• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาบอดตอนกลางคืน

วิสุทธิ์/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
ผมอยากขอความรู้เกี่ยวกับคนที่มีอาการตาบอดกลางคืน คือไม่สามารถมองเห็นอะไรได้เลยในเวลา กลางคืน แต่ตอนกลางวันสามารถมองเห็นได้เป็นปกติ ผมมีคำถามที่ต้องการเรียนถามคุณหมอดังนี้ครับ
1. อาการตาบอดตอนกลางคืน หมายถึงอะไร ใช่ที่เรียกว่า night blind หรือไม่ครับ
2. อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาบอดตอนกลางคืน 
3. ถ้าเป็นแล้วสามารถแก้ไขหรือรักษาได้หรือไม่
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยตอบด้วยนะครับ 

นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์ : ผู้ตอบ
1. อาการตาบอดตอนกลางคืน หมายถึงผู้ป่วยคนนั้นมองเห็นภาพวัตถุในที่แสงสลัวหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้นว่าเช้ามืดหรือช่วงหัวค่ำไม่ชัด ยิ่งเป็นตอนกลางคืนมืดๆ ยิ่งไปกันใหญ่ จะมองแทบไม่เห็นประดุจ “ไก่ตาฟาง” นั่นเชียว เห็นเหมือนกัน แต่เห็นไม่ชัด การปรับภาพเพื่อให้เห็นชัดในที่สลัวหรือที่มืดจะช้าว่า ปกติเรียก “สโลว์ ดาร์กอะแดปเตชัน” (Slow dark adaptation)

                 

หรือบางคนที่ตีตั๋วเข้าไปดูหนังในโรงหนัง เมื่อเข้าไปแล้วต้องยืนเป็นไก่ตาฟางอยู่สักพัก จึงจะปรับสายตาให้เข้ากับความมืดภายในโรงหนัง จึงจะมองเห็นเก้าอี้แถวที่นั่งต่างๆ แต่ก็เพียงลางๆ พอเดาๆ ได้ว่าอยู่บริเวณไหน หรือตำแหน่งใด เรียกโรคนี้เป็นภาษาทางจักษุแพทย์ว่า “เรติไนติส ปิกเมนท์โตซา” (Retinitis Pigmentosa) หรือจะใช้คำย่อเป็นที่รู้กันในหมู่พวกหมอตาว่าโรค “อาร์ พี” (RP) ซึ่งจะมีอาการตามัวเมื่อเข้าที่แสงสลัวหรือยามค่ำคืน ส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิง เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งแบ่งการ ถ่ายทอดออกเป็น 3 แบบ แล้วแต่ชนิดไหนถ่ายทอดอย่างไร มีความรุนแรงแค่ไหน ไม่เท่ากัน

แต่มีบางรายที่เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่ได้รับมรดกโรคนี้จากเชื้อสายเผ่าพันธุ์เป็นเฉพาะตัว
ความหมายทางตำรากล่าวว่าเป็นกลุ่มอาการของโรคจอประสาทตาที่เกิดจากภาวะเซลล์รับแสงที่เรียกว่า “โฟโตรีเซ็ปเตอร์” (Photoreceptors) เสื่อมถอย ลดหน้าที่ลงเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป กล่าวง่ายๆ ก็หมายถึง “เสื่อมตามวัย” ทำให้การรับแสงสว่างไม่ปกติ การมองในที่แสงสว่างไม่พอเพียงไม่ชัด นานๆไป เซลล์ชั้นต่างๆที่มีอยู่ 10 ชั้นของจอประสาทตาพลอยฝ่อห่อเหี่ยว (atrophy) ตามไปด้วย การมองเห็นวัตถุต่างๆ มัวซัวลง คือนอกจากจะเข้าที่มืดมองไม่ค่อยเห็น ในที่สว่างก็พลอยไม่ชัดตามควบคู่กันไปด้วยนั่นเอง ถ้าวัดลานสายตาจะ พบว่าแคบเข้ามาตรงกลางเรื่อยๆ ในระยะท้ายของโรค มองไปข้างหน้าเหมือนมองผ่านท่อน้ำ หรือท่ออะไรก็ได้เป็นช่องเข้าไป เป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง ปริมาณพอๆ กัน
2. สาเหตุดังได้กล่าวไว้ในข้อ 1 คือเกิดจากเซลล์รับแสง “โฟโตรีเซ็ปเตอร์ (Photoreceptors) เสื่อม ถอยตามวัยร่วมกับเซลล์จอประสาท ตา (ทั้ง 10 ชั้น) พลอยเสื่อมแล้ว ฝ่อห่อเหี่ยวไปด้วยจากทางพันธุกรรม
3. เป็นแล้วเป็นเลย รักษาไม่ได้ เพราะเกิดจากภาวะเสื่อมถอยตามวัย ตอนท้ายๆ ของโรคจะมองแทบไม่เห็น จะมัวมากทั้งที่มืดและที่แจ้ง และมักจะมีโรคแทรกซ้อนตามมา คือ “ต้อหิน” บางคนคิดว่าวิตามินเอจะช่วยได้ จริงๆแล้วไม่เกี่ยวกันเลย ทางที่ดีน่าจะปรึกษาเรื่องการใช้เครื่องช่วยมองเห็นสำหรับสายตาพิการไว้จะเป็นการดี ที่เรียกว่า “วิชัวเอด” (Visual aid) ในระยะท้ายของโรค