• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถามตอบปัญหาสุขภาพ

ไขมันเกาะตับ

ถาม : กันต์/ชลบุรี    
อายุ 50 ปีแล้ว ไปตรวจอัลตราซาวนด์ หมอบอกว่าเป็นโรคไขมันเกาะตับ และน้ำตาลในเลือดกำลังจะมา คุณหมอไม่ได้ให้ยาอะไรเลย บอกให้ควบคุมอาหารเท่านั้น

ขอเรียนถามว่า
1. ไขมันเกาะตับคืออะไร อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่ ดูแลตัวเองอย่างไร
2. น้ำตาลในเลือดกำลังจะมา หมายถึงอะไร  ป้องกันได้หรือไม่ อย่างไร

ตอบ : นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์

ขอตอบคำถามดังนี้

1. ไขมันเกาะตับ พอกตับ หรือแทรกในตับ
คือพบว่ามีไขมันไปสะสมอยู่ในเนื้อตับมากกว่าปกติจากการตรวจอัลตราซาวนด์ ไขมันในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมัน หรืออยู่ในรูปที่ เรียกว่าไตรกลีเซอไรด์ (คือกรดไขมัน 3 ตัว รวมกับสารกลีเซอรอล) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ถ้าทิ้งไว้นานเป็นปีๆ เพิ่มโอกาสเกิด ตับอักเสบเรื้อรัง จนกระทั่งตับแข็ง หรือมะเร็งตับ ซึ่งจะมีอาการตาเหลือง แน่นท้อง ท้องโตขึ้น บวมกดบุ๋ม ขา 2 ข้าง เป็นต้น

ไขมันเกาะตับมักจะเกิดร่วมกับภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุเกิดจากการกินอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล ของหวาน แอลกอฮอล์ (อร่อยเกิน) และไม่ได้ออกกำลังกาย (สบายเกิน) จนเกิดอ้วนเกินตามมา ไขมัน น้ำตาล แป้ง ที่กินเข้าไปใช้ไม่หมดหรือ ไม่ได้ถูกใช้ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ ไปสะสมอยู่ที่เนื้อตับ นานๆ เข้าการทำงานของตับก็จะลดลง เพราะเกิดการอักเสบในตับ ยิ่งถ้าดื่มแอลกอฮอล์ และมีไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ร่วมผสมโรงด้วย ตับอักเสบก็จะยิ่งมาก ลุกลามกลายเป็นตับแข็ง หรือมะเร็งตับต่อไป

ตับแข็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทยทั้งชายหญิงวัยกลางคน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะไขมันเกาะตับ

การป้องกันคือแก้ที่ต้นเหตุ ถ้ามีรอบเอวในผู้ชายมากกว่า 36 นิ้ว หรือผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้ว (วัดที่รอบเอว) แสดงว่ากินอร่อยเกิน อยู่สบายเกินไป ก็จะต้องกินไขมัน แป้ง น้ำตาล ของหวาน ผลไม้หวานจัด ให้น้อยลง งดดื่มแอลกอฮอล์ มิฉะนั้นตับจะแข็งเร็วขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เดินเร็ว (เดินจนเหนื่อยน้อยๆ ลากเสียงยาวๆ ไม่ได้) ติดต่อกันครั้งละนานกว่า 10 นาที ครึ่งชั่วโมงต่อวัน หรือเดินขึ้นบันได เล่นกีฬา เพื่อลดน้ำหนัก ลดรอบเอวลง

การรักษาด้วยยายังไม่ได้ผลที่น่าพอใจ เนื่องจากยาบางตัวลดไขมัน ที่พอกตับได้ แต่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไปอีก คุณหมอจึงยังไม่ได้ให้ยามากิน จึงควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกาย ลดอาหารไขมัน ของทอด ของมัน แป้ง น้ำตาล เครื่องดื่มรสหวาน กินผัก ผลไม้ที่ไม่หวาน ธัญพืช แทน ลดรอบเอวให้น้อยกว่า 36 นิ้วในผู้ชาย 32 นิ้วในผู้หญิง ก็จะลดการสะสมไขมันในตับ

2. น้ำตาลในเลือดกำลังจะมา
เข้าใจว่าคุณหมอหมายถึงน้ำตาลในเลือดสูงแล้ว โอกาสเป็นเบาหวานกำลังจะมา คือเป็นภาวะว่าที่เบาหวาน กำลังจะเป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งก็เป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (แม้ว่างดอาหาร เครื่องดื่ม นานกว่า 8 ชั่วโมง) ก็เป็นผลพวงมาจะภาวะอ้วนลงพุง ไขมันเกาะตับ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ถ้าสูงเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็ถือว่าสูง ถ้าเกินกว่า 126 ก็ถือว่าเป็นเบาหวานแล้ว

วิธีป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดเริ่มสูง แต่ยังไม่เป็นเบาหวาน ก็เหมือนกับภาวะไขมันเกาะตับ เพราะมีเหตุปัจจัยเดียวกัน คืออร่อยเกิน (กินไขมัน ของหวาน แป้ง น้ำตาล ผลไม้รสหวานจัด แอลกอฮอล์) และสบายเกิน (ไม่ออกกำลังกาย นั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน) จนพุงยื่น ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลสูง เพราะกินแล้วใช้ไม่หมด จึงสะสมไขมันในตับ และน้ำตาลสูงในเลือด

ข้อเข่าซ้าย
ถาม : ลลิล/นครปฐม
ตอนนี้อายุ 44 ปี เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว รู้สึกว่าเวลาวิ่งออกกำลังกายข้อเข่ามีเสียงหรือขณะลุกนั่งจะมีเสียงเป็นบางครั้ง รวมถึงเดินมากติดต่อกันสัก 2-3 วัน ไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า เดินตลาด ก็จะรู้สึกว่าในข้อเข่าจะออกร้อนๆ บ้าง ช่วงใกล้มีประจำเดือนมาประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ 10 วันจะรู้สึกที่เข่าข้างซ้าย อุ่นๆ ร้อนๆ มาแล้ว จะมีอาการแบบนี้เกือบทุกเดือน พอประจำเดือนหมดก็จะดีขึ้น

เมื่อ 2 ปีก่อนที่จะเริ่มมีอาการ ไปหาหมอตรวจวัดมวลกระดูก หมอบอกว่าให้ระวังกระดูกพรุน มีความเสี่ยง -2.1 หมอให้ยามากิน 4 อย่าง มีแคลเซียม ยาแก้อักเสบ วิตามิน และอีกตัวหนึ่ง กินแล้วอยากจะอาเจียนทุกวัน บางวันก็อาเจียนจริงๆ เพราะยาแรงไปหรือเปล่าคะ

กินยาหมอมาเกือบ 1 ปีอาการก็ไม่ดีขึ้น ตอนนี้ดิฉันหยุดไปหาหมอ แต่ดิฉันไปซื้อแคลเซียม และน้ำมันตับปลามากิน

ขอถามว่าจะดูแลเข่าอย่างไร และอาการข้อเข่าแบบนี้ถ้ากินแคลเซียม น้ำมันตับปลา จะมีผลต่อร่างกายอย่างไร ถ้ากินนานๆ

ตอบ : นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์

จากประวัติและอาการที่คุณเล่ามา คิดว่ามีปัญหาจากสาเหตุ 2 ประการ

1. จากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ซึ่งแม้จะผ่าตัดแล้ว ก็ยังอาจมีอาการหลงเหลืออยู่ หรือเกิดการดึงรั้งจากพังผืด หรือกระดูกมีหินปูนงอกกดทับเส้นประสาท เป็นสาเหตุของการปวดน่อง เวลาเดินหรือทำงานหนัก จะปวดมากขึ้น เวลาพักอาการจะเป็นน้อยลง

2. จากหลอดเลือดในสมองตีบ ทำให้สมองบางส่วนได้รับเลือดน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงละเหน็บชา ทั้งแขนและขา อาจมีอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อแขนและขา การทำงานของกล้ามเนื้ออาจไม่ประสานกันตามปกติ ทำให้ทำงานละเอียดไม่ค่อยได้ เช่น เขียนหนังสือยาก และมีผลต่อการทรงตัว

การรักษา
การรักษาเริ่มที่สาเหตุ ถ้ามีการกดทับเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูก อาจต้องทำผ่าตัดอีกเพื่อแก้ไข ควรให้แพทย์ตรวจโดยละเอียด และปรึกษาถึงวิธีการที่เหมาะสม ถ้ายังไม่ถึงระยะที่ต้องผ่าตัด การทำกายภาพบำบัดร่วมกับการให้ยาเป็นครั้งคราว เป็นการรักษาประคับประคองที่เหมาะสม

ส่วนเรื่องสมอง แพทย์สามารถให้ยาเพื่อไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น

การเข้าใจความเป็นไปของโรค การฝึกบริหารร่างกายเพื่อคงสภาพความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อปวดหรืออ่อนแรง ควรพักเป็นระยะๆ สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ โดยอาจต้องมีเพื่อนเดินทางไปด้วยในบางครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่วิตกกังวล แม้ว่าสมรรถภาพร่างกายจะลดไปบ้าง จะช่วยให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข