• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อยากทราบวิธีการบริหาร และถนอมสายตา

อยากทราบวิธีการบริหาร และถนอมสายตา


ถาม : นันทพร/นนทบุรี
ขณะนี้ดิฉันอายุ ๔๐ ปีค่ะ มีสายตาเอียงและสั้น ช่วงหลังสายตา คงเริ่มยาว แต่คุณหมอบอกให้ใช้แว่นอันเดิมได้ เพราะยาวขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ดิฉันไม่ได้ไปพบแพทย์มาเกือบ ๒ ปีแล้ว ไม่ทราบว่าสายตาเปลี่ยนหรือไม่ ที่ดิฉันไม่ได้ไปตรวจอีก เพราะค่อนข้างลำบากต้องลางานแล้วไปรออยู่หลายชั่วโมง การเดินทางก็ลำบากค่ะ ตอนนี้ดิฉันรู้สึกว่าแสบตาบ่อยๆ (ดิฉันชอบอ่านหนังสือ บางทีก็อ่านจนดึก) บางทีรู้สึกตาแห้งจนเจ็บตา บางครั้งก็มีปวดศีรษะด้วย ไม่ทราบว่าจะเกี่ยวกับเรื่องสายตาหรือไม่คะ ดิฉันขอรบกวนคุณหมอช่วยกรุณาสอนวิธีบริหารตา (และสายตา) อย่างง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทุกวัน สำหรับคนที่ใช้สายตามากๆ เผื่อจะช่วยถนอมสายตาและลดอาการเจ็บตา หรือปวดตาได้บ้าง
 

ตอบ : พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
โดยทั่วไป คนเราเมื่ออายุใกล้ ๔๐ ปี (หรือบางคนอาจมากกว่าหรือน้อยกว่านี้เล็กน้อย) จะเกิดภาวะสายตาผู้สูงอายุ (หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า สายตายาว) เกิดเนื่องจากมีการเสื่อมของการเพ่ง  (accommodation) เมื่ออายุมากขึ้น กล่าวคือ ในอายุที่น้อยกว่านี้ตา คนเราสามารถเพ่งเพื่อให้เห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ ผู้ที่อายุน้อยจึงมอง  เห็นทั้งไกลและใกล้ เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการเพ่งเพื่อมองใกล้ลดลง จึงมองใกล้หรืออ่านหนังสือไม่ชัด จะสังเกตได้จากระยะที่เคยใช้อ่านหนังสือ สมมุติว่าเคยอ่านหนังสือในระยะ ๓๐ เซนติเมตร ก็ต้องถือหนังสือไกลออกไปในระยะแรกๆ นานเข้าถือหนังสือห่างไปก็ไม่เห็น จึงต้องมีแว่นมองใกล้ช่วย ในกรณีที่มีสายตาสั้นมาก่อนมักจะเกิดภาวะนี้ช้ากว่าคนปกติเล็กน้อย และถ้าสายตาสั้นไม่มากก็จะพบว่าอ่านหนังสือได้ชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น ภาวะสายตาใกล้ไม่ชัดนี้มักจะเปลี่ยน ในระยะ ๒ ปี คือ ความเสื่อมในการเพ่งมากขึ้นนั่นเอง ในกรณีของคุณล่วงเลยมาแล้ว ๒ ปี การอ่านหนังสือไม่ค่อยชัดให้ทดสอบโดยการเลื่อนหนังสือให้ห่างออกไปหรือถอดแว่นอ่าน โดยความเป็นจริง ภาวะสายตาผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดอาการแสบตา เจ็บตา ปวดตา เวลาใช้สายตามองใกล้นานๆ ทำให้การทำงานลดประสิทธิภาพลง

ขอแนะนำว่าให้ไปวัดสายตาและรับคำแนะนำการใช้แว่นสายตาที่เหมาะสม สำหรับผู้ใช้สายตามากๆ หากมีอาการปวดเมื่อยตา ควรจะพักสายตาโดยละสายตาจากการทำงานเป็นระยะๆ อย่าเพ่งทำงานอะไรตลอดเวลาเกิน ๒ ชั่วโมง โดยวิธีหลับตา หรือมองไปไกลๆ ในสิ่งแวดล้อมที่โล่งๆ และมีสีเขียว วิธีฝึกกล้ามเนื้อตาง่ายๆ วิธีหนึ่งก็คือ ฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้มองใกล้ โดยถือดินสอหรือปากกาอยู่ข้างหน้า ให้ปลายปากกาชี้ขึ้นฟ้า ให้อยู่ข้างหน้า ห่างจากตาประมาณ ๑ ฟุต หรือสุดแขน ตาจ้องอยู่ที่ปลายปากกา ค่อยๆ เลื่อนปากกาเข้ามาที่ตา เมื่อปากกาเลื่อนเข้ามาจะพบว่าภาพของปลายปากกาจะมัวลง ให้เลื่อนออกไปที่เดิม โดยตาจะต้องจ้องอยู่ที่ปลายปากกาเพื่อเลื่อนปากกาเข้ามา ทำอย่างนี้ครั้งละประมาณ ๒๐ ครั้ง