• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดเจ็บจากกีฬา

บาดเจ็บจากกีฬา

ถาม : คมคาย/ระยอง

ดิฉันเห็นเด็กๆ วิ่งเล่นออกกำลังกายแล้วหกล้มบาดเจ็บ พ่อแม่มักจะใช้ยาหม่องถูทาบริเวณที่บาดเจ็บ เป็นการช่วยเหลือที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

ตอบ : นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์

การที่พ่อแม่ใช้ยาหม่องถูทาบริเวณที่บาดเจ็บของลูกหลานตนเองเพื่อลดอาการปวดบวมนั้นไม่ถูกต้อง
การปฐมพยาบาลเพื่อลดอาการปวดและบวม
1. พยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวบริเวณที่บาดเจ็บให้มากที่สุด
2. ประคบด้วยความเย็น เช่น ใช้ผ้าหุ้มก้อนน้ำแข็ง ออกแรงกดเล็กน้อยบริเวณที่บาดเจ็บ ความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ช่วยให้เลือดหยุดเร็วไม่ออกมากภายในเนื้อเยื่อ จะช่วยไม่ให้การบาดเจ็บเป็นมาก ผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือป้องกันอาการอักเสบและบวมได้
เมื่อเกิดบาดเจ็บใหม่ๆ ระยะ 24-48๘ ชั่วโมงแรกให้ใช้ความเย็น ไม่ใช่ความร้อน
การใช้ยาหม่องหรือครีมนวดที่ทาแล้วร้อน ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เป็นสาเหตุให้เลือดที่ออกหยุดยาก เกิดอาการบวมมากขึ้นได้
3. ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงลดอาการบวม เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ไม่คั่งอยู่บริเวณที่บาดเจ็บ เช่น กรณีข้อเท้าแพลง เวลานั่งควรยกเท้าพาดเก้าอี้ ไม่ควรนั่งห้อย เท้านานๆ เวลานอนก็หาม้วนผ้ามาหนุนเท้าให้สูงขึ้นจะดีมาก
4. ถ้าปวดมากก็อย่าลืมกินยาแก้ปวด ยาพาราเซตตามอล เป็นยาที่ได้ผลดีและค่อนข้างปลอดภัย สามารถหาซื้อมากินเองได้ (ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับ)

การปฐมพยาบาลเพื่อลดการอักเสบ
เมื่อพ้นระยะ 24-72 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ) การใช้เครื่องช่วยพยุงก็จะช่วยปกป้องส่วนที่บาดเจ็บได้ เช่น การใช้ไม้ค้ำยันหรือไม้เท้ากรณี บาดเจ็บที่ขา การใส่ผ้ายืดรัดที่ข้อศอก หรือ การใส่ปลอกคอ เป็นต้น
ระยะนี้ควรจะใช้ความร้อนช่วยด้วยจากหลายรูปแบบ
1. เครื่องมือทางกายภาพ เช่น กระเป๋าไฟฟ้า ถุงร้อน
2. การใช้ยาเฉพาะที่ เช่น ครีม โลชั่น น้ำมัน บางชนิดก็ทำออกมาในรูปแบบของสเปรย์เพื่อความสะดวก
 
มีข้อควรระวังก็คือการแพ้ยาและต้องระวังการใช้ยาบริเวณผิวหนังที่อ่อนบางเพราะอาจร้อนเกินไป