมักเป็นเรื้อรัง ไม่หายขาด และไม่พบโอกาสที่จะหายไปได้เองเหมือนในชาวตะวันตก การทาเครื่องสำอางเพื่อปกปิดรอยฝ้าที่อยู่ในรูปเมกอัพ อาจเป็นทางเลือกทางหนึ่ง

. การรักษาฝ้าในสตรีมีครรภ์มักแนะนำให้รอจนคลอดแล้วจึงรักษา เพราะฝ้าในสตรีมีครรภ์ดื้อต่อการรักษา เนื่องจากมีปัจจัยจากฮอร์โมนร่วมด้วย และส่วนใหญ่หลังคลอดฝ้าจะจางลงเอง อีกทั้งยารักษาฝ้าหลายตัวไม่ปลอดภัย หรือยังไม่ระบุความปลอดภัยหากใช้ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
 
 

ข้อมูลสื่อ

374-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 374
มิถุนายน 2553
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร