สำหรับคนไข้แล้ว คำว่า "รู้ทันหมอ" ในที่นี้หมายถึง การรับรู้ในดุลยพินิจของหมอที่ทำการรักษา โดยการสอบถามข้อมูลการรักษาจนเข้าใจในระดับหนึ่งและใช้สิทธิเรื่องที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ "แล้วแต่คุณหมอค่ะ" หรือ "ยังไงก็ได้ครับ"
บางคนไม่พูด ไม่ถาม ไม่รู้อะไรเลย แต่พอมีความผิดพลาดหรือเคลือบแคลงสงสัย ก็รู้สึกไม่ดีหรือเกิดปัญหามาฟ้องร้องกันภายหลัง
หมอบางคนก็พูดเก่งอธิบายเก่ง บางคนก็พูดน้อยหรือไม่ค่อยอยากอธิบาย ดังนั้นอย่าเกรงใจหมอจนเกินไป ต้องหัดซักถามในเรื่องที่สำคัญต่อการรักษา เพราะร่างกายเป็นของเรา เงินทองค่ารักษาก็ของเรา ชีวิตก็ของเรา ดังนั้นเราก็มีสิทธิที่จะได้รับรู้ดุลยพินิจของหมอด้วย
สำหรับปัญหาของคนไข้บางคนก็ยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่จะใช้การตัดสินใจของหมอคนเดียวได้ หมอที่รักษาต้องใจกว้างพอที่จะปรึกษาหมอท่านอื่นที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันที่ "มากหมอก็มากความ" ด้วยเหตุที่ต่างคนต่างก็มีดุลยพินิจของตัวเอง บางครั้งในปัญหาเดียวกัน คนไข้คนเดียวกัน แต่อาจรักษาไปในแนวทางที่ต่างกันก็มี ดังนั้นหากมีหมอช่วยกันดูหลายคน ควรจะมีการประชุมปรึกษาหารือให้การรักษาเป็นไปในแนวเดียวกัน และต้องแจ้งให้คนไข้หรือญาติทราบด้วย
การรู้ทันหมอ ไม่ใช่เพียงแค่รับรู้ข้อมูลการรักษาจากหมอเท่านั้น แต่เราควรฝึกสอบถามหมอในเรื่องสำคัญๆ บ้างเช่น ถามว่าป่วยเป็นโรคอะไร สาเหตุจากอะไร จะรักษาอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน ผลการรักษาจะเป็นอย่างไร ข้อดีข้อเสียของการรักษาที่ให้ ค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด เป็นต้น เพราะหมอที่ดีจะเต็มใจตอบทุกคำถาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและเกิดประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด
บางครั้งเราอาจจะต้องมีความรู้อยู่บ้างในเรื่องสภาพร่างกายทั่วไป เช่น "คนแก่" มักจะเกิดความเสื่อมตามวัย ดังนั้นก็มีโอกาสเกิดความไม่สบายหรือเกิดโรคจากความเสื่อมได้หลายอย่าง ถ้าตรวจเลือดหรือตรวจพิเศษก็มักจะเจอความผิดปกติไปบ้าง ซึ่งบางอย่างก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติตามวัยที่มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไป "รักษาทุกอาการ" หรือ "รักษาทุกอย่างที่เจอ" เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคนแก่ก็ต้องกินยากันหลายกำมือ เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ดีไม่ดีอาจเกิดปัญหาจากการใช้ยามากไปหรือเกิดปัญหาแถมมาจากการรักษาก็ได้
ดังนั้น เราควรมีส่วนร่วมตัดสินใจหากว่าหมอจะ "รักษาทุกอย่างที่เจอ" โดยการซักถามว่า หมอจะทำอะไรบ้าง มีผลดีผลเสียอย่างไร จำเป็นต้องทำหรือไม่ เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ไม่เอาได้ไหม นอกจากนี้ต้องบอกด้วยว่าเรามีโรคประจำตัวอะไร กินยาอะไรอยู่ จะขัดแย้งกับการรักษาเดิมไหม
การตัดสินใจเพื่อรับการรักษาบางอย่างก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาข้อมูลและไตร่ตรองก่อน เช่น การผ่าตัด ต้องสอบถามถึงความจำเป็นและผลการรักษา หากเป็นเรื่องไม่ฉุกเฉินและรู้สึกว่าไม่อยากทำแต่ก็ไม่สบายใจ ก็อาจไปปรึกษาหมออีกท่านหนึ่ง (ที่เชี่ยวชาญสาขาเดียวกัน) ว่ามีความจำเป็นแค่ไหน และมีความเห็นตรงกับหมอคนแรกหรือไม่
เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งมาปรึกษาผู้เขียนว่า
"คุณหมอคะ ลูกชายหนูขี่จักรยานแล้วล้ม กระดูกนิ้วหัวแม่เท้าแตก ไปพบหมอคนหนึ่งบอกว่าต้องผ่าตัดใส่เหล็กเท่านั้นจึงจะหาย หนูว่ามันแตกนิดเดียว ไม่รู้ว่าจะรักษาแบบอื่นได้หรือเปล่า"
เมื่อผู้เขียนดูผลเอกซเรย์แล้วก็คิดว่าอาจจะไม่ต้องผ่าตัดก็ได้ แต่เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกจึงแนะนำให้ไปปรึกษาหมอกระดูกอีกคนหนึ่ง ผลคือได้รักษาด้วยการใส่เฝือกธรรมดา ใช้เวลาสักระยะเด็กก็หายเป็นปกติโดยไม่ต้องผ่าตัด เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าโรคเดียวกันในคนไข้คนเดียวกัน แต่หมอ 2 คนยังรักษาต่างกันขนาดนี้
การรักษาสิทธิของตัวเองและรู้เท่าทันการรักษานั้น ส่วนหนึ่งคนไข้จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น การป้องกันโรคและโรคที่พบบ่อยบางอย่าง การสนใจรับฟังข้อมูลข่าวสารสุขภาพจากสื่อต่างๆ รวมถึงการหาข้อมูลจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเองด้วยการซักถาม
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ
ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกหมอที่ดีคือ ดีทั้งคุณวุฒิ คุณภาพ และคุณธรรม
แต่ถ้าไม่มีโอกาสได้เลือก ก็ให้ใช้สิทธิของการเป็นผู้ป่วยให้เกิดประโยชน์ที่สุดก็แล้วกันครับ