เว็บไซต์วารสารคลินิกเปิดให้บริการแก่ทุกท่านที่สนใจในการส่งคำถามที่ท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเวชปฏิบัติการใช้ยา และเรื่องราวที่น่าสนใจทางการแพทย์และเวชปฏิบัติทุกสาขาทางอินเตอร์เน็ต
การแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ
Q อยากเรียนถามถึงการแก้สายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นหรือสายตาเอียง ที่ไม่จำเป็นต้องใส่แว่น และไม่สามารถตรวจทราบได้ว่ามีวิธีใดบ้าง
สุทธิไกร ว่องวุฒิกำจร
A วิธีการแก้ปัญหาสายตาผิดปกติ เช่นสายตาสั้นหรือสายตาเอียง ที่ได้รับการยอมรับกันในปัจจุบัน ที่สำคัญได้แก่
1. การใช้แว่นตา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด ใช้กันมาเป็นเวลายาวนาน มีความปลอดภัยสูง แต่อาจไม่เหมาะสำหรับการเล่นกีฬา หรือการประกอบอาชีพบางอย่าง.
2. การใช้คอนแทกเลนส์ มีทั้งชนิดแข็ง และนิ่ม มีทั้งแบบใช้ถาวร หรือใช้แล้วทิ้ง ทำให้ดูสวยงามกว่าการใส่แว่นตา แต่ต้องการการดูแลรักษามากเพื่อความปลอดภัยของดวงตา.
3. การผ่าตัดโดยใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ เป็นวิธีการหนึ่งในกลุ่มการทำให้ความหนาของกระจกตาบางลงเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีหลักการในการใช้แสงเลเซอร์ ชนิดเอ็กไซเมอร์ ยิงบริเวณกระจกตาในตำแหน่งที่ต้องการให้บางลง เพื่อลดการหักเหของแสงที่กระจก ตา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ
3.1. วิธี Photo-refractive keratectomy (PRK) ทำโดยการยิงเลเซอร์ไปบนกระจกตาในบริเวณที่ต้องการโดยไม่มีการใช้มีดฝานกระจกตาก่อนยิงเลเซอร์ สามารถทำได้ในผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มาก แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตาหลังทำ.
3.2. การทำเลสิก (Lasik = Laser in situ keratomileusis) จะมีการใช้มีดขนาดเล็กฝานกระจกตาบริเวณที่จะยิงเลเซอร์เปิดออกก่อน และยิงเลเซอร์เอ็กไซเมอร์ ไปบริเวณที่ต้องการ แล้วจึงปิดฝากระจกตาที่ฝานไว้กลับที่เดิม ทำให้ไม่มีการสูญเสียผิวของกระจกตา ผู้ป่วยจึงไม่เคืองตา.
หากพิจารณาในประเด็นการแก้ไขสายตาผิดปกติ ที่ต้องการให้หายขาด หรือไม่สามารถตรวจพบได้ในกรณีการประกอบอาชีพบางอย่าง ในปัจจุบันมีวิธีที่สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1. การใช้คอนแทกเลนส์กดความโค้งกระจกตา เรียกว่าวิธี orthokeratology โดยการใส่คอนแทกเลนส์ชนิดแข็งกดปรับความโค้งกระจกตา ให้มีการหักเหแสงที่เป็นปกติมากขึ้น แต่วิธีนี้มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ เป็นวิธีการแก้ไขได้เพียงชั่วคราว และไม่สามารถทำได้ในกรณีที่มีสายตาสั้นหรือสายตาเอียงขนาดมากๆ.
2. การใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์แก้ไขสายตาด้วยวิธี Photo-refractive keratectomy ซึ่งหลังการทำแล้ว 2-4 สัปดาห์ เมื่อแผลบนกระจกตาหายสนิท อาจตรวจไม่พบร่องรอยได้ แต่มีข้อจำกัดคือ ต้องให้จักษุแพทย์ประเมินความพร้อมของกระจกตาก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ติ่งเนื้อในลำไส้
Q มีคุณลุงอายุ 62 ปี เคยส่องกล้องกับแพทย์ทางเดินอาหารบอกว่าเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ และตัดไปแล้ว 2 จุด ก่อนหน้านี้ไม่มีประวัติมะเร็ง แต่ก็ไม่เคยส่องกล้องตรวจมาก่อน ไม่ทราบว่าต้องมาตรวจซ้ำอีกหรือไม่คะ
ปิยะดา พูลสวัสดิ์
A โดยทั่วไปแล้ว ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (polyp) สามารถแบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยาได้เป็น 2 แบบ คือ ติ่งเนื้อที่ไม่กลายเป็นมะเร็ง (hyperplastic polyp) และติ่งเนื้อที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ (adenomatous polyp). ความสำคัญของการตรวจพบ ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ จะอยู่ที่การวินิจฉัยให้ได้ว่ามีที่บริเวณใดบ้าง ขนาดเท่าไร และผลการตรวจทางพยาธิวิทยาเป็นอย่างไร ซึ่งหมายความว่าแพทย์ผู้ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อบางส่วน (biopsy) หรือตัดติ่งเนื้อออกมา (polypectomy) ตรวจด้วย.
ปัจจัยที่มีผลต่อการกลายเป็นมะเร็ง จะขึ้นกับขนาด ลักษณะ และผลการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยพบว่า ถ้าติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. ขึ้นไปและเป็นกลุ่มของ adenomatous polyp จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมาก.
จากคำถามข้างต้น ถ้าทำการตัดติ่งเนื้อไปแล้ว จำเป็นต้องทำการตรวจเพื่อดูว่ามีติ่งเนื้อกลับเป็นซ้ำขึ้นมาใหม่ หรือมีติ่งเนื้อใหม่ขึ้นที่บริเวณอื่นๆ ด้วยที่เราเรียกว่า surveillance โดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่. (colonoscopy) เป็นระยะ โดยแนะนำให้ทำครั้งแรกที่ 1 ปี ต่อมาที่ 3 ปี และ 5 ปีตามลำดับ ในกรณีที่ผลการตรวจไม่พบติ่งเนื้อเพิ่มเติมอีก โดยถ้าพบติ่งเนื้อใหม่ให้ทำการตัด และเริ่มตรวจใหม่ที่ 1 ปีหลังจากนั้น.
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ.
ศัลยแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล