พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ผู้ทรงเป็นพระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ และทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนตลอดมา ส่งผลให้การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยเจริญพัฒนาสู่แนวหน้าระดับโลก
ผมได้ชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2551 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจัดแสดงต่อประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ผมขอนำเรื่องราวที่เป็นสาระประโยชน์บางส่วนมาเผยแพร่ในบทความนี้
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน
เนื่องจากประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการแพทย์แผนปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ซึ่งประกอบด้วยแพทย์และทีมสหวิชาชีพอาสาสมัครจากหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติการตามเสด็จไปยังพื้นที่ที่ทรงเยี่ยมราษฎร เพื่อให้การรักษาราษฎรที่เจ็บไข้ และในกรณีที่พบคนไข้หนัก จะทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เพื่อส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เหมาะสม คนไข้ที่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 47,000 ราย
ในสมัยนั้นวัณโรคเป็นโรคระบาดที่ทำให้คนไข้เสียชีวิตจำนวนมาก และยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคที่ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2493 ว่า "คุณหลวง วัณโรคสมัยนี้ มียารักษากันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการ ฉันจะหาให้อีก ฉันอยากเห็นการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ"
อีก 3 ปีต่อมาพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ 500,000 บาท ให้สภากาชาดไทย นำไปสร้างอาคารมหิดลวงศานุสรณ์ เพื่อเป็นศูนย์ผลิตวัคซีน บี.ซี.จี. ขึ้นใช้เอง แทนการนำเข้าจากต่างประเทศ และยังสามารถ ส่งขายต่อให้องค์การสงเคราะห์แม่และเด็ก (UNICEF)
ต่อมาหน่วยแพทย์พระราชทานได้แตกสาขาเป็นหน่วยแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ เช่น ในปี พ.ศ.2517 ได้จัดแพทย์หมุนเวียนไปตรวจรักษาคนไข้ที่สถานีอนามัยประจำกิ่งอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีการจัดหน่วยแพทย์เป็นกลุ่มตามสาขาวิชาชีพ เช่น โครงการศัลยแพทย์อาสาของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการแพทย์โสต ศอ นาสิก หน่วยจักษุแพทย์พระราชทาน หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการฟันเทียมพระราชทาน เป็นต้น
"ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องที่กันดารห่างไกล และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็น โดยให้หน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลในชนบท"
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อทันตแพทย์สี สิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยทันตกรรม พระราชทาน และได้รับพระราชทานเกียรติคุณจากทันตแพทย์ชาวต่างประเทศว่าเป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทุกหนทุก แห่งพร้อมด้วยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ที่หมู่บ้านหนึ่งในอำเภอรือเสาะ ยายคนหนึ่งเข้ามาเกาะพระบาทร้องไห้ แล้วบอกว่าไม่นึกเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นไทยพุทธ จะมารักไทยมุสลิมได้ถึงเพียงนี้
ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเดียวกัน โต๊ะครูได้พาพรรคพวกมายืนรอรับเสด็จ แล้วบอกว่า รายอกลับไปเถอะ ประไหมสุหรีกลับไปเถิด เพราะประเดี๋ยวพวกโจรก็จะลงมาจากเขา ครั้นเมื่อพระองค์เสด็จกลับ โต๊ะครูและ ชาวบ้านได้พากันจุดเทียนตลอดเส้นทาง เพื่อส่งเสด็จ
โรงงานทำแขนขาเทียมและฝึกอาชีพ
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2513 พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อสร้างโรงงานทำแขนขาเทียมและฝึกอาชีพ ขึ้นในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการทำหน้าที่เพื่อปกป้องอริราชศัตรู
พ.ศ.2527 ในระหว่างที่พระองค์เสด็จแปรพระราชฐานยังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้มีพระราชดำริให้จัดชุดปฏิบัติการแขนขาเทียมเคลื่อนที่ร่วมตามเสด็จ โครงการนี้ดำเนินต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน นอกจากนั้นได้จัดชุดปฏิบัติการแขนขาเทียมเคลื่อนที่ กรมแพทย์ทหารบก ร่วมสนับสนุนภารกิจมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 และให้บริการจัดทำแขนขาเทียมเคลื่อนที่ใน 17 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ.2534-2535
สมทบทุนสร้างอาคารและมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างอาคารและจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ มอบให้แก่สถาบันทางการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตึกอานันทมหิดล และตึกอานันทราช โรงพยาบาลศิริราช สถาบันพยาธิวิทยา กรมการแพทย์ทหารบก ตึกสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลสกลนคร อาคารราชสาทิส โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนราชานุกูล ในบริเวณโรงพยาบาลราชนุกูล สถานีอนามัยอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตึกเพชรานุกูล โรงพยาบาลเพชรบุรี ตึกพิทักษ์ไทย โรงพยาบาลน่าน โรงอาหารในศูนย์อนามัยแม่และเด็ก เขต 8 จังหวัดราชบุรี โรงผลิตน้ำประปา โรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ อาคารศูนย์วิจัยปัญญาอ่อนและอาคารพลานามัย โรงพยาบาลราชานุกูล ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ส่งผลให้เกิดพลังแห่งศรัทธาของหน่วยงานและประชาชนในการสานต่อโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องรวมทั้งการขยายเครือข่าย โดยการร่วมแรงร่วมใจร่วมบริจาคทรัพย์สินเงินทองโดยเสด็จพระราชกุศล
ครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร ชายคนหนึ่งวิ่งตามรถพระที่นั่งพลางตะโกนให้รถหยุด พระองค์ทรงรับสั่งให้รถหยุด ชายคนนั้นล้วงมือลงไปในกระเป๋าเสื้อทั้งๆ ที่ยังเหนื่อยหอบควักเงินออกมา 50 บาท ยกมือขึ้นจบ แล้ววางใส่พระหัตถ์ของพระองค์แล้วทูลว่า "ขอทำบุญด้วย"