• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้"

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้"


เด็กหญิงไทยอายุ ๑๑ ขวบ มี อาการปวดท้องก่อนมาโรงพยาบาลประมาณ ๒ ชั่วโมง มารดาเอายาลดกรด (แก้โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นแผลให้กิน อาการไม่ดีขึ้น จึงพามาห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล

แพทย์ : "สวัสดีครับ เด็กเป็นอะไรหรือครับ"
แม่เด็ก : "ปวดท้องค่ะ ปวดตั้งแต่เมื่อคืน เอายาลดกรดให้กิน อาการดีขึ้น แล้วหลับไป ตื่นเช้าขึ้นมา ปวดอีก เอายาลดกรดให้กินแล้วไม่ดีขึ้น จึงพามาโรงพยาบาลค่ะ"
แพทย์ : "มีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วยไหมครับ"
แม่เด็ก : "ไม่มีค่ะ"
แพทย์ : "เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนไหมครับ"
แม่เด็ก : "เป็นบ่อยค่ะ คุณหมอเคยเอกซเรย์กระเพาะและส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารแล้ว ก็บอกว่าไม่เป็นแผล มีแต่กระเพาะอักเสบนิดหน่อย และให้ยาลดกรดไว้กินเป็นครั้งคราวเวลามีอาการค่ะ"
แพทย์ : "ตอนนี้ปิดเทอมไม่ใช่หรือครับ เด็กคงไม่ได้กินอาหารนอกบ้าน คุณแม่คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้ลูกปวดท้องครับ"
แม่เด็ก : "แกกินอาหารไม่เป็นเวลาค่ะ และถึงจะปิดเทอมแกก็ชอบไปซื้ออะไรๆ นอกบ้านมากินค่ะ เวลาปิดเทอมชอบนอนตื่นสาย ๔-๕ โมง เช้าถึงตื่น ตื่นขึ้นมาแทนที่จะกินข้าว กินอาหารปกติ เมื่อวานซืนกลับไปซื้อส้มตำกินค่ะ"

ผู้ป่วยนอนงอตัวอยู่บนเตียงตรวจ ลืมตามองดูแม่ที่เล่าประวัติให้ หมอฟังเป็นครั้งคราวและบิดตัวไปมา แต่ไม่ได้ส่งเสียงครางหรือร้องเลย หน้าตาและร่างกายสะอาดสะอ้าน มีการเจริญเติบโตตามปกติ และไม่มีลักษณะของการเจ็บหนัก (กระสับกระส่าย ทุรนทุราย หน้าซีดเซียว มือเท้าเย็น เหงื่อออก หรืออื่นๆ)

แพทย์ : "สวัสดีหนู ที่คุณแม่เล่าให้หมอฟังน่ะถูกต้องไหมครับ"
เด็ก : "ก็อาหารเช้ามันไม่อร่อย หนูเลยไปซื้อส้มตำกินดีกว่าปล่อยให้ท้องว่าง แล้วกรดมันกัดกระเพาะ ไม่ใช่หรือคะ"
แพทย์ : "ก็ใช่อยู่ แต่ส้มตำมันมักจะเผ็ดและเปรี้ยว ซึ่งก็จะกัดกระเพาะ เวลากระเพาะว่างเหมือนกัน แล้วตอนนี้หนูปวดท้องตรงไหน ชี้ให้หมอดูหน่อยซิ"

เด็กเอามือชี้ไปที่กลางท้องบริเวณสะดือ

แพทย์ : "หมอขอตรวจท้องหนูหน่อยนะครับ"

เด็กน้อยพยักหน้า หมอจึงเลิกเสื้อขึ้น และเลื่อนขอบกางเกงลงมาเหนือหัวหน่าว แล้วใช้มือคลำและกด เบาๆ ไปทั่วหน้าท้อง เด็กไม่แสดงอาการเจ็บ จึงกดแรงขึ้น พร้อมกับกดแล้วปล่อย (ใช้มือกดลงไปช้าๆ แล้วปล่อยมือทันที) ก็ไม่พบว่าปล่อยมือทันทีแล้วผู้ป่วยเจ็บ แสดงว่าเยื่อบุช่องท้องไม่อักเสบ ฟังเสียงในท้องก็ปกติ (ดูวิธีตรวจใน "ตำราการซักประวัติและการตรวจร่างกาย" สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน พ.ศ. ๒๕๔๔)

แพทย์ : "ท้องหนูยังไม่เป็นอะไรมาก กระเพาะลำไส้หนูยังไม่ทะลุ ไม่อย่างนั้นหนูจะต้องอดน้ำอดอาหาร และต้องผ่าท้องเอากระเพาะลำไส้ออกมาซ่อม หนูอยากให้หมอผ่าท้อง เอากระเพาะลำไส้ออกมาซ่อมไหมล่ะ"

เด็กน้อยสั่นหัว และพูดว่า

เด็ก : "ไม่เอาค่ะ หนูไม่ผ่า"
แพทย์ : "ถ้าหนูไม่ผ่า หนูก็ต้องดูแลตัวเอง อย่าให้ปวดท้องบ่อยๆ ถ้าปวดท้องบ่อยๆ กระเพาะลำไส้จะเป็นแผลและทะลุได้ ถ้ากระเพาะลำไส้ทะลุ หมอก็ต้องผ่าท้องหนูแน่ๆ เพราะหมอไม่มีวิธีรักษาแบบอื่น"
เด็ก : "ก็หนูกินยากระเพาะเป็นประจำ แล้วทำไมยังปวดท้องอีกล่ะคะ"
แพทย์ : "ยากระเพาะมันรักษาปลายเหตุนะหนู มันไม่ได้รักษาสาเหตุ หนูนอนตื่นสายมากจนเกือบเที่ยง กระเพาะของหนูเคยได้รับอาหารตอน เช้าก่อนหนูไปโรงเรียน ดังนั้น พอถึงตอนเช้า ๖ โมง กรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมันจะออกมาเยอะเพื่อรอย่อยอาหาร แต่หนูยังนอนอยู่ มันก็เลยย่อยกระเพาะของหนูแทน แล้วพอหนูตื่นขึ้นมา แทนที่หนูจะกินอาหารธรรมดาที่มันจะไม่ไปกัดกระเพาะ หนูกลับไปกินส้มตำที่มันเสาะท้อง มันก็ไปกัดกระเพาะ ทำให้กระเพาะอักเสบ เมื่อวานหนูจึงปวดท้อง และกินอะไรไม่ค่อยได้ ท้องเลยว่าง กรดในกระเพาะจึงกัดกระเพาะหนูเพิ่มขึ้น เมื่อคืนหนูจึงปวดท้องมาก และเช้านี้ก็ยังปวดท้องมากขึ้นอีก"
เด็ก : "ก็หมอที่รักษาหนูไม่เคยห้ามหนูกินส้มตำนี่คะ"
แพทย์ : "หมอเขาคงไม่รู้ว่าหนูกินส้มตำเวลานอนตื่นสายละมั้ง หนูเคย เล่าให้คุณหมอเขาฟังบ้างไหม"

เด็กยิ้มเจื่อนๆ ไม่รู้จะเถียงอย่างไรต่อ แพทย์หันไปมองแม่เด็ก และถามว่า

แพทย์ : "ลูกคนนี้เป็นลูกคนที่เท่าไรครับ"
แม่เด็ก : "เป็นคนที่ ๒ ค่ะ"
แพทย์ : "แล้วคนโต และน้องๆ อายุเท่าไรครับ"
แม่เด็ก : "คนโตอายุ ๒๒ กำลังจะจบวิศวะแล้วค่ะ แกเป็นคนสุดท้อง ไม่มีน้องๆ อีกค่ะ"
แพทย์ : "เอ...แล้วทำไม ลูก ๒ คน จึงเว้นระยะห่างกันมากละครับ คุมกำเนิดหรือครับ"
แม่เด็ก : "เปล่าค่ะ ไม่ได้คุมค่ะคุณพ่อเขาต้องไปรับราชการต่างจังหวัด ส่วนดิฉันต้องดูแลลูกชายที่เรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ จึงไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน แต่มันคงบังเอิญด้วยค่ะเพราะดิฉันก็มีบุตรยาก แต่งงานกันตั้งหลายปีกว่าจะมีลูกคนโตค่ะ"
แพทย์ : "เอาล่ะ...หมอรู้แล้วว่าทำไมหนูจึงปวดท้องบ่อยๆ  หนูต้อง ฟังหมอให้ดีนะ และคุณแม่ก็ต้องฟังด้วยนะครับ หนูเป็นลูกคนสุดท้อง คุณพ่อคุณแม่มีบุตรยาก เมื่อหนูเกิดมา คุณพ่อคุณแม่จึงรักหนูมาก และตามใจหนู มากเกินไป จึงปล่อยให้หนูดูโทรทัศน์ จนดึกหนูจึงตื่นสาย และกินอาหารไม่เป็นเวลา กรดที่ออกมาในกระเพาะเพื่อรอย่อยอาหารตามเวลาของมัน จึงไม่มีอาหารจะย่อย มันจึงย่อยกระเพาะของหนูแทน ทำให้กระเพาะอาหารหนูอักเสบ จึงปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื่อยมา ถึงจะกินยากระเพาะ ก็เป็นการแก้ปลายเหตุ ไม่ได้แก้สาเหตุ ถ้าหนูอยากจะหาย และไม่ปวดท้องอีก หนูและคุณแม่จะต้องช่วยกันแก้สาเหตุ นั่นคือ อย่ากินอาหารผิดเวลา อย่าปล่อยให้ท้องว่าง อย่ากินอาหารที่เผ็ดหรือเปรี้ยวมากเกินไป หนูจะทำได้ไหมจ๊ะ"

เด็กน้อยพยักหน้าและพูดว่า

เด็ก : "ก็หนูไม่ทราบนี่คะ คิดว่าหมอให้กินยาแก้กระเพาะแล้ว หนูก็กินยาตามสั่ง หมอไม่ได้แนะนำหนูอย่างที่คุณหมอแนะนำหนูนี่ หนูก็เลยกินตามสบาย"

ตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ แสดงให้เห็นว่า การรักษา "คน" นั้นต่างจากการรักษา "โรค" การรักษา "โรค" เรามักจะคิดถึงแต่เรื่องยา การผ่าตัด และการกระทำอื่นๆ ต่อผู้ป่วย การรักษา "คน" คือ การทำให้ผู้ป่วยและญาติมีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการเจ็บป่วยของตน สาเหตุของการเจ็บป่วย และการดูแลรักษาตนเองเพื่อให้หายหรือดีขึ้นจากการเจ็บป่วยนั้น และสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไปตามสมควรแก่สภาพของตน