• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 5)

เจ็บหัวใจ (ตอนที่ 5)
 

ผู้ป่วยรายนี้มาหาผมเพราะไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นโรคอะไรกันแน่ เนื่องจากไปหาหมอแล้วหมอบอกว่าเป็นโรคกระเพาะ จึงจ่ายยาโรคกระเพาะมาให้ แต่ก็ไม่หาย จึงเปลี่ยนหมอ
ผมได้ซักถามประวัติและตรวจร่างกายแล้ว การตรวจร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ นอกจากความดันเลือดสูงเล็กน้อย(160/100) มีตุ่มไขมัน(xanthelasma)เล็กๆที่หนังตาซ้าย และผู้ป่วยค่อนข้างอ้วน

หมอ :จากการตรวจร่างกาย คุณมีความดันเลือดสูงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคุณตื่นเต้นหรือเครียดที่มาตรวจกับหมอเป็นครั้งแรก ซึ่งจะต้องตรวจซ้ำในคราวต่อๆไป ถ้ามันยังสูงอยู่ ก็จะแสดงว่าคุณเป็นโรคความดันเลือดสูงได้
“ในครอบครัวของคุณ มีใครเป็นความดันเลือดสูงหรือไม่ครับ”
ชาย : “มีครับ คุณพ่อเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ และเบาหวานด้วย แม่ยายก็เป็นโรคความดันเลือดสูงครับ”
หมอ : “แม่ยายคงไม่เกี่ยวกับการเป็นโรคของคุณ แต่สายเลือดทางพ่ออาจจะถ่ายทอดมาถึงคุณ ทำให้คุณมีโอกาสเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ หรือเบาหวานได้มากกว่าคนอื่นที่ไม่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือพี่น้องเป็นโรคดังกล่าว”
ชาย : “นี้หมายความว่าผมจะเป็นโรคทั้ง 3 อย่างตามคุณพ่อหรือครับ”
หมอ : “เปล่า หมอเพียงแต่บอกว่า คุณมีโอกาสมากกว่าคนอื่นที่สายเลือดเขาเป็นปกติเท่านั้น คุณอาจจะไม่เป็นโรคใดโรคหนึ่งเลยก็ได้
“แต่จากการตรวจร่างกายของคุณ ประกอบกับประวัติครอบครัวของคุณ ทำให้หมอสงสัยว่าคุณคงจะเริ่มเป็นโรคความดันเลือดสูง และอาจจะมีโรคอื่นร่วมด้วย
แล้วในครอบครัวของคุณมีใครมีตุ่มสีจางๆ ที่หนังตาคล้ายของคุณอย่างนี้มั้ย”
ชาย : “ครับ คุณพ่อก็มีตุ่มแบบนี้ทั้ง 2 ข้างเลย”
หมอ : “เอ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าคุณได้รับการถ่ายทอดเชื้อพันธุ์(กรรมพันธุ์)จากคุณพ่อมามากพอสมควรในด้านโรคเหล่านี้
“ตุ่มเหล่านี้เป็นตุ่มไขมันซึ่งมักจะแสดงว่า ไขมันในเลือดสูง คุณเคยตรวจไขมันในเลือดสูงหรือเปล่าครับ”
ชาย : “ไม่เคยครับ เพราะคุณหมอคนก่อนๆเขาไม่ได้พูดหรือถามผมเรื่องนี้ เขาถามผมเรื่องโรคกระเพาะ ลำไส้และถุงน้ำดีเท่านั้น และเขาก็ไม่ได้ถามผมเรื่องคุณพ่อคุณแม่ด้วย อ๋อ คุณพ่อผมก็มีไขมันในเลือดสูงด้วยครับ”
หมอ : “ถ้าอย่างนั้น หมอคงต้องตรวจเลือดให้คุณสัก 3-4 อย่างก่อน คือ
“ตรวจน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานมั้ย
“ตรวจไขมันในเลือด 2 อย่าง คือ โคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เพื่อดูว่าไขมันในเลือดสูงมั้ย และถ้าสูงเป็นชนิดใด
“และตรวจหน้าที่ของไต คือครีอะตินีน(creatinine)ด้วย”
ชาย : “หมอจะตรวจวันนี้เลยหรือครับ”
หมอ:  “ไม่หรอกครับ เพราะการตรวจเลือดดูน้ำตาลและไขมันนั้น คุณต้องมาตรวจตอนเช้าหลังนอนหลับพักผ่อนมาอย่างดี อดอาหารมาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และ 3-4 วันก่อนตรวจ ควรกินอาหารตามปกติ งดงานเลี้ยง หรืออาหารพิเศษพิสดารต่างๆ เป็นต้น” (ดูเรื่องไขมันในเลือดสูง ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 182 มิถุนายน 2537)
ชาย : “แล้ววันนี้หมอไม่ให้ยาอะไรผมหรือครับ”
หมอ : “ให้ครับ แต่ไม่ใช่ยารักษาความดันเลือดสูง ยาเบาหวาน และยาลดไขมันในเลือด เพราะหมอต้องรู้ผลของการตรวจเลือดก่อน
“ยาที่หมอจะให้เป็นยาสำหรับแก้อาการเหนื่อยหรือแน่น ในขณะที่คุณออกกำลังหรือเกิดอาการหลังกินอาหารอิ่มๆ
“ถ้าคุณมีอาการเช่นนั้นเมื่อไร ให้รีบนั่งลง และเอายานี้ใส่ไว้ใต้ลิ้น หรือคุณจะใส่ในปาก เคี้ยวแล้วอมไว้ให้ยาดูดซึมไปก็ได้
“เมื่อคุณอมยาไว้อาจจะรู้สึกเผ็ดๆที่ใต้ลิ้นหรือในปาก อาจจะรู้สึกมึนหัว หรือปวดหัว ไม่ต้องตกใจ นั่นแสดงว่ายากำลังออกฤทธิ์
“หลังยาออกฤทธิ์แล้ว ถ้าอาการเหนื่อยหรือแน่นของคุณดีขึ้น ก็อาจจะแสดงว่า อาการเหนื่อยหรือแน่นของคุณนั้นเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้”
ชาย : “คุณหมอว่าผมเป็นโรคหัวใจหรือครับ”
หมอ : “หมอยังไม่แน่ใจ แต่อาการของคุณที่เหนื่อยหรือแน่นอย่างกะทันหันในขณะออกกำลังหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ ประกอบกับประวัติทางครอบครัว คือคุณพ่อของคุณ และการตรวจร่างกายที่พบความดันเลือดสูงและตุ่มไขมันที่หนังตา
“ทำให้หมอคิดว่า อาการเหนื่อยและแน่นของคุณอาจจะเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ จึงให้ยาอมใต้ลิ้นคุณไปใช้ดูว่าจะช่วยแก้อาการดังกล่าวได้มั้ย”
ชาย : “แต่คุณหมอบอกว่า ตรวจร่างกายของผมแล้วหัวใจก็ปกติดี และคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผมเอามาให้หมอดูก็ปกติไม่ใช่หรือครับ”
หมอ : “ใช่ครับ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบส่วนใหญ่โดยเฉพาะในระยะแรก หรือบางครั้งในระยะที่เป็นมากแล้ว การตรวจร่างกายและการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมักจะหรืออาจจะปกติได้
“การวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องอาศัยประวัติอาการ และประวัติของปัจจัยเสี่ยง(ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้) เช่น กรรมพันธุ์ อายุ และเพศ โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด เป็นต้น มาประกอบ เพื่อทำให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น”
ชาย : “แล้วไม่มีวิธีตรวจอย่างอื่นที่จะบอกได้แน่นอนหรือครับ”
หมอ : “มรครับ การตรวจที่บอกได้แน่นอนที่สุด คือการสวนหัวใจและตรวจหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งต้องเจ็บตัว เสียค่าใช้จ่ายสูง และอาจมีอันตรายได้ คุณอยากจะสวนหัวใจดูหรือครับ” (ดูการตรวจพิเศษสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ในคนไข้รายที่ 2 ฉบับที่ 187)
ชาย : “ยังครับ ขอผมลองใช้ยาที่หมอให้ดูก่อนดีกว่า ผมไม่อยากเจ็บตัว หรือเสี่ยงกับการสวนหัวใจในขณะที่ผมยังดีๆอยู่ครับ
“อ้อ แล้วเรื่องโรคกระเพาะของผมล่ะครับ”
หมอ : “อาการแสบท้องขณะหิว และการกินยาแก้โรคกระเพาะแล้วทำให้อาการเหล่านี้หายไป แสดงว่าคุณคงเป็นโรคกระเพาะอยู่ด้วย แต่คงเป็นแค่โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เหมือนที่หมอคนก่อนของคุณบอก เพราะเอกซเรย์แล้วไม่พบแผล แต่แผลเล็กๆหรือตื้นๆ ก็อาจตรวจไม่พบในเอกซเรย์ได้
“อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณกินยาแก้โรคกระเพาะแล้วดีขึ้นคุณก็ควรกินยาดังกล่าวต่ออีกสักพัก จนอาการหายขาด แล้วจึงค่อยๆลดยาลง และถ้าไม่มีอาการก็อาจหยุดยาได้”
ชาย : “ถ้าอย่างนั้นผมจะเอายาที่หมอให้ไปลองใช้ขณะที่ผมมีอาการดูก่อน และผมจะมาตรวจเลือดตามที่หมอสั่งหลังจากระวังเรื่องอาหารและการพักผ่อนสัก 1สัปดาห์ แล้วประมาณสัปดาห์หน้าผมจะแวะมาหาหมอใหม่ หรือหมอจะนัดผมเมื่อไรครับ”
หมอ : “ตามแต่คุณจะสะดวกก็ได้ แต่คุณควรจะโทรศัพท์เข้ามานัดกับพยาบาลเขาล่วงหน้าสัก 2-3 วัน จะได้ไม่ต้องมานั่งรอตรวจ
หรือถ้าจะให้ดี คุณนัดเสียแต่วันนี้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาโทรศัพท์เข้ามา เพราะช่วงที่คุณสะดวกอาจจะมีคนไข้นัดมาก่อนคุณแล้วก็ได้”
ชาย : “ถ้าอย่างนั้น ผมขอนัดวันนี้เลย จะได้มีวันเวลาที่แน่นอน ไม่อย่างนั้นผมอาจผลัดวันไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีข้ออ้างกับลูกค้าที่มาซื้อของที่ร้าน คุณหมอมีอะไรจะแนะนำผมอีกมั้ยครับ”
หมอ : “ในขณะที่ยังไม่รู้แน่ว่าคุณเป็นอะไร ถ้าคุณจะลดน้ำหนักลงบ้าง โดยลดอาหารไขมันและอาหารแป้งรวมทั้งอาหารหวานและข้าวลงให้มากๆ ก็จะเป็นประโยชน์แก่คุณ แม้คุณจะไม่เป็นโรคดังกล่าวข้างต้นก็ตาม
“อ้อ คุณไม่ควรกินจนอิ่มมากด้วย เอาแค่จวนจะอิ่มหรือเกือบอิ่มก็พอแล้ว จะได้สบายขึ้น”
ชาย : “ครับ ขอบคุณครับหมอ ผมจะพยายามระวังปาก สวัสดีครับ”

 

                                                                                                                             (อ่านต่อฉบับหน้า)