• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จะช่วยคนจมน้ำได้อย่างไร

จะช่วยคนจมน้ำได้อย่างไร


สวัสดีครับคุณน้า
จอนไม่มีโอกาสมาเยี่ยมคุณน้านานแล้ว แต่จอนทราบข่าวคราวของคุณน้าจากแม่อยู่เสมอ แม่เคยบอกให้จอนเขียนจดหมายมาคุยกับคุณน้าบ้าง วันนี้จอนพอมีเวลาว่างจึงถือโอกาสเขียนมาคุยกับคุณน้าเสียเลย

ไม่ทราบว่าคุณน้าจำเพื่อนของจอนที่ชื่อประสานได้ไหม คนที่จอนเคยพามาเที่ยวที่บ้านคุณน้า เมื่อปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมานั่นแหละ เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาต้องเข้าไปนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเสียหลายวัน เรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เพื่อนจอน 3 คน มีประสาน วิชัย และนำชัย นัดกันไปว่ายน้ำที่สระแถวสุขุมวิท ตอนเช้าทั้ง 3 คนลงว่ายน้ำ สนุกกันมาก แ ละเล่นกันเพลินจนเลยเวลาอาหารเที่ยงไปนานแล้ว ก็ยังไม่ขึ้น วิชิต ใส่แว่นดำน้ำลงไปก้นสระ พบแหวนของประสาน จึงหยิบขึ้นมาดู แต่หาประสานไม่พบ วิชิตและนำชัยจึงขึ้นจากสระ มองจากขอบสระเห็นประสานนอนนิ่งอยู่ก้นสระ ทีแรกต่างยังเฉยอยู่เพราะคิดว่าประสานคงจะทดสอบดำน้ำทนอยู่ แต่ต่อมารู้สึกผิดสังเกตว่าทำไมประสานไม่กระดุกกระดิกเลย จึงกระโดดลงไปฉุดเพื่อนขึ้นมาแต่น้ำลึกมาก เกินความสามารถของวิชิต วิชิตจึงหาไม้มาเขี่ย ก็ยังไม่ถึงอีก ส่วนนำชัยรีบวิ่งไปเรียกคนดูแลสระมาช่วย จึงอุ้มประสานขึ้นมาได้ ตอนนั้นประสานหน้าเขียวตัวอ่อนปวกเปียกและไม่หายใจ คนเฝ้าสระจึงทำการผายปอดที่ขอบสระนั่นเอง จนกระทั่งเริ่มหายใจเองได้ และชีพจรเต้นแรงขึ้น จึงช่วยกันพาไปส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ประสานไม่รู้สึกตัวอยู่ 5 ชั่วโมง จึงได้ฟื้นขึ้นมา ความจำและการทำงานของระบบประสาทปกติเหมือนเดิม หมอให้นอนโรงพยาบาลต่ออีก 2 วัน เพราะเกรงว่าจะเกิดโรคปอดบวมแทรกเนื่องจากสำลักน้ำเข้าไปมาก จอนเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟัง แม่บอกว่าเพื่อนจอนประมาท เล่นน้ำเกินกำลัง



 

 

รูปที่ 1 ใช้ปากครอบลงบนปากของผู้ป่วยแล้วเป่าลมเข้าไป

 

 

 

 

 

รูปที่ 2 ตาดูที่หน้าอกว่าหน้าอกขยายหรือไม่

 

 

 

 



แม่บอกว่าการว่ายน้ำต้องใช้พลังงานมาก เพราะกล้ามเนื้อทั่วร่างกายต้องทำงาน นอกจากนี้ร่างกายยังต้องสร้างความร้อนเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากความร้อนของร่างกายต้องไหลถ่ายเทไปในน้ำที่เย็นกว่า พลังงานที่ได้จากอาหารเช้าและที่สะสมไว้ถูกใช้ไปจนหมด ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะอาหารกลางวันก็ไม่ได้กิน เกิดเป็นลมหมดสติไป ช่วยตัวเองขึ้นจากน้ำไม่ได้ หากไม่มีใครเห็นก็จะต้องนอนเฝ้าสระอยู่อย่างนั้น แม่ยังบอกอีกว่าประสานนะ โชคดีที่รอดมาได้ และนับว่าโชคดีเหลือหลายที่สมองไม่เสื่อม เพราะถ้าสมองขาดออกซิเจนเกิน 6 นาที มักไม่รอด หรือถ้ารอดก็เลี้ยงไม่โตเป็น “พรหมลูกฟัก” ได้แต่นอนกินอาหารทำอย่างอื่นไม่ได้ จอนฟังแล้วใจหาย เพราะประสานนับว่าเป็นคนเรียนเก่งคนหนึ่งของห้อง ถ้าสมองเสื่อมจะน่าเสียดายเพียงไร จอนเห็นไหล่ของประสานแล้วรู้สึกเจ็บแทน เพราะไหล่ด้านหลังไหม้ ช้ำเนื่องจากถูกกดถูกับขอบสระตอนผายปอด จอนถามแม่ว่าจะช่วยคนจมน้ำได้อย่างไร แม่บอกให้จอนหัดว่ายน้ำให้เป็นเสียก่อน เมื่อพบคนจมน้ำ ให้นำเข้าฝั่ง แล้วตรวจดูว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ โดยดูว่าหน้าอกของผู้ป่วยมีอาการเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยไม่หายใจ (หน้าอกไม่มีการเคลื่อนไหว) ให้รีบทำการผายปอดด้วยวิธีเป่าปาก โดยจับคางของผู้ป่วยให้หงายขึ้น ครอบริมฝีปากของเราลงบนปากของผู้ป่วยให้แน่น แล้วเป่าลมลงไปแรง ๆ ให้สังเกตดูว่าหน้าอกผู้ป่วยขยายหรือไม่ ถ้าหน้าอกขยายแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าหน้าอกไม่ขยาย แสดงว่าลมไม่ได้ลงไปในปอด ให้จับคางของผู้ป่วยหงายมากขึ้น แล้วเป่าลมเข้าไปในปากของผู้ป่วยใหม่ จนเห็นว่าหน้าอกขยายดี จึงนับว่าถูกวิธี (จอนเคยลองไปเป่ากับหุ่นที่โรงเรียนของจอน เห็นหน้าอกขยายดี ไม่ทราบว่าถ้าต้องไปเป่ากับคนจริงๆ จะได้ผลอย่างไร



 

 

รูปที่ 3 จับศีรษะให้หงายขึ้นให้มากที่สุด

 

 

 

 

 

รูปที่ 4-5  ถ้าเห็นอกไม่ขยาย ให้ใช้มือยกขากรรไกรขึ้นและจับศีรษะให้หงายขึ้น แล้วเป่าลมเข้าไปใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 


แม่บอกว่า ในขณะเดียวกันก็ต้องคลำชีพจรด้วยว่า เต้นหรือเปล่า โดยวางส้นมือข้างหนึ่งลงบนกระดูกหน้าอก ตรงบริเวณลิ้นปี่นั่นแหละครับ แล้วเอามืออีกข้างวางทับบนมืออันแรก แล้วกดกระแทกลงไปแรงๆ โดยทุ่มน้ำหนักลงไปทั้งตัว ถ้ามีเราอยู่คนเดียวให้ทำการเป่าปาก 2 ครั้ง แล้วทำการนวดหัวใจ 10 ครั้งสลับกันไป ถ้ามีผู้ช่วยอีกคนหนึ่ง ให้คนหนึ่งทำการเป่าปาก คนหนึ่งทำการนวดหัวใจ โดยทำการเป่าปาก 1 ครั้ง สลับกับนวดหัวใจ 5 ครั้ง

 

 

 

รูปที่ 6 ใช้ส้นมือวางบนกระดูกหน้าอก และเอามืออีกข้างหนึ่งวางช้อนลงไป

 

 

 

 

 

 

แม่เตือนว่า สำหรับเด็กเล็ก เวลาเป่าปาก ต้องใช้ริมฝีปากของเราครอบทั้งปากและจมูกของเด็ก แล้วเป่าลมเข้าไปทั้งปากและจมูกของเด็ก เวลาเป่าปากก็ต้องระวังอย่าเป่าแรงไป ถ้าเป่าแรงไป อาจทำให้ปอดของหนูน้อยขยายพองมากไป จนทำให้ถุงลมแตกได้

 

 

 

 

 

 รูปที่ 7 ถ้ามีคนช่วย 2 คน
วิธีช่วยคือเป่าปาก 1 คนนวดหัวใจ 1 คน

 

 

 

 

 

 

แม่เล่าว่าในสมัยก่อน หมอชอบแนะนำให้เอาคนจมน้ำขึ้นบ่าแบกไปรอบๆ หวังเอาน้ำออกจากปอดและกรเพาะเสียก่อน จึงค่อยทำการผายปอด ช่วยหายใจ แม่บอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ล้าสมัยและอันตรายมาก เพราะผู้ป่วยอาจสำลัก หรือขาดออกซิเจน หัวใจหยุดเต้นตายไปเสียก่อน วิธีช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกหลัก คือให้ทำการผายปอดด้วยวิธีเป่าปากทันที ส่วนน้ำที่เข้าไปในปอดและกระเพาะนั้นค่อยแก้ไขทีหลัง พอผู้ป่วยหายใจได้ดีแล้ว ขั้นต่อไปให้หาทางพาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยที่คนที่ให้การช่วยเหลือตั้งแต่แรกต้องร่วมเดินทางไปด้วย เผื่อผู้ป่วยหยุดหายใจกลางทางจะได้ช่วยเหลือได้ เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว ค่อยมอบให้คุณหมอช่วยเหลือในขั้นต่อไป

จอนคิดว่า ต่อไปถ้าคุณน้าพบคนจมน้ำเข้า คุณน้าคงจะให้การช่วยเหลือเขาในขั้นต้นได้เป็นแน่ ใช่ไหมครับ?

นอกจากนี้ การป้องกันตัวเองมิให้จมน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ จอนได้อ่านพบหลักการหลายอย่างจากเอกสารของแม่ซึ่งเป็นสิ่งที่จอนไม่รู้มาก่อน จึงขอจดมาฝากคุณน้าดังที่แนบมากับจดหมายนี้ด้วยแล้ว

จอนคิดว่า ถ้าทุกคนว่ายน้ำให้เป็นและมีสติ เวลาเล่นน้ำหรือหลังตกน้ำ จะสามารถช่วยตัวเองและผู้อื่นให้รอดตายได้ จอนจำได้ว่า เมื่อจอนเล็กๆ คุณน้าเคยพาจอนไปบางแสน หัดให้จอนว่ายน้ำจนพอว่ายได้ แต่แม่บอกว่า จอนว่ายน้ำช้าและท่าไม่สวย เพราะจอนว่ายไม่ถูกวิธี สู้น้องจินไม่ได้ โถ น้องจินจะว่ายไม่สวยได้อย่างไร จะว่ายน้ำแต่ละทีก็ต้องไปเสียเงินค่าสระและค่าครูสารพัด ส่วนจอนหัดว่ายแบบมวยวัด พอช่วยตัวเองได้ และอาจช่วยคนอื่นได้ก็ดีถมเถไปแล้ว จะเอาอะไรกับจอนนัก
คุณน้ามีอะไรจะใช้จอนก็บอกมาได้เลยครับ วันนี้จอนจบแค่นี้ก่อน

 

คิดถึงคุณน้าเสมอ
จอน

____________________________________________________________________
หลักการป้องกันมิให้ได้รับอันตรายจากการจมน้ำ
____________________________________________________________________

1. การป้องกันการจมน้ำเวลาเล่นน้ำ

1) ไม่ควรเล่นน้ำภายหลังกินอาหารมานานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

2) ไม่ควรเล่นน้ำเมื่อรู้สึกมึนเมา แม้แต่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย (ในประเทศอังกฤษพบว่าคนจมน้ำ 51 คน จากทั้งหมด 771 คน มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า)

3) ไม่ควรเล่นน้ำตามลำพังหรือดำน้ำลึกๆ ในที่หรือฝั่งน้ำซึ่งไม่คุ้นกัน

4) ถึงแม้จะว่ายน้ำได้ ก็ไม่ควรไปเล่นน้ำในที่ลึกๆ ถ้าร่างกายไม่สมบูรณ์หรือเป็นตะคริวง่าย

5) ควรจะว่ายน้ำ ขนานไปกับฝั่ง ปลอดภัยดีกว่าว่ายออกจากฝั่ง ขณะที่ว่ายขนานไปกับฝั่งควรดูฝั่งเป็นครั้งคราว เพราะผู้ว่ายน้ำอาจถูกกระแสน้ำพัดออกนอกฝั่งได้

6) ถ้าจะว่ายน้ำออกจากฝั่ง ควรมีเพื่อนร่วมไปด้วย และดีที่สุดคือมีเรือตามไปด้วย

7) ถ้าจะว่ายข้ามแม่น้ำหรือว่ายไปยังเรือที่จอด ให้ระมัดระวังให้มาก เพราะเรือที่จอดหรือฝั่งตรงข้าม จะอยู่ไกลกว่าที่คิดหรือที่มองเห็น โดยเฉพาะในน้ำที่ค่อนข้างเย็น ผู้ว่ายจะเหนื่อยง่ายขึ้น
 

2. การป้องกันการจมน้ำภายหลังตกน้ำ
ควรจะว่ายน้ำให้เป็น โดยเฉพาะรู้จักใช้วิธีลอยตัวในน้ำโดยไม่ต้องออกกำลัง ถึงแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็นหรือไม่ก็ตาม โดยยึดหลักที่ว่าสัตว์ส่วนใหญ่จะสามารถลอยน้ำได้ ถ้าในปอดมีอากาศ (ประมาณ 10% ของสัตว์จะจมน้ำจืด และเพียง 2% ที่จะจมน้ำทะเล)

การลอยตัวเป็นเฉย ๆ ก็ไม่ช่วยในการหายใจ ควรจะเรียนรู้การลอยตัวในท่าชูคอขึ้น และรู้จักจังหวะหายใจ เมื่อจมูกและปากอยู่เหนือพื้นน้ำ

มีเทคนิคง่ายๆ ซึ่งใครก็สามารถทำได้ คือเมื่อรู้สึกว่าจะจมน้ำพร้อมกับที่ขาเริ่มหมดแรงและไขว่กัน ควรพยายามงอเท้าข้างใดข้างหนึ่งให้แนบอก และยกมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ เมื่อศีรษะลอยสูงขึ้นก็สามารถหายใจผ่านทางจมูกได้ ต่อจากนั้นเอามือลงและถีบเท้าทั้งสองข้าง ปากก็จะพ้นน้ำ ทำให้หายใจเข้าทางปากได้อีกด้วย
 

3. การป้องกันเมื่อเรือแตก
ในปัจจุบันการเดินทางโดยเรือสมัยใหม่ถือว่าปลอดภัยที่สุด แต่ในประเทศเราอาจไม่แน่ เมื่อเกิดเรือแตก มีหลักคือ ก่อนที่จะทิ้งเรือใหญ่ลงไปในเรือเล็กหรือลงในน้ำ ควรจะดื่มน้ำจำนวนมาก ใส่เสื้อที่มีความอบอุ่นพอควร ซึ่งจะช่วยป้องกันความหนาวเย็น ทั้งบนเรือเล็กหรือในน้ำ เนื่องจากเสื้อผ้าจะเป็นเกราะป้องกันขณะที่อยู่ในน้ำนิ่ง และยังช่วยไม่ให้น้ำไหลพาเอาความร้อนออกจากร่างกาย การสูญเสียความร้อนของร่างกายเป็นสาเหตุอันหนึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ระยะเวลาที่เริ่มอยู่ในน้ำจนถึงจะจมน้ำตาย ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำโดยตรง ถ้าอุณหภูมิของน้ำต่ำกว่า 4.4 องศาเซลเซียส คนอยู่ในน้ำจะตายภายในครึ่งชั่วโมง ถ้าอุณหภูมิของน้ำอยู่ระหว่าง 4.4-10 องศาเซลเซียส คนอยู่ในน้ำอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 2 ชั่วโมง ถ้าอุณหภูมิของน้ำประมาณ 21 องศาเซลเซียส (70 องศาฟาเรนไฮท์) คนอยู่ในน้ำอาจมีชีวิตรอดได้ ถ้ารู้จักวิธีลอยตัว
 

4 การป้องกันเมื่ออยู่ในเรือเล็ก
ควรจะรู้จักวิธีใช้เสื้อชูชีพ ส่วนใหญ่มักจะทำเป็นสีแดงหรือสีเหลือง แบบของเสื้อชูชีพมีได้ต่างๆ กัน แต่ควรจะทำให้เป็นแบบที่แขนทั้งสองข้าง สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ในที่ซึ่งมีอากาศร้อน ผู้ใหญ่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ใส่เสื้อชูชีพ แต่ควรจะวางไว้ใกล้ตัว และเมื่อมีคลื่นหรือการโคลงเคลงของเรือก็ควรจะใส่ทันที แต่สำหรับเด็กควรจะใส่เสื้อชูชีพอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กอาจพลัดตกไปจากแคมเรือเมื่อไรก็ได้ผู้ที่อยู่ในเรือเล็ก หรือเรือช่วยชีวิตจากเรือแตก ควรจะนั่งนิ่งเป็นการออมกำลังไว้ จนกว่าจะเห็นฝั่งหรือพบเรือที่จะมาช่วย

 

ข้อมูลสื่อ

17-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
จดหมายจากจอน
ศ.พญ.วันดี วราวิทย์