• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ป้องกันมาลาเรีย

ป้องกันมาลาเรีย

ถาม : นารี/สมุทรปราการ
ลูกชายจะไปเข้าค่ายที่จังหวัดจันทบุรี ๓ วัน ได้ข่าวว่าที่นั่นก็คือพื้นที่ชุกชุมของไข้มาลาเรีย ดิฉันต้องการทราบว่า จะป้องกันไม่ให้ลูกชายติดไข้มาลาเรียได้อย่างไร
    

ตอบ : นพ.รักษ์พงศ์ เวียงเจริญ
ก่อนอื่นขอบอก ณ ตรงนี้เลยว่า พื้นที่ชุกชุมไข้มาลาเรียมีหลายจังหวัด เช่น ตาก สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี ยะลา จันทบุรี แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ และสระแก้ว จังหวัดที่มีไข้มาลาเรียคือจังหวัดตามแนวชายแดน และยังมีป่าทึบ ทั้งนี้เป็นเพราะพาหะของไข้มาลาเรียคือ ยุงก้นปล่อง ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะและกัดคน จะเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น โดยยุงที่กัดกินเอาเลือดของคนที่เป็นไข้มาลาเรีย และนำตัวอ่อนของเชื้อมาลาเรียเข้าไปด้วย และมีวงจรชีวิตของเชื้ออยู่ภายในตัวยุง จนสร้างตัวอ่อน ระยะแพร่เชื้อจำนวนมากที่ต่อมน้ำลายของยุง เมื่อยุงไปกัดคนอื่นอีก ก็สามารถแพร่เชื้อให้คนอีกคนเป็นไข้มาลาเรียต่อไปได้ เนื่องจากถิ่นกำเนิดของยุงก้นปล่องอยู่ในป่า จึงพบผู้ป่วยในจังหวัดดังกล่าวข้างต้นมาก รวมทั้งคนที่เดินทางเข้าไปในป่าก็มีโอกาสได้รับเชื้อจากการถูกยุงกัด แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ได้เข้าป่าจะไม่มีโอกาสเป็นไข้มาลาเรีย เพราะยุงสมัยใหม่ขึ้นเครื่องบิน

อาการที่สำคัญของไข้มาลาเรียคือ อาการไข้ ช่วงแรกอาจมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่หลังจากนั้น จะมีไข้สูง หนาวสั่น อาจจะมีไข้เป็นพักๆ หรือสูงลอยก็ได้ อาการไข้มักเกิดหลังรับเชื้อประมาณ ๙-๑๗ วัน ถ้ามีอาการดังกล่าวหลังจากเข้าป่าประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ควรไปรับการตรวจหาเชื้อมาลาเรียทันที

การวินิจฉัยที่ดีที่สุดและใช้กันทั่วไปคือ การเจาะเลือด และย้อมดูเชื้อมาลาเรียด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือเวลาที่มีไข้สูงหนาวสั่น หรือก่อนเวลาดังกล่าวเล็กน้อย จะมีโอกาสพบเชื้อมากขึ้น

การป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตที่มีไข้มาลาเรียระบาดถ้าเลี่ยงไม่ได้ จะต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีดำ หรือสีคล้ำ เพราะยุงชอบแสงสลัวๆ หลีกเลี่ยงการพักแรมในป่าทึบ ถ้าจำเป็นควรนอนในมุ้ง ในเต็นท์ที่กันยุงได้หรือห้องที่มีมุ้งลวด ปัจจุบันไม่แนะนำให้กินยาป้องกันไข้มาลาเรีย เนื่องจากเชื้อดื้อยามากขึ้น และทำให้เข้าใจผิดว่ากินยาแล้วจะไม่เป็น แต่ถ้าเป็นไข้มาลาเรียขึ้นมาจริงๆ ก็อาจตรวจเลือดไม่พบเชื้อ เมื่อตรวจพบอีกครั้ง ก็มีอาการมากแล้ว

สิ่งที่ควรตระหนักคือ ถ้าเข้าไปในแหล่งชุกชุมของไข้มาลาเรียก็อาจจะเป็นไข้มาลาเรียได้ แม้จะกินยาป้องกันแล้ว ไม่ว่าขนานใดๆ ถ้ามีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หลังเข้าไปในพื้นที่ที่มีการแพร่ของเชื้อมาลาเรีย ภายใน ๒ สัปดาห์ ถึง ๒ ปี ต้องรีบไปตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย ถ้าตรวจไม่พบก็ยังไม่สามารถสรุปว่าไม่ได้เป็น อาจเพราะมีเชื้อปริมาณน้อย ถ้ายังมีอาการอยู่หรือเป็นมากขึ้นควรตรวจซ้ำทันที