" Do not expect your doctor to be able to diagnose all cases at the first examination. "
Ulysses Grant Dailey (1943)
Dailey กล่าวไว้ว่า " อย่าคาดหวังว่าแพทย์ของคุณจะวินิจฉัยผู้ป่วยทุกคนได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ตรวจ " ขอพูดถึงคำว่า your doctor ก่อนนะครับ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีระบบของแพทย์ประจำครอบครัว (family doctor) ซึ่งประชาชนจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง. สำหรับประเทศไทยก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น คือให้แพทย์รับผิดชอบประชาชนเป็นพื้นที่ ถ้ารักษาไม่ได้ก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอ แต่ว่าพฤติกรรมของคนไทยบางส่วนก็ยังเหมือนเดิม คืออยากจะไปตรวจที่ไหนก็ไปตามใจชอบ.
เดี๋ยวจะไปไกล กลับมาเรื่องคำคมดีกว่า ปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่การตรวจครั้งแรก แต่ไม่ทั้งหมด เพราะมีหลายโรคด้วยกันที่ไม่แสดงออกในช่วงแรกแพทย์จึงตรวจไม่พบ ต่อเมื่อเวลาผ่านไปอาการของโรคชัดเจนขึ้น แพทย์จึงจะวินิจฉัยได้.
อาจารย์มักจะสอนนักเรียนแพทย์เสมอว่า เพียงแค่ซักประวัติและตรวจร่างกายสามารถวินิจฉัยโรคได้ถึงร้อยละ 70 เมื่อมองอีกด้านหนึ่งแสดงว่าอีกร้อยละ30 จะต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ด้วยเหตุนี้สถานพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อมจึงมีโอกาสที่จะวินิจฉัยได้มากกว่า.
ขอเล่าประสบการณ์อีกแล้วนะครับ มีหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ด้วยความที่มีหน้าท้องขนาดใหญ่จึงเป็นที่สะดุดตาของทุกคน แพทย์และพยาบาลประจำหน่วยฝากครรภ์จึงช่วยกันตรวจดูว่าตั้งครรภ์แฝดหรือไม่? เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเครื่องอัลตราซาวนด์จึงอาศัยการฟังเสียงหัวใจทารกซึ่งพบว่ามีเพียงเสียงเดียว จึงสรุปว่าไม่ใช่การตั้งครรภ์แฝด พอถึงวันคลอดปรากฏว่าเป็นแฝดครับ โชคดีที่ทั้งคู่มีส่วนนำเป็นศีรษะจึงคลอดได้อย่างปลอดภัย.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.,โรงพยาบาลท่าแซะ, จังหวัดชุมพร
E-mail : [email protected] [3]