• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กันเกรา : สุดยอดของความหอมและเนื้อไม้

กันเกรา : สุดยอดของความหอมและเนื้อไม้


คํ่าคืนหนึ่งเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งสนทนากับแขกและเพื่อนร่วมงานที่นอกชานบ้านทรงไทยของมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งล้อมรอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด คืนนั้นอากาศร้อนอบอ้าวและลมอับไม่พัดมาจากทางใต้ตามฤดูกาลเหมือนคืนก่อน แม้ถึงจะไม่มีลมพัดเลย แต่กลิ่นหอมหวานของดอกไม้ชนิดหนึ่ง ก็ยังล่องลอยอบอวลอยู่ทั่วบริเวณบ้าน จนแขกที่มาเยี่ยมถึงกับออกปากถามว่าเป็นกลิ่นของดอกไม้ชนิดใด ทำไมจึงหอมหวานและหอมแรงถึงปานนแขกที่มาเยี่ยมบ้านทรงไทยใน ยามค่ำคืนมักมีคำถามถึงกลิ่นหอมของดอกไม้เสมอ เพราะรอบๆ บ้าน หลังนี้ปลูกไม้ดอกหอมเอาไว้หลาย (สิบ) ชนิด จึงไม่ค่อยว่างเว้นกลิ่นหอมเลยตลอดทั้งปี บางคืนก็มีหลายกลิ่น พร้อมๆกัน เปลี่ยนไปตามทิศทางของลม การตอบคำถามว่าเป็นกลิ่นของดอกไม้ชนิดใดจึงค่อนข้างยาก แต่สำหรับคืนต้นเดือนพฤษภาคมที่ลมอับที่มีกลิ่นหอมหวานตลบอบอวลทั่วบริเวณอย่างนี้ นับว่าง่ายมากที่จะ บอกว่าเป็นกลิ่นของดอกอะไร เพราะมีดอกไม้ที่อยู่ในข่ายความเป็นไปได้ เพียง ๒ ชนิด แต่ชนิดหนึ่งกลิ่นหอมออกไปทางฉุน นั่นคือ ดอกราตรี ส่วนที่หอมแรงและอ่อนหวาน ชื่นใจมีเพียงดอกกันเกราเท่านั้น

กลิ่นกันเกราในค่ำคืนนั้นทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงคืนแรกที่ผู้เขียนได้สัมผัสกลิ่นหอมนี้ เมื่อเกือบ ๒๐ ปี ที่ผ่านมา ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ จำได้ว่าเพื่อนร่วมงาน พาผู้เขียนเดินทางดูงานพัฒนาชนบทในภาคอีสาน วันนั้นเราเดินทางจนมืดค่ำ จึงเข้าเขตหมู่บ้านที่จะพักค้างคืน แต่ขณะที่รถยนต์ของเราเข้าใกล้หมู่บ้านนั้นเอง กลิ่นหอมหวานที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เข้ามา ปกคลุมจนตลอดทางถึงในตัวหมู่บ้าน ด้วยความแปลกใจผู้เขียนจึงพยายามสอบถามชาวบ้าน จนได้รับคำตอบว่าเป็นกลิ่นของดอกมันปลาที่ผู้เขียนไม่เคยได้ยินมาก่อน วันรุ่งขึ้นผู้เขียนจึงขอให้ชาวบ้านพาออกไปดูต้นมันปลา ซึ่งพบว่ามีอยู่เพียงต้นเดียวขึ้นอยู่ห่างหมู่บ้านออกไปนับร้อยเมตร ไม่น่าเชื่อว่าจะส่งกลิ่นหอมแรงไปได้กว้างไกลถึงเพียงนั้น ต่อมาไม่นานผู้เขียนจึงทราบว่า กันเกราของภาคกลางกับมันปลาของภาคอีสานคือต้นไม้ชนิดเดียวกัน เมื่อมูลนิธิข้าวขวัญปลูกเรือนทรงไทย นอกจากบรรดาไม้มงคลชนิดต่างๆ ที่กำหนดโดยตำราปลูกบ้านแล้ว ผู้เขียนยังไม่ลืมหากล้าไม้กันเกราเอา มาปลูกไว้ในเขตรอบนอกของบริเวณ สวนไม้หอม แม้จะมีผู้บอกว่ากันเกราเป็นไม้เนื้อแข็งโตช้าต้องใช้เวลาหลาย ปีกว่าจะออกดอกให้หอมชื่นใจก็ตาม

กันเกรา : ไม้ดอกพื้นบ้านดั้งเดิมของคนไทย

กันเกราเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นสูงเต็มที่ราว ๒๐-๓๐ เมตร พบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทยบริเวณที่ลุ่ม ริมน้ำ หรือป่าดิบ พบมากบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ กันเกรามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea fragrans Roxb. อยู่ในวงศ์ Loganiaceae (บางตำราว่าอยู่ในวงศ์ Potaliaceae) ลำต้น มีเปลือกหยาบ สีน้ำตาลปนดำ แตก ระแหงเป็นร่องไม่เป็นระเบียบ ปลายกิ่งห้อยลง ใบออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ใบสีเขียวแก่ค่อนข้างหนา รูปทรงยาวรี ปลายใบแหลม โคนใบเรียว เป็นครีบไปตามก้าน ใบยาวราว ๘-๑๒ เซนติเมตร กว้างยาว ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร ก้านใบยาว ๑-๒ เซนติเมตร

ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง เมื่อดอกบานใหม่ๆ เป็นสีขาว แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกเป็นรูปแตรหลอดยาว ราว ๑ เซนติเมตร ปลายหลอดเป็นกลีบ ๕ กลีบ ปลายกลีบแบนมน ม้วนไปด้านหลัง มีเกสรตัวผู้ ๕ อัน ก้านเกสรตัวผู้ยาวพ้นปากดอกประมาณ ๑ เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกมีดอกย่อยอยู่รวมกันราว ๑๕-๒๕ ดอก ทยอยบานติดต่อกันหลายวัน ทำให้มีกลิ่นหอมอยู่ได้ราว ๗ วัน ดอกกันเกราเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมแรง และส่งกลิ่นไปได้ไกลที่สุดชนิดหนึ่ง แต่กลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ไม่ฉุนจัดเหมือนดอกราตรีที่หอมแรง และส่งกลิ่นไปได้ไกลเช่นเดียวกัน ผลกันเกรามีขนาดเล็กประมาณ ๐.๖ เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีแดง

กันเกรามีเนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ละเอียด แข็ง ทนทาน ป้องกันปลวกได้ดี คนไทยรู้จักกันเกราเป็นอย่างดีทุกภาค เพราะเป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยนี้เอง ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ กล่าวถึงกันเกราว่า  "กันเตรา : ต้นไม้อย่างหนึ่ง แก่นทำเสาทนนัก ใช้ทำยาแก้โรคบ้าง มีอยู่ในป่า" น่าสังเกตว่าในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ เรียกกันเกราว่า กันเตรา แต่สุนทรภู่เรียกชื่อในนิราศพระบาทว่ากันเกรา เช่นเดียวกับในลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ภาคเหนือและอีสานเรียก มันปลา ภาคใต้เรียก ตำเสา หรือทำเสา ส่วนภาษาอังกฤษเรียก Tembusa

ประโยชน์ของกันเกรา

เนื่องจากกันเกราเป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากกันเกราหลายด้านด้วยกัน ด้านใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ตำราประมวลสรรพคุณยาไทยว่า ด้วยพฤกษชาติฯ ของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ สำนักวัดพระเชตุพนฯ บรรยายสรรพคุณเอาไว้ว่า "แก่น : รสเฝื่อน ฝาด ขม เข้ายาบำรุงธาตุ แก้ไข้จับสั่น แก้หืด ไอ มองคร่อ (โรคชนิดหนึ่ง เสมหะแห้งอยู่ในลำหลอดปอด) ริดสีดวง ท้องมาน แน่น หน้าอก ลงท้องเป็นมูกเลือด แก้พิษ ฝีกาฬ บำรุงม้าม แก้เลือดลมพิการ เป็นยาอายุวัฒนะ เปลือกบำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปวดแสบปวดร้อน" ในตำราบางเล่มมีสรรพคุณเพิ่มเติมคือ "บำรุงร่างกาย แก้ปวด ตามข้อ แก้ไข้"

นอกจากแก่นแล้ว เปลือกของกันเกราก็ใช้ทำยาได้ แต่สรรพคุณน้อยกว่าแก่น หลายตำราจึงไม่ได้เอ่ยถึงสรรพคุณของเปลือกเลย เนื้อไม้กันเกรานับเป็นเนื้อไม้ชนิดดียิ่งอย่างหนึ่ง เพราะมีสีเหลืองอ่อน เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทน ทานมาก ทนปลวกได้ดี ตกแต่งง่าย ขัดเงาได้งดงาม เหมาะสำหรับทำพื้นบ้าน ทำเสาเรือน (มีบรรยายไว้ใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ว่า "แก่น ทำเสาทนนัก" และชื่อในภาคใต้คือต้นทำเสา) ทำเครื่องเรือน ทำโลงศพของชาวจีน (หีบจำปา) เหมาะแก่การแกะสลัก เป็นต้น มีชื่อทางการค้าในภาษาอังกฤษว่า Anan แต่มีจำหน่ายในตลาดน้อย เพราะค่อนข้างโตช้า และไม่ขึ้นเป็นป่าพื้นที่กว้างใหญ่เหมือนไม้เศรษฐกิจชนิดอื่น

ในประเทศไทยถือว่ากันเกราเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง แม้ไม่ระบุให้ใช้ปลูกรอบบ้านเรือนที่อยู่อาศัย แต่ใช้เป็นไม้เสาเข็มในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคาร ซึ่งเสาเข็มนี้มีไม้ ๙ ชนิด ไม้กันเกราเป็นไม้มงคลอันดับที่ ๓ เชื่อว่ากันเกราช่วยปกป้องคุ้มครองและป้องกันภยันตรายต่างๆ ได้ กันเกราเป็นต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ รูปทรงพุ่มงดงาม กล่าวคือ เมื่อยังไม่โตเต็มที่ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยปลายมน เมื่อโตเต็มที่แล้วทรงพุ่มค่อนข้างกลม ใบเขียวเข้มเป็นมัน ปลูกง่ายแข็งแรงทนทาน เหมาะปลูกในบริเวณบ้านหรือที่สาธารณะ ประกอบกับดอกที่มีกลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นไปไกล ทั้งยังหอมสดชื่นไม่ฉุน จึงน่าปลูกอย่างยิ่ง แม้กันเกราจะค่อนข้างโต้ช้า แต่หากผู้ปลูกเอาใจใส่บ้างพอสมควรก็จะได้ชื่นชม รูปทรง ร่มเงา และกลิ่นหอม ภายในเวลาไม่เกิน ๑๐ ปี แล้วหลังจากนั้นก็จะได้รับคุณค่าดังกล่าวจากกันเกราไปอีกนานแสนนาน

ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก : ไม้ต้นประดับ, คู่มือคนรักต้นไม้

ข้อมูลสื่อ

290-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 290
มิถุนายน 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร