• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตาบอดสี

-  เอกชัย/กรุงเทพฯ : ผู้ถาม
ลูกชายผมอายุ 15 ปี ไม่สามารถแยกสีเหลืองอ่อนกับสีเหลืองแก่ได้ จึงพาไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง หมอตรวจแล้วสรุปว่าเป็นตาบอดสีแดง-เขียว

ผมอยากทราบว่า
1. สามารถรักษาได้หรือไม่
2. ทำไมลูกยังแยกสีเขียวและแดง ได้อย่างถูกต้อง (จากการตรวจสอบเอง) แต่ลูกไม่สามารถแยกสีเขียวออกจากกลุ่มสีเทาได้ (ในการตรวจสอบของหมอ)
3. เป็นลักษณะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้หรือไม่

- นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย : ผู้ตอบ
ตอบทีละข้อนะครับ
1. โรคตาบอดสีส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำการรักษาได้ครับ
2. ตาบอดสีมีหลายระดับครับบางชนิดความรุนแรงมากจนไม่สามารถแยกสีได้เลย บางชนิดมีความรุนแรงน้อย ทำให้ไม่มีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน อาจมีเพียงแค่แยกสีสีเดียวกันที่มีความอ่อนแก่ (ความเข้ม)ใกล้เคียงกันไม่ได้เท่านั้น โรคตาบอดสีเขียว-แดง ไม่จำเป็นต้องเป็นถึงขั้นไม่สามารถมองเห็นสีเขียว แดงได้เลยหรอกครับ แค่อาจจะบกพร่องไปเล็กน้อยเท่านั้น
3. โรคตาบอดสี ส่วนใหญ่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมครับ และมักเป็นในผู้ชาย เนื่องจากชนิดที่พบมากที่ สุด มักเป็นยีนด้อยของโครโมโซมX ซึ่งผู้ชายจะมีโครโมโซมเพศ x เพียงอันเดียว (อีกอันเป็น y) ทำให้ เมื่อได้ยีนด้อยตัวนี้มาก็จะแสดงผลเลย แต่ผู้หญิงต้องมียีนตัวนี้มาจาก ทั้ง 2 X ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี โรคนี้อาจเกิดขึ้นเอง (sporadic) ได้ และอาจเกิดขึ้นโดยไม่สามารถระบุลักษณะของการ ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เลยก็ได้ครับ
 
ในกรณีที่มีความรุนแรงมากทำให้แยกสีได้ไม่ดี แม้สีจะมีความแตกต่างกันมาก อาจมีผลต่อการประกอบอาชีพบางอย่างได้ครับ เช่น แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ เป็นต้น

ควรขอคำปรึกษาจากจักษุแพทย์ครับ ว่าปัญหานี้รุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้าหมอเค้าบอกว่าไม่เป็นไร เป็นนิดเดียว ก็ขอใบรับรองแพทย์ไว้เลย (ถ้าลูกค่อนข้างโตแล้ว อยู่ชั้นมัธยมอะไรอย่างนี้นะครับ ถ้ายังอยู่ประถมก็ออกจะเร็วไปหน่อย)

อย่าวิตกมากไปนะครับ โดยมากโรคจะไม่ค่อยรุนแรงถึงขนาดทำงานทำการไม่ได้หรอก
ผมก็มีเพื่อนเป็นหมอรุ่นเดียวกันที่ตาบอดสีแบบอ่อนๆ ก็ทำงานได้ดี ไม่มีปัญหา เรียนต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้สบาย