• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระดังงา : กลิ่นที่ล้ำค่าเมื่อนำมาลนไฟ

ในภาษาไทยของเรามีถ้อยคำสำนวนที่คนไทยคุ้นเคย และใช้กันมานานอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีกำเนิดมาจากความช่างสังเกตของคนไทยที่มีต่อต้นไม้ ดอกไม้ โดยหยิบ เอาลักษณะเด่น หรือความพิเศษออกมาเปรียบเทียบกับลักษณะของอย่างอื่นหรือของมนุษย์ บางครั้งคนไทยปัจจุบันไม่รู้จักหรือคุ้นเคยกับต้นไม้หรือดอกไม้นั้นแล้ว แต่ยังคงคุ้นเคยและเข้าใจความหมายของสำนวนที่มาจากต้นไม้หรือดอกไม้นั้นได้ดีอยู่เช่นเดิม ตัวอย่างเช่น สำนวน "กระดังงาลนไฟ" คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายเชิงเปรียบเทียบของสำนวนนี้เป็นอย่างดี ว่ามีความหมายดังเช่นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ อธิบายเอาไว้ว่า "น. หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมา แล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าผู้หญิงที่ยังไม่เคยแต่งงาน"

สำนวน "กระดังงาลนไฟ" เป็นที่รู้จักและใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยทั้งในอดีตและคงทนมาจนถึงปัจจุบัน จนถึงกับมีผู้นำไปแต่งเป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมนำไป ขับร้องกันทั่วไป ท่อนหนึ่งของเนื้อร้องเพลงนี้ที่จดจำกันได้ดีคือ.... "ดอกเอ๋ย เจ้าดอกกระดังงา กลิ่นของเจ้าจะมีค่าเมื่อถูกนำมาลนไฟเอย..." จากสำนวนที่แพร่หลายในหมู่คนไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้คนทั่วไปรู้จักชื่อ ของกระดังงาเป็นอย่างดี แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่เคย รู้จักต้นกระดังงาเลยก็ตาม และคนไทยยังทราบว่าดอกกระดังงาจะมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษเมื่อถูกนำมาลนไฟ แม้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ ๙๐) ไม่เคยนำดอกกระดังงา มาลนไฟพิสูจน์สำนวนดังกล่าวเลยก็ตาม กระดังงาจึงเป็นต้นไม้หรือดอกไม้พิเศษอีกชนิด หนึ่งของคนไทย ที่แม้จะดูคุ้นเคย แต่ก็ห่างไกล เหมือนรู้จักดีแต่ก็ยังไม่รู้จัก หรืออะไรทำนองนั้น
 

กระดังงา : จากราวป่าสู่นาคร

กระดังงาเป็นชื่อรวมของไม้เถาหรือไม้ยืนต้นหลายชนิดในวงศ์ Annonaceae หรือวงศ์น้อยหน่า ที่มีน้อยโหน่ง น้อยหน่า และสายหยุด เป็นต้น ที่รู้จักกันดีในเมือง ไทยก็คือ กระดังงาไทย กระดังงาจีน กระดังงาป่า (การเวก) รวมถึงกระดังงาสงขลา เป็นต้น

* กระดังงาไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cananga odorata (Lamk.) Hook. f. & thomson เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ ๑๕-๒๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เรือนยอดทรงพุ่มแน่น ใบดกหนาทึบ เปลือกต้นสีเทาไม่เรียบ มีรอยแผลเป็นจากใบที่ร่วงไปแล้วอยู่ตลอดต้น ใบเดี่ยวสีเขียว เข้มกว้าง ๔-๗ เซนติเมตร ยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบบางนิ่ม ใบอ่อนมีขนทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่มีขนตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๑-๑.๕ เซนติเมตร ดอกมักออกเป็นช่อตามกิ่งเหนือรอยแผลใบหรือตามง่ามใบ ช่อหนึ่งๆ มีดอก ๓-๖ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบ ๖ กลีบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นนอก ๓ กลีบ ชั้น ใน ๓ กลีบ กลีบชั้นในจะเล็กและสั้นกว่าชั้นนอก กลีบเรียวยาว ประมาณ ๕-๙ เซนติเมตร ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น ลักษณะกลีบบิดม้วน มีเกสรตัวผู้จำนวนมากเบียดกันเป็นตุ้มแป้นทรงกลมตรง กลางดอก แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ก้านดอกมีขนยาว ๒-๕ เซนติเมตร ผลอยู่เป็นกลุ่ม ๕-๑๕ ผล ภายในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาล
 

แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของกระดังงาไทยอยู่ในป่าดิบชื้นบริเวณภาค ใต้ของไทย และยังพบในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดียตอนใต้ เป็นต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ของกระดังงาประกอบด้วยชื่อสกุล Cananga (คะนังงา) คงเป็น ชื่อพื้นบ้านของกระดังงาในแถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย แสดงว่าชื่อ กระดังงาในภาษาไทยมาจากชื่อใน ประเทศมาเลเซีย-อินโดนีเซีย (เช่น เดียวกับชื่อชมพู่ จำปาดะ ตะลิงปลิง เป็นต้น) ชื่อชนิด (species) odorata หมายถึงมีกลิ่นหอม ชื่อ ภาษาอังกฤษของกระดังงาไทยคือ Kenanga, Ylang ylang ส่วน ชื่อในภาษาไทยคือกระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ (ไทยภาคกลาง) สะบันงาต้น สะบันงา (ไทยภาคเหนือ) กระดังงา กระดังงอ (ไทย ภาคใต้)
 

คนไทยคงรู้จักคุ้นเคยกับกระดังงาไทยมานานแล้ว ดังเช่นหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอ ปรัดเล อธิบายว่า "กระดังงา : ชื่อต้นไม้อย่างหนึ่ง โตประมาณ  ห้ากำหกกำ ดอกสีเหลืองเป็นกลีบ ยาวๆ กลิ่นหอม"  แสดงว่า คนไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ หรือ ๑๔๐ ปีก่อนโน้นรู้จักกระดังงากันดีแล้ว
 

* กระดังงาจีน มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Artabotrys hexape-talus (L.f.) Bhan. อยู่ในวงศ์ Annonaceae เช่นเดียวกัน เป็น ไม้เถาขนาดใหญ่ มีถิ่นกำเนิดในพม่าและอินเดีย ลักษณะใบและดอกคล้ายกระดังงาไทย ภาคเหนือเรียกสะบันงาเครือ
 

* กระดังงาสงขลา มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Cananga  odorata (Lamk.) Hook. f. & Thomson var. fruticosa (Craib) J. Sincl. เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูง  ๑-๔ เมตร ทรงพุ่มโปร่ง ลักษณะ ลำต้น ใบ ดอก คล้ายกระดังงาไทยมาก แต่มีขนาดเล็กกว่า และหอมน้อยกว่ากระดังงาไทย
 

กระดังงาสงขลาเกิดที่บ้าน จะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้จากการเพาะเมล็ดกระดังงาไทย จึงถือว่ากลายพันธุ์มาจากกระดังงาไทย ชื่อพฤกษศาสตร์ทั้งสกุลและชนิดจึงเป็นชื่อเดียวกัน เพียงแต่แยกย่อยออกไป เป็นสายพันธุ์ย่อย (variety) เพิ่ม ขึ้น เนื่องจากเกิดที่จังหวัดสงขลาจึงเรียกกันทั่วไปว่ากระดังงาสงขลา ในภาคใต้เองเรียกว่ากระดังงาเบา
 

ประโยชน์ของกระดังงา
ในด้านสมุนไพร ส่วนใหญ่ใช้กระดังงาไทย เพราะรู้จักคุ้นเคยกับคนไทยมานานกว่า ทั้งนี้อาจใช้ กระดังงาสงขลาแทนก็ได้ เพราะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน

* ดอก : รสหอมสุขุม บำรุงเลือด บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลัง

* เนื้อไม้ : รสขมเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ

* เปลือก : รสฝาดเฝื่อน ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ท้องเสีย

* ใบ  : รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน แก้คัน ขับปัสสาวะ

* เกสร : แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ปถวีธาตุ แก้โรคตา ช่วยเจริญอาหาร

* ราก : คุมกำเนิด

ในดอกกระดังงามีน้ำมันหอมระเหยเรียกว่า" Ylang Ylang oil  " มีฤทธิ์ลดความดันเลือดสูง ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ ไล่แมลง ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้นยังนำไปใช้ในการรักษาแบบ aromatherapy แก้อาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ความดันเลือดสูง ปัญหาระบบทางเดินอาหารและ ปัญหาจิตใจเกี่ยวกับทางเพศ เป็นต้น

น้ำมันหอมระเหยจากกระดังงายังใช้ทำน้ำหอม แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ใช้แต่งกลิ่นขนมหรือ อาหารให้มีกลิ่นหอมน่ากินอีกด้วย

ในอดีตการนำดอกกระดังงา มาอบกลิ่นหอมให้แก่ขนมไทย ใช้วิธีนำดอกกระดังงาแก่จัดสดๆ มาลนเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมามากกว่าปกติ แล้วนำไปเสียบไม้ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท ๑ คืน นำน้ำนั้นไปคั้นกะทิ หรือ ทำน้ำเชื่อมปรุงขนมหวานต่อไป เทคนิควิธีการนำดอกกระดังงามาลนไฟเพื่อเพิ่มความหอมดังกล่าวมา นี้เองคงเป็นต้นตอของสำนวนไทย "กระดังงาลนไฟ" ที่กล่าวมาข้างต้น

คนไทยในอดีตยังนำดอกกระดังงาไปทอดในน้ำมันมะพร้าว เพื่อนำน้ำมันไปใส่ผมอีกด้วย ซึ่งคงมีผล ทำให้ลดกลิ่นน้ำมันมะพร้าวและเพิ่ม กลิ่นหอมของกระดังงาเข้าไปแทน

กระดังงาไทยเป็นต้นไม้ขนาด ใหญ่ที่มีทรงพุ่มแน่นใบดกตลอดปี จึงเหมาะสำหรับปลูกเป็นร่มเงาในบริเวณบ้าน ทั้งยังมีดอกตลอดปี อีกด้วย จึงน่าจะหามาปลูกเอาไว้บ้าง ส่วนท่านผู้อ่านที่มีพื้นที่น้อยก็อาจปลูกกระดังงาสงขลาที่เป็น ต้นไม้พุ่มเล็ก แต่ให้ดอกตลอดปีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันอาจจะหา กระดังงาไทยได้ค่อนข้างยาก แต่สำหรับกระดังสงขลาแล้วหาได้ง่าย และราคาต้นพันธุ์ก็ไม่แพงเลย

ขอขอบคุณสำหรับภาพ จาก "ไม้ประดับในประเทศไทย"

ข้อมูลสื่อ

287-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 287
มีนาคม 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร