• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขอทราบเกณฑ์น้ำหนักตัวในเด็กวัย ๖ ขวบ

ขอทราบเกณฑ์น้ำหนักตัวในเด็กวัย ๖ ขวบ

ถาม : บุญทา/ลำพูน
ดิฉันมีเรื่องจะขอเรียนปรึกษาคุณหมอ

๑. ลูกสาววัย ๖ ขวบกว่า น้ำหนัก ๒๕ กิโลกรัม ส่วนสูง ๑๑๗ เซนติเมตร ชอบดื่มนมวัวกล่องรสหวาน (เพราะไม่ชอบรสจืดหรือนมจากถั่วเหลืองเลย) และตอนนี้กำลัง อ้วน ไม่ทราบว่านมชนิดไหนรสไหน จะเหมาะสำหรับเด็กวัย ๖ ขวบกว่า เมื่อตอนที่ลูกสาวอายุ ๓ ขวบ มีคุณหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจสุขภาพเด็กที่โรงเรียนบอกว่าน้ำหนัก และส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ คุณหมอแนะนำให้พาลูกไปตรวจที่โรงพยาบาล เมื่อตรวจเสร็จก็สั่งให้เอานมพรีเดียชัวร์และวิตามินมากิน กินอยู่ประมาณ ๖ เดือน พร้อมกับตรวจวัดทักษะ คุณหมอบอกทักษะอยู่ในเกณฑ์ดี ตั้งแต่นั้นมาก็บำรุงกันใหญ่ พอย่างเข้า ๕ ขวบ ก็เริ่มอ้วน ทำให้ใจไม่ดี กลัวลูกสาวจะเป็นคนอ้วน ไม่ทราบว่า อย่างนี้จะให้ลูกสาวกินยาหรือทายา อะไรลดความอ้วนสำหรับเด็กดีไหม

๒. ขอถามเรื่องแผลเป็นอีสุกอีใสอีกเรื่องค่ะ คือ ลูกสาวมีตุ่มแผลเป็นอีสุกอีใสที่เกิดตรงลิ้นปี่จะเป็นตุ่มแข็งๆ ไม่หายสักที ไม่ทราบว่าจะเป็นอันตรายอะไรไหมคะ (ผ่านมา ๙ เดือนแล้วค่ะ)

กรุณาช่วยตอบด้วยคะ
 

ตอบ : นพ.นิรันดร์ วรรณประภา

๑. ในผู้ใหญ่ การกำหนดกติกาว่าอ้วน อาศัยการทำนายความเสี่ยงต่อการป่วยในอนาคต ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง และหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน โดยใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยค่ากำลัง ๒ ของส่วนสูงเป็นเมตร เรียกเป็นดัชนีมวลร่างกาย

น้ำหนัก (กิโลกรัม) = ดัชนีมวลร่างกาย (BMI = Body Mass Index)
  (สูง)(เมตร)

ค่าที่สูง เช่น เกินกว่า ๓๐ กิโลกรัม/เมตร ในการศึกษาในสหรัฐอเมริกาควรปรึกษาแพทย์ ในเด็กไม่มีกติกาแน่ชัดว่าแค่ไหนอ้วน เพราะไม่มีข้อมูลยืนยันความเสี่ยงโรคต่างๆ ว่าเหมือนผู้ใหญ่ ถ้าจะอนุโลมคำนวณ

BMI  = ๒๕ กิโลกรัม 
          (๑.๑๗)๒ เมตร๒ 
        = ๑๙ กิโลกรัม/เมตร
ก็ยังไม่อ้วนขนาดต้องปรึกษาแพทย์

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจน้ำหนัก-ส่วนสูง ของเด็กไทย และพิมพ์หนังสือคู่มือแนวทางการใช้เกณฑ์อ้างอิงน้ำหนัก ส่วนสูง เพื่อ ประเมินภาวการณ์เจริญเติบโตของเด็กไทยตีพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๔๓ ถ้าคิดน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ๖ ขวบ ๐ เดือน น้ำหนักค่อนข้างมากเมื่อเกิน ๒๔.๘ กิโลกรัม ๖ ขวบ ๑๑ เดือน น้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อเกิน ๒๘.๕ กิโลกรัม ถ้าคิดน้ำหนักตามเกณฑ์สูง ๑.๑๗ เมตร น้ำหนักจะอ้วนเมื่อเกิน ๒๔.๘ กิโลกรัม โดยสรุปอายุ ๖ ขวบ หรือสูง ๑.๑๗ เมตร ที่มีน้ำหนัก ๒๕ กิโลกรัม ยังไม่จัดว่าอ้วน แต่มีโอกาสที่จะอ้วนได้ แนะนำว่าควรควบคุมน้ำหนักไม่ใช่ลดน้ำหนัก ครอบครัวต้องมีความพร้อม และความตั้งใจที่ จะควบคุมน้ำหนักเด็ก โดยการปรับพฤติกรรมการกิน และการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของทั้งเด็กและครอบครัว ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอด ไม่มียาที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก หรือลดน้ำหนักที่จะมีผลต่อเนื่องและยาวนาน หรือปลอดภัยได้เท่ากับการปรับพฤติกรรมข้างต้น ชนิดของอาหารควรจำกัดปริมาณไขมัน น้ำตาล และอาหารจานด่วน (fast food) เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม คุกกี้ ช็อกโกแลต พิซซ่า มันฝรั่งทอด หมู ๓ ชั้น นม (whole milk) อาหารที่เป็นแหล่งพลังงานควรเป็นโปรตีน เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ ถ้ายังดื่มนมควรค่อยๆ เปลี่ยนเป็นนมพร่องไขมัน และรสจืด และอย่าลืมว่าคน ในครอบครัวต้องร่วมมือ เช่น ไม่ให้เด็กดื่มนมหวาน แต่คุณพ่อคุณแม่ดื่มเสียเอง หรือกินเสียเอง จะทำให้การควบคุมน้ำหนักล้มเหลวได้ครับ

๒. อีสุกอีใส เป็นตุ่มน้ำแตกง่าย (ไม่แข็ง) ถ้าไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ควรเป็นแผลเป็น และจะหายภายใน ๗ วัน ลักษณะที่เล่ามาไม่เหมือนแผลอีสุกอีใสครับ ไม่สามารถบอกว่าเป็นอะไรได้ ถ้าเป็นมา ๙ เดือน โดยไม่ใหญ่ขึ้น และไม่มีอาการอะไรร่วมด้วย ไม่น่าอันตราย ถ้ามีโอกาสก็ควรให้แพทย์ตรวจดูก็ดีครับ