• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

20 ถาม – ตอบ เรื่อง...กาฬโรค

20 ถาม – ตอบ เรื่อง...กาฬโรค

 

 1. ทำไมจึงชื่อกาฬโรค บางคนเรียกไข้ดำ หรือมฤตยูทมิฬ บ้างว่ามฤตยูดำ
ชื่อกาฬโรค เป็นศัพท์ที่เมืองไทยใช้เฉพาะมานาน มาจากคำภาษาอังกฤษที่ว่าพล๊าก(plague) จากรายงานการบันทึก โรคนี้เริ่มระบาดครั้งแรกในคริสศตวรรษที่ 6 (ประมาณ พ.ศ. 1085) ที่ประเทศอียิปต์ ทวีปแอฟริกา หรือกาฬทวีป (แห่งลุ่มน้ำไนล์) จะได้ชื่อโรคตามทวีปหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้
ส่วนคำว่ามฤตยูดำ (Black Death) เกิดขึ้นหลังจากระบาดครั้งใหญ่ในทวีปยุโรป เมื่อคริสศตวรรษที่ 14 มีคนป่วยตายจำนวนมาก ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับจุดห้อเลือดคล้ำๆตามผิวหนังของผู้ป่วย

แต่ไข้ดำ หรือมฤตยูทมิฬ น่าจะเป็นภาษาหนังสือพิมพ์มากกว่า ซึ่งเร็วๆนี้ก็ใช้ไข้ดำเรียกเป็นชื่อโรคพิษจากสารหนู ที่พบในอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนอีกคำหนึ่งคือไข้ปัสสาวะดำ เป็นผลพวงจากไข้มาลาเรียที่มีอาการมากชนิดหนึ่ง กระทั่งปัสสาวะออกเป็นสีดำ คนละเรื่องกันนะครับ และคนละเรื่องกับไข้กาฬหลังแอ่นซึ่งเกิดจากเชื้อโรคเมนิงโก คอกคัส เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ถ้าจะว่าตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2545
คำว่า “กาฬ” เป็นรอยดำหรือแดงที่ผุดตามร่างกายคนเมื่อตายแล้ว (เป็นคำนาม) นอกจากนี้ยังหมายความว่า ดำ ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ ส่วนคำว่า “โรค” หมายความว่า ความเจ็บไข้ ความเจ็บป่วย ความบกพร่อง หรือความผิดปกติทางจิตใจ และความหมายของคำว่า “กาฬโรค” (กาน-ละ-โรก) เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อโรคระบาดร้ายแรงชนิดหนึ่งมักมีอาการบวมนูนที่รักแร้ เป็นต้น
คงพอจะรวมความกันได้กระมังว่า กาฬโรคเป็นความเจ็บไข้ชนิดที่เป็นโรคระบาดร้ายแรงชนิดหนึ่ง มักมีอาการบวมนูนที่รักแร้ เป็นต้น เมื่อตายแล้วเหลือเป็นรอยดำหรือแดงผุดตามร่างกาย

2. มีเชื้ออะไรเป็นสาเหตุของโรค
ชื่อเชื้อเยอร์ซิเนีย เพลติส(Yersinia pestis) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแท่ง

3. ทราบว่าเมืองไทยเคยมีกาฬโรคระบาด อยากทราบว่าเมื่อใด
มีรายงานผู้ป่วยเมื่อปี พ.ศ. 2447 ในเขตกรุงเทพฯ สันนิษฐานว่าติดต่อมาจากประเทศจีนโดยทางเรือ เนื่องจากมีการระบาดในมณฑลยูนานประมาณปี พ.ศ. 2409 มณฑลกวางตุ้งและเกาะฮ่องกง ปีพ.ศ. 2437 ในปี พ.ศ. 2460 มีการระบาดใหญ่ที่เมืองโคราช มีผู้ป่วยตาย 580 ราย ระหว่างปีพ.ศ. 2461-2477 มีผู้ป่วยตาย 199 ราย จากนั้นมีการระบาดอีกที่จังหวัดตาก ปีพ.ศ. 2481 ที่กรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2483 และที่เมืองโคราช ปีพ.ศ. 2485 นับแต่ปีพ.ศ. 2495 เป็นต้นมาไม่มีรายงานพบผู้ป่วยอีกเลย (Plaque, R. Pollitzer, องค์การอนามัยโลกเมืองเจนีวา, พ.ศ. 2497)

4. กาฬโรคมีกี่ชนิด อะไรบ้าง
กาฬโรคมี 3 ชนิด คือ

1. ชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นชนิดที่อ่อนที่สุด และพบบ่อยที่สุด ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบนั้นจะบวมแดงและนิ่ม เวลากดจะเจ็บ ตำแหน่งที่พบได้แก่ ข้างคอ ขาหนีบ รักแร้ อาจมีไข้ร่วมด้วย ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นชนิดที่ 2 คือ เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด

2. ชนิดเชื้อในกระแสเลือด มักจะลุกลามจากชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มีอาการไข้สูง ความดันเลือดต่ำ ช็อก หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย เพ้อ หมดสติ เลือดออกในอวัยวะต่างๆ เสียชีวิตภายใน 3-5 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง

3. ชนิดกาฬโรคปอด อาจเกิดตามหลังจาก 2 ชนิดแรก หรือติดเชื้อจากคนไอจามรดกัน มีอาการปอดบวม ไอเป็นน้ำ เสมหะไม่เหนียว ต่อมาจะมีเลือดปน อ่อนเพลีย มีไข้เหมือนกับ 2 ชนิดแรก หากไม่ได้รับการรักษา จะตายเร็วมากภายใน 1-3 วัน
นอกจากนี้อาจเป็นชนิดเล็กน้อยเหมือนอาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ไอเหมือนเจ็บคอ หรือหวัดทั่วไป

5. อาการก็คล้ายๆกับโรคอื่นหลายโรค แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นกาฬโรค
ต้องได้ประวัติว่าติดหรือสัมผัสกับเชื้อโรค เช่น เพิ่งกลับจากเมืองสุรัต รัฐมหาราช ประเทศอินเดีย อย่างนี้ถ้ามีอาการก็สงสัยไว้ก่อน หรือไปป่าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เวียดนาม อาจสัมผัสกับหนูหรือหมัดก็มีโอกาสติดเชื้อ แต่ควรจะคิดถึงโรคอื่นไว้ด้วย คือวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆออกไปด้วย อาจเป็นมาลาเรีย ไทฟัส เป็นต้น แล้วแพทย์จะช่วยวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

6. วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการทำได้อย่างไรบ้าง

การตรวจพบเชื้อเยอร์ซิเนีย เพลติส อาจทำได้โดยการเจาะน้ำจากต่อมน้ำเหลืองที่บวม หรือเอาเสมหะมาย้อมสีหรือเพาะเชื้อ หรืออาจฉีดเชื้อที่สงสัยเข้าสัตว์ทดลอง เช่น หนูตะเภา นอกจากนี้ยังมีวิธีวินิจฉัยทางปฏิกิริยาน้ำเหลืองต่างๆอีกด้วย

7. คนที่จะติดโรคขึ้นอยู่กับเพศและอายุหรือไม่
กาฬโรคสามารถติดต่อได้ทุกเพศและทุกอายุ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง

8. กาฬโรคติดต่อกันได้อย่างไร
1. ติดต่อทางการหายใจ โดยคนสูดเอาละอองเชื้อโรค(ไอ จาม เสมหะ)จากผู้ที่เป็นโรค หรือจากหนู หรือจากหมัดหนู สูดเข้าไป กลายเป็นกาฬโรคชนิดที่ติดเชื้อทางกระแสเลือดหรือกาฬโรคปอด ชนิดนี้รุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย

2. ติดต่อทางผิวหนัง โดยหมัดหนูที่เป็นโรคกัดคน หรือคนสัมผัสกับหนูที่มีเชื้อโรค ทำให้เกิดกาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ต่อไปจะกลายเป็นชนิดปอดอักเสบได้

9. การที่เชื้อกาฬโรคติดต่อจากหนู และหมัดหนูสู่คน ติดต่อกันได้อย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร
จริงๆแล้วเชื้อกาฬโรคมีอยู่ในสัตว์ป่าประเภทใช้ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนูป่า กระต่ายป่า แล้วสัตว์พวกนี้ไปแทะกินเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยกาฬโรค และที่สำคัญคือ ตัวหมัด(oriental flea)ซึ่งติดเชื้อจากสัตว์ที่ตายจะกระโดดไปสู่สัตว์เป็นๆ ที่มาสัมผัสหรือแทะกินสัตว์ตาย เชื้อนี้ก็วนเวียนอยู่ในป่านั้นเป็นวงจรโรคในป่า
วงจรโรคในบ้าน ในเรื่องหมัดจะโดยบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบที่หนูสีน้ำตาลตัวโตๆ ที่อาศัยในท่อระบายน้ำ ไปสัมผัสกับหมัดที่มีเชื้อกาฬโรคซึ่งได้มาจากสัตว์ป่าที่เป็นโรคตาย คนจึงได้รับเชื้อจากหมัดหรือหนูอีกต่อหนึ่ง

10. เมื่อได้รับเชื้อแล้ว นานมั้ยจึงจะแสดงอาการ
ก็แล้วแต่ชนิด ถ้าได้รับเชื้อมา การฟักตัวเฉลี่ยประมาณ 2-8 วัน บางรายอาจเร็วกว่านั้น เช่น ชนิดกาฬโรคปอด 2-3 วัน ก็แสดงอาการแล้ว

11. เหตุใดจึงมีข่าวการระบาดขึ้นที่ประเทศอินเดียเท่านั้น
จริงๆโรคนี้ยังมีอยู่ในบางประเทศ แต่ที่ประเทศอินเดียมีผู้ป่วยจำนวนมากจึงเป็นข่าวใหญ่ และจากการศึกษาพบว่าประเทศอินเดียมีสภาพภูมิอากาศที่เป็นใจด้วย คือมีอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า ซึ่งพาหะนำโรคคือหมัดหนู ดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งประเทศอินเดียมีประชากรหนาแน่น และการสุขาภิบาลไม่ดีพอ

12. โรคนี้ระบาดที่อินเดีย ทำไมประเทศไทยจึงต้องกลัวด้วย
เพราะโรคนี้เป็นโรคระบาด และการคมนาคมในปัจจุบันก็สะดวกง่ายดาย เปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นโรคนำเชื้อโรคเข้ามาได้ง่าย ถ้าหากเราไม่รู้เท่าทันปล่อยปละละเลยเราก็จะติดโรค และระบาดต่อไปได้ง่าย
เพราะฉะนั้นหนูที่ติดมาตามเรือหรือลังอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งมาจากประเทศอินเดีย เวียดนาม พม่า ฯลฯ ก็ต้องระวัง เพราะอาจติดเชื้อและมีหมัดติดเชื้อมาด้วย ทางการจึงต้องระมัดระวังเข้มงวดกำจัดหนู แม้แต่สายโยง สายผูกเรือ ก็ยังต้องมีกระโจมป้องกันทั้งหนูบ้านและหนูที่มาตามเรือได้ ซึ่งมีโอกาสสัมผัสติดต่อกัน

13. โอกาสที่เชื้อโรคนี้จะแพร่มีได้มากน้อยเพียงใด
อย่างที่กล่าวแล้ว มีโอกาสถ้าระบบการสอดส่องดูแลหรือการเฝ้าระวังโรคของสาธารณสุข หรือการท่าเรือ การท่าอากาศยาน ไม่ดีพอ เช่น ดูแลผู้ต้องสงสัยจะเป็นโรค การควบคุมกักกัน การตรวจหนู จับหนูมาตรวจหาเชื้อโรค การกันหนูไม่ให้ขึ้นหรือลงเรือ แม้กระทั่งลูกเรือ กลาสีเรือต่างๆ ก็ต้องจับตาดูหมดจึงจะป้องกันได้
อีกอย่างหนึ่ง ในบ้านเราเองควรจัดวางข้าวของให้เป็นระเบียบ ไม่เป็นที่ซ่อนหรือเป็นแหล่งอาหารของหนู ก็จะช่วยป้องกันกาฬโรคและโรคอื่นๆที่ติดจากหนูได้อีกด้วย พูดง่ายๆคือสุขอนามัยในครัวเรือนต้องพัฒนาขึ้น

14. ฟังดูแล้วน่ากลัว คนแถบไหนที่มีโอกาสติดเชื้อ
มีโอกาสเหมือนๆกัน ถ้าสัมผัสกับหมัดหรือคนเป็นโรค แต่พวกที่อยู่ตามชายแดนพม่า ลาว ต้องระวัง และคนที่มีโอกาสสัมผัสกับชาวอินเดีย พม่า เวียดนาม ควรระวัง (ตามทฤษฎีนะครับ)

15. โรคนี้ติดมากับอาหารได้หรือไม่
ไม่น่าจะติดได้ เพราะส่วนใหญ่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ หรือติดเชื้อโดยตรงจากหมัด หรือหนูป่า สัตว์ป่า
ยังไม่เคยเห็นมีใครระบุว่าติดเชื้อจากการกินอาหาร แต่ระวังไว้ก่อนก็ดี โดยเฉพาะการหายใจ จามรดกัน นอกจากเชื้อกาฬโรคแล้ว ยังมีเชื้อโรคอื่นๆอีกที่ติดทางนี้ได้

16. แถวบ้านมีหนูนามากมาย ดักเอามากินจะเป็นกาฬโรคได้มั้ย
คงไม่เป็นกาฬโรคหรอก แต่การจับ ชำแหละ ลอกหนัง หรือทำความสะอาดหนู ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้มีบาดแผลที่มือ และต้องคอยดูเรื่องหมัดที่ตัวหนูด้วย ถ้าไม่แน่ใจอย่านำมากิน ให้เผาทิ้งเสีย อีกอย่างคือเนื้อหนูที่นำมากินต้องทำให้สุกจริง ทั้งปิ้ง ย่าง หรือแกงก็แล้วแต่ จะป้องกันโรคหรือพยาธิชนิดอื่นได้อีกด้วย

17. มาตรการในการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขมีอะไรบ้าง
มาตรการทั้งหมดมี 5 ข้อดังนี้
1. ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคระหว่างประเทศ ตรวจผู้เดินทางมาจากประเทศอินเดีย ทั้งทางเครื่องบินและทางเรือทุกคนก่อนเข้าประเทศ ถ้ามีอาการสงสัยจะต้องตรวจอย่างละเอียด หรือกักกัน เพื่อสังเกตอาการให้การรักษา สำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศจะได้รับบัตรเตือนให้รายงานตัวต่อแพทย์เมื่อมีอาการป่วย

2. ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคระหว่างประเทศ ตรวจเครื่องบินที่มาจากประเทศที่มีกาฬโรคระบาด และตรวจเรือขนส่งระหว่างประเทศทุกลำ ให้แน่ใจว่าสะอาด ปราศจากหนูและหมัดหนู หากพบว่าไม่เข้ามาตรฐาน จะให้มีการทำลายทันที

3. เฝ้าระวังและควบคุมหนูและหมัดหนูตามท่าเรือ และท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่ง

4. แจ้งเตือนแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศให้ทราบสถานการณ์ และให้ความเอาใจใส่ในการทบทวน ศึกษา วินิจฉัย รักษา เฝ้าระวัง และรายงานโรคอย่างเคร่งครัดและถี่ถ้วน

5. เตรียมการจัดหายาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษากาฬโรค ให้มีไว้อย่างพอเพียงในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขของรัฐฯ ทุกแห่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และให้คำแนะนำแก่โรงพยาบาลเอกชนให้มีการเตรียมการด้วยเช่นเดียวกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านดูมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขแล้วทำให้รู้สึกมั่นใจ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติตามประกาศนั่นแหละ เป็นกุญแจดอกสำคัญ และเป็นการแสดงถึงประสิทธิภาพของการเตรียมพร้อมเพื่อรับการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆด้วย

18. ทราบว่าถ้าเป็นกาฬโรคสามารถรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ อยากทราบว่ายาเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษากาฬโรคได้แก่
1. สเตรปโตมัยซิน
2. คลอแรมเฟนิคอล
3. เตตราซัยคลีน
4. โคไตรม็อกซาโซล

19. การป้องกันโดยใช้วัคซีนมีหรือไม่
มีเหมือนกัน แต่มีภูมิคุ้มกันได้แค่ 6 เดือน และจะให้กับผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรคเท่านั้น และต้องขอจากสถาบันปาสเตอร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คงลำบากสักหน่อย

20. ตัวเราเองซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาทั่วไปจะสามารถป้องกันได้อย่างไร
กาฬโรคป้องกันได้ดังนี้
1. สำหรับผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรค หรือหนูที่สงสัยว่าตายจากกาฬโรค ต้องกินยาเตตราซัยคลีนวันละ 1 กรัม (แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 แคปซูล 4 เวลา หลังอาหาร) เป็นเวลา 7 วัน

2. การป้องกันส่วนบุคคล เช่น ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก ใช้หลายๆชั้น สวมถุงมือยาง สวมแว่นตาให้มิดชิด

3. กำจัดหนู กำจัดหมัด จัดที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อย ถูกสุขลักษณะ

หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะพอเข้าใจ และรู้เท่าทันกาฬโรคพอที่จะไม่ตื่นตระหนก และปรับปรุงวิถีชีวิต ไม่คลุกคลีกับชาวต่างชาติโดยไม่จำเป็น นอกจากจะไม่ติดกาฬโรคแล้ว ชาวต่างชาติบางคนอาจจะมีเชื้อโรคเอดส์ หรือโรคอันตรายอย่างอื่นอีกก็ได้