ปีนี้เป็นปีหนึ่งในรอบหลายปีที่มีอุทกภัยครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์มากกว่า ๓๐ จังหวัด สร้างความเสียหายทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของปวงชนชาวไทยมหาศาล
บางคนก็บอกว่า น้ำท่วมปีนี้มามาก (จำนวนน้ำที่มา) และมาเร็วกว่าทุกปี ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล เริ่มตั้งแต่ภาคเหนือ ที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหลายต่อหลายลูก ทำให้เกิดปริมาณน้ำมวลใหญ่ไหลท่วมบ่าลงมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นพิษณุโลก พิจิตร จนมาถึงภาคกลางได้แก่ นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ฯลฯ
คาดว่ามวลน้ำมหาศาลนี้จะยังคงท่วมขังไปอีกราวๆ ๑-๒ เดือน กว่าน้ำจะลดลงสู่ปกติ
ผู้เขียนก็ขอเป็นอีกแรงใจหนึ่งให้ชาวไทยมีความเข้มแข็ง รวมใจเป็นหนึ่ง สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเชื่อว่า คนไทยจะเอาชนะอุปสรรคภัยอันตรายครั้งนี้ได้อย่างแน่นอน
ไม่ทันที่น้ำท่วมบ่าจะไหลผ่านพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงสู่ทะเลอ่าวไทย ก็พลันมีลมหนาวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) เริ่มพัดพาความหนาวเย็นจากจีนและไซบีเรียเข้ามายังพื้นที่ภาคเหนือและอีสานของประเทศไทย คาดว่าปีนี้อากาศจะหนาวเย็นกว่าทุกๆ ปีอีกด้วยนะครับ
ฉลาดใช้ยาฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอันเนื่องมาจากน้ำท่วมและลมหนาว จะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ทันต่ออุทกภัย (ตลอดจนลมหนาวเย็น) อันเป็นวิกฤติของบ้านเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง
โรคภัยไข้เจ็บที่มักมากับภัยน้ำท่วมได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า ท้องเสียท้องเดิน แมลงและ/หรือสัตว์กัดต่อ ฯลฯ แต่ปีนี้น้ำท่วมรุนแรงสร้างความเสียหายอย่างมากมาย จึงขอรวมถึงอีกโรคหนึ่งที่เป็นภัยแฝงมาร่วมกับอุทกภัยใหญ่ ได้แก่ โรคเครียด ที่เกิดจากน้ำท่วมบ้าน สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จนบางคนมีอาการซึมเศร้า หงอยเหงา เป็นต้น
ส่วนโรคภัยที่จะมากับลมหนาวเย็นที่คาดว่าจะมาช่วงปีใหม่ ได้แก่ โรคหวัด โรคภูมิแพ้อากาศ เป็นต้น รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยครั้งนี้ ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคเครียด และโรคไข้หวัด ว่าจะต้องเตรียมตัวแก้ไขปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้อย่างไร และควรเลือกใช้ยาอย่างไร
โรคน้ำกัดเท้า
โรคนี้เป็นโรคยอดฮิตประจำน้ำท่วม น้ำเน่าขัง หากผู้ใดต้องแช่น้ำเน่านานๆ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้โดยง่าย ซึ่งมีสาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำที่ร่างกายของเราไปแช่อยู่นานๆ น้ำก็จะซึมเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดความชื้นแฉะ ผิวหนังลอกเป็นแผ่น เป็นขุยขาว เกิดเป็นแผล และทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าระหว่างนิ้วก้อยกับนิ้วนาง
ป้องกันและดูแลรักษาโรคน้ำกัดเท้าง่ายๆ ดังนี้
๑.ก่อนลงไปแช่หรือย่ำน้ำ อาจจะสวมรองเท้าบู้ทเพื่อป้องกันน้ำ หรือถ้าจำเป็นต้องแช่น้ำ อาจใช้ขี้ผึ้งวาสลีน หรือน้ำมันพืช หรือขี้ผึ้งกลากเกลื้อนทาบางๆ บริเวณเท้าและซอกนิ้ว เพราะด้วยความมันของขี้ผึ้ง/วาสลีน/น้ำมันพืชจะทำหน้าที่เป็นฟิล์มบางๆ ของไขมันปกป้องคลุมผิวหนังไม่ให้น้ำเข้ามาสัมผัสได้
๒.ในยามที่ต้องแช่หรือลุยน้ำ ก็ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำนานๆ หลายๆ ชั่วโมง และควรแช่น้ำเท่าที่จำเป็น ในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด เพื่อลดระยะเวลาที่น้ำไปทำลายผิวหนัง ลดการเป็นขุย และลอกหลุด เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
๓.หลังจากที่แช่น้ำและขึ้นมาจากน้ำแล้ว ก็ควรทำความสะอาดร่างกายส่วนที่ต้องแช่อยู่ในน้ำด้วยสบู่ โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้า แล้วเช็ดให้แห้ง และอาจจะทาแป้งฝุ่น และทายาขี้ผึ้งกลากเกลื้อน หรือยาแก้เชื้อรา เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้า
ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ทั้ง ๓ ขั้นตอนนี้จะช่วยปกป้องผิวหนังของเท้าให้ปราศจากโรคน้ำกัดเท้าได้ หรือถ้าจะมีอาการของโรคน้ำกัดเท้า ก็จะมีอาการน้อย ไม่รุนแรง และสามารถทำการรักษาได้โดยง่าย
ถ้าเกิดโรคน้ำกัดเท้าแล้ว อาจเลือกใช้ยาขี้ผึ้งกลากเกลื้อน (หรือขี้ผึ้งวิตฟิลด์–Whitfield’s ointment) ซึ่งใช้ป้องกันหรือรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ดี มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาต้านเชื้อราสมัยใหม่ แต่ราคาย่อมเยากว่า ทั้งยาขี้ผึ้งกลากเกลื้อนยังมีข้อดีกว่าในด้านการปกป้องผิวหนัง โดยมีคุณสมบัติไล่น้ำได้ดี พร้อมทั้งรักษาสมดุลของความชุ่มชื้นของผิวหนัง และราคาถูก
ควรทายา ณ บริเวณที่เป็น วันละ ๒-๓ ครั้ง และควรใช้ยาทาต่ออีกประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ ถึงแม้จะหายจากโรคผิวหนังแล้วก็ตาม ห้ามใช้บริเวณที่แผลอักเสบมีน้ำเหลืองเยิ้ม เพราะจะทำให้ลามยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยาต้านเชื้อราชนิดอื่นๆ ก็ได้ผลดีเช่นกัน แต่จะมีราคาแพงกว่า และมักจะอยู่ในรูปแบบครีม ซึ่งเมื่อโดนน้ำก็จะลอกหลุดออกไปได้ง่าย ไม่ติดทนนานเหมือนยาในรูปแบบขี้ผึ้ง
โรคเครียด
โรคเครียดที่ถือว่าเป็นโรคสำคัญโดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยเป็นจำนวนมาก ต้องสูญเสียทรัพย์สิน ไม่ว่า จะเป็นเลือกสวน ไร่นา บ้านช่อง ที่อยู่ ที่กิน แม้กระทั่งที่ทำงาน มีโรงงานเป็นจำนวนมากที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย หลายคนตกงาน บางคนยังพออาศัยบ้านอยู่ได้ ด้วยการย้ายข้าวของขึ้นที่สูงหนีน้ำ แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องโยกย้ายเป็นผู้อพยพไปลี้ภัยตามสถานที่พักพิงต่างๆ บางคนบางครอบครัวเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด อพยพจากที่หนึ่งมาพักอีกที่หนึ่ง น้ำก็ตามต่อมาท่วมอีกจนได้
สภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ประสบภัย เกิดความวิตกกังวล ความกลัว ใจสั่น เหนื่อย และเคร่งเครียดตามลำดับ ดังนั้นในสภาวะที่มีมหันต์ภัยเกิดขึ้น โรคหนึ่งที่จะมาเคียงคู่เสมอ ก็คือ โรคเครียด ที่มีสาเหตุจากการได้สัมผัส รับรู้ หรือได้รับผลกระทบถึงการสูญเสียอย่างรุนแรง อันเกี่ยวเนื่องจากอุบัติภัย
หลายคนเริ่มต้นด้วยอาการนอนไม่หลับ เคร่งเครียด ปวดหัว ปวดขมับ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เพลียๆ เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ใจสั่น เบื่อง่าย เป็นกังวล ขี้ตกใจ ขวัญอ่อน ไม่อยากพบผู้คน ซึมเศร้า เป็นต้น
ดังนั้น ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ เช่นนี้ขึ้น จึงควรหมั่นสังเกตตนเอง คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนที่ทำงาน ว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ พร้อมทั้งพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้ช่วยกันประคับประคองจิตใจให้ผ่านพ้นสภาวะวิกฤติของการสูญเสียครั้งใหญ่นี้ให้จงได้
ขณะเดียวกันก็ควรหากิจกรรมทำ อย่าอยู่นิ่งเฉย หรืออยู่ตัวคนเดียว เพื่อที่กิจกรรมต่างๆ จะช่วยเบนความสนใจจากการสูญเสียไปบ้าง พร้อมช่วยให้เพลินกับกิจกรรม และจะยิ่งดีถ้าได้พูดคุยกับคนอื่นๆ ที่มีความทุกข์ยากมากบ้าง น้อยบ้าง เป็นการปรับทุกข์ซึ่งกันและกัน และจะเป็นการดียิ่งขึ้นถ้ามีโอกาสได้ออกไปช่วยงานสาธารณประโยชน์ ทำงานจิตอาสา (เช่น ไปช่วยบรรจุถุงยังชีพ ตักทรายใส่ถุง หรือทำอาหาร)
นอกจากนี้ การออกกำลังกาย นันทนาการ หรือการสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ รำมวยจีน ฝึกโยคะ ก็เป็นกิจกรรมดีๆ ที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับจิตใจ ให้สามารถต่อสู้กับภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี
สำหรับรายที่มีอาการปวดหัว ปวดขมับ ก็อาจเลือกใช้ยาพาราเซตามอล ขนาดเม็ดละ ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๑-๒ เม็ด ทุก ๔-๖ ชั่วโมง เวลาที่มีอาการปวด แต่ไม่ควรใช้เกินวันละ ๘ เม็ด และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกินกว่า ๑ สัปดาห์ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงเป็นอันตรายได้ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ก็แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์
โรคไข้หวัด
โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มักจะระบาดมากในช่วงหน้าฝนจนถึงฤดูหนาว และตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ก็มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส ที่ได้รับมาจากผู้อื่น
กรณีที่ยังไม่มีอาการก็ต้องหมั่นดูแลสุขอนามัยของตนเองในช่วงน้ำท่วม หมั่นล้างมือบ่อยๆ ดื่มน้ำสะอาด กินอาหารที่สุกใหม่ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะน้ำท่วมจะพัดพาเชื้อโรคเหล่านี้ให้แพร่กระจายได้โดยง่ายและรวดเร็ว
กรณีที่เริ่มมีอาการแล้ว ก็ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง และใช้ยารักษาตามอาการ เช่น มีไข้ตัวร้อน ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ก็แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ถ้ามีน้ำมูก คัดจมูก ก็ควรใช้ยาคลอร์เฟนิรามีน (อาจทำให้ง่วงนอนได้) เป็นต้น
แต่ถ้ามีอาการไข้สูง ไอมากๆ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ๆ หอบเหนื่อย อาเจียน ก็ควรไปพบแพทย์
ล้อมกรอบ
ใช้ยารักษาไข้หวัดตามอาการ ดังนี้
ก. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต (อายุมากกว่า ๕ ขวบ)
- ถ้ามีไข้สูง ให้พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้) ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีไข้สูง ถ้ามีไข้ต่ำๆ หรือไข้พอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกิน
- ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใน ๒-๓ วันแรก เมื่อทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้
- ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง ๔ ส่วน น้ำมะนาว ๑ ส่วน) ถ้าไอมากลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ
ข. สำหรับเด็กเล็กและทารก
- ถ้ามีไข้ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม
- ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ ๒ ดูดน้ำมูกออกบ่อยๆ (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน)
- ถ้ามีอาการไอจิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน ควรแนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน
ยังมีโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากน้ำท่วมและอากาศเย็นอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เช่น โรคท้องเสีย ท้องเดิน ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู แมลงหรือสัตว์กัดต่อย โรคซึมเศร้า โรคแพ้อากาศ เป็นต้น ในที่นี้จะขอเน้นทั้ง ๓ โรคที่สำคัญและเป็นปัญหาหลักก่อน
สุดท้ายนี้ขออวยพรให้ทุกท่านได้ผ่านพ้นภัยพิบัติอันใหญ่หลวงครั้งหนึ่งในชีวิตและของประเทศชาติไปด้วยดีพร้อมกันอีกคำรบหนึ่ง รักษาตัวด้วยนะครับ
- อ่าน 2,504 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้