• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

'การตรวจการได้ยินในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก'

เด็กทารกที่เกิดมาในระยะ 2 ขวบปีแรก ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสังเกตได้ว่า ความสามารถของการได้ยินเป็นปกติหรือไม่ บกพร่องมากน้อยเพียงใด ทำให้การเรียนรู้จากการได้ยินล่าช้า ส่งผลให้การพัฒนาของสมองล่าช้าไปด้วย สาเหตุหลายอย่างที่ทำให้การได้ยินของเด็กบกพร่องสามารถแก้ไขได้ ปรับปรุงได้อย่างทันท่วงที การตรวจการได้ยินของเด็กทารกจึงนับว่ามีความสำคัญการได้ยินบกพร่องคืออะไร
         
การได้ยินเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการพูด ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินบกพร่องอาจจะมีอาการหูอื้อ หูตึง (ได้ยินไม่ชัดเจนหรือฟังไม่รู้เรื่อง) หูหนวก  (ไม่ได้ยินเสียงเลย) ในเด็กเล็กหากมีการได้ยินผิดปกติจะทำให้มีพัฒนาการทางภาษาพูดที่ล่าช้า ไม่เหมาะสมกับวัย มีผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ พฤติกรรมและพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมต่อไปทำไมจึงตรวจการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด
  
เนื่องจากเด็กเล็กหรือทารกแรกเกิด ไม่สามารถบอกเราว่าเขามีการได้ยินปกติหรือไม่ ผู้ปกครองจะสังเกตว่าลูกมีความผิดปกติของการได้ยินก็ต่อเมื่อเรียกชื่อลูกแล้วไม่หัน หรือยังไม่พูด ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาการทางภาษาและการพูด มีการศึกษาที่พบว่า
  
1.    ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบอัตราการสูญเสียการได้ยินในเด็กแรกเกิด 1-59 ต่อ 1,000 คน มีความผิดปกติของการได้ยินแต่กำเนิด และเด็กแรกเกิดจนถึง 6 เดือน ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องพักรักษาตัวในไอซียู พบอัตรา 1 ต่อ 50 คน มีความเสี่ยงต่อความบกพร่องของการได้ยิน
  
2.    ในประเทศไทย พบอัตราการสูญเสียการได้ยินในทารกแรกเกิดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยรวม 1.7 ต่อ 1,000 คน
  
3.    ภาวะติดเชื้อในช่องหู ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กจนถึงอายุ 11 ขวบ พบว่ามีความบกพร่องของการได้ยินเกือบ 100%
  
4.    เด็กที่มีความบกพร่องของการได้ยินที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาก่อนอายุ 6 เดือนจะมีพัฒนาการทางภาษาดีกว่าเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
การตรวจคัดกรองการได้ยินคืออะไร
       
ในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทำให้สามารถตรวจการได้ยินในทารกแรกเกิด ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และผลตรวจเชื่อถือได้พอควร จึงทำให้มีการตรวจการได้ยินในทารกแรกเกิดกันอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยในการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งเครื่องมือที่นิยมใช้ ได้แก่ Otoacoustic  Emissions (OAEs) “การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนในหูชั้นใน” เป็นการตรวจการทำงานของปลายประสาทรับเสียงในหูชั้นใน การตรวจทำโดยใส่เสียงเข้าไปในหูขณะเด็กอยู่นิ่งๆ และวัดเสียงที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหูชั้นใน เครื่องจะบันทึกการตอบสนองโดยอัตโนมัติ การตรวจทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บปวด สามารถทราบผลทันที และผลมีความเชื่อถือได้มากกว่า 95%
  
*    ถ้าผลตรวจแสดงค่า “ผ่าน” (PASS) แสดงว่าการทำงานของหูชั้นกลาง และประสาทรับฟังเสียงในหูชั้นในปกติ
  
*    ถ้าผลตรวจ แสดงค่า “ส่งต่อเพื่อทำการตรวจซ้ำ” (REFER) แสดงว่า อาจเกิดจากภาวะที่เด็กมีสิ่งอุดกั้นต่าง ๆ ในช่องหู เช่น ไข น้ำคร่ำ ขี้หู ทำให้ไปขัดขวางการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน หรือเกิดจากการทำงานของหูชั้นกลางหรือหูชั้นในผิดปกติ ถ้าเช่นนี้แล้วจะตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผล ถ้าตรวจซ้ำครั้งที่ 2 และ 3 ยังคง “REFER” จะต้องตรวจวิธีอื่นเพิ่มเพื่อวินิจฉัยต่อไป
  
ผลการตรวจคัดกรองการได้ยินที่ปรากฏว่า “PASS” ในหูทั้งสองข้างเป็นการแสดงถึงภาวะการทำงานในหูชั้นในที่ปกติขณะนั้น แต่ทั้งนี้เด็กอาจมีความผิดปกติของการได้ยินที่เกิดขึ้นในภายหลังจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่ การติดเชื้อหัด คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การได้รับยาที่มีพิษต่อหู การฟังเสียงอึกทึก การอักเสบของหูชั้นกลาง ประสาทหูเสื่อมจากกรรมพันธุ์ที่มีอาการภายหลัง เป็นต้น

Auditory Brainstem Response (ABR)  “การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง”
  
เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของการได้ยินในเด็กเล็ก ทำโดยการติดสื่อนำสัญญาณ (electrode) เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในระบบประสาทหูชั้นในส่วนลึก เมื่อปล่อยเสียงเข้าไปตรวจในหู เด็กต้องหลับสนิท ใช้เวลาในการตรวจประมาณครึ่งชั่วโมง ผลมีความแม่นยำมากกว่า 98%
เมื่อไรจึงควรพาลูกไปตรวจ
      
ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูกทันทีที่สงสัยว่าเด็กมีการได้ยินผิดปกติหรือมีการพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาการได้ยิน ดังต่อไปนี้
  
*    มีประวัติครอบครัวหรือเครือญาติที่มีเด็กหูหนวก หรือเป็นใบ้ ตั้งแต่กำเนิด
  
*    เด็กมีความผิดปกติของใบหน้า โดยเฉพาะการผิดรูปของใบหูและช่องหู
  
*    แม่มีประวัติการติดเชื้อหัดเยอรมัน ซิฟิลิส ไข้สุกใส ตั้งแต่ตั้งครรภ์
  
*    มารดาดื่มสุรา สูบบุหรี่ ติดยาเสพติดหรือสารระเหยระหว่างตั้งครรภ์
  
*    เด็กมีภาวะการเจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาในหออภิบาลวิกฤติทารก   แรกเกิด (ไอซียูเด็ก) นานเกิน 48 ชั่วโมง
  
*    เด็กมีประวัติเจ็บป่วยที่สำคัญในช่วงแรกคลอดจนถึง อายุ  28 วัน เช่น ตัวเหลืองจนได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด หรือมีปัญหาการหายใจจนต้องได้รับการใส่เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
  
*    เด็กมีประวัติได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  
*    เด็กมีประวัติการติดเชื้อที่ทำให้หูหนวกได้ เช่น หัด  คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบและไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
  
*    เด็กมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันบ่อย ๆ หรือมีน้ำในหูชั้นกลางติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
  
*    เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนไม่สะดุ้งตกใจเวลามีเสียงดัง ไม่หันหาเสียง ไม่หยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงปลอบ ไม่เล่นน้ำลายหรือส่งเสียงอืออา
  
*    เด็กอายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 1 ขวบ แต่ไม่ตอบสนองต่อเสียง เรียกชื่อไม่หัน ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ
  
*    เด็กอายุระหว่าง 1-2 ขวบแต่ยังไม่สามารถพูดคำที่มีความหมาย หรือพูดได้น้อยกว่า 20 คำ ไม่ตอบสนองต่อเสียง
  
ข้อมูลจาก อาจารย์ถิรพร เลิศสวัสดิ์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจการได้ยิน โรงพยาบาลพญาไท 2  http://www.phyathai.com

นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

แหล่งที่มา: 
เดลินิวส์-ชีวิตและสุขภาพ 05 มิถุนายน 2554