Skip to main content
ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน
menu

Login Pop

  • เข้าสู่ระบบ
    • ลืมรหัสผ่าน
search
  • เว็บหลักหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ
หน้าแรก » ดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
  • ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หัด

โพสโดย admin เมื่อ 19 ตุลาคม 2554 15:04
ZUID: 
D069
ZADDITIONAL1: 

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า "ไวรัสรูบิโอลา (rubeola virus)" ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือผู้ป่วยหรือสื่อกลาง (เช่น ลูกบิดประตู รีโมต โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น) ที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วใช้นิ้วมือที่สัมผัสถูกเชื้อนั้น แคะจมูก หรือขยี้ตา เชื้อก็จะผ่านเยื่อเมือกเข้าไปในทางเดินหายใจ

ระยะฟักตัวของโรค 9-11 วัน

มักพบระบาดในโรงเรียนและชุมชนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน

ZADDITIONAL2: 

แรกเริ่มมักมีอาการไข้สูง น้ำมูกใส ไอ แบบเดียวกับไข้หวัด แตกต่างจากไข้หวัดตรงที่ผู้ที่เป็นหัดจะมีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่สร่าง หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร เด็กเล็กมักจะมีอาการร้องงอแง

หลังมีไข้ 1-2 วัน จะมีผื่นขึ้นที่กระพุ้งแก้ม 2 ข้าง พบเป็นจุดสีขาวๆ เหลืองๆ ขนาดเล็กคล้ายเมล็ดงา เห็นชัดตรงเยื่อบุกระพุ้งแก้มในบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง สามารถตรวจพบโดยใช้ไฟฉายส่องดู (อาจใช้ไม้กดลิ้นหรือด้ามช้อนช่วยดันกระพุ้งแก้ม เพื่อให้เห็นได้ชัด) ผื่นที่กระพุ้งแก้มนี้ภาษาแพทย์เรียกว่า "จุดค็อปลิก (koplik's spots)" ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรคหัด

หลังมีไข้ 3-4 วัน จะพบผื่นขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นแดงราบขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ขณะรีดหนังให้ตึงจะจางหายชั่วคราว ขึ้นที่ตีนผมและซอกคอก่อน ต่อมาจะลามไปตามหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยจะค่อยๆ แผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง บางคนอาจมีความรู้สึกคันเล็กน้อย ผื่นของหัดจะไม่จางหายไปทันทีทันใดเช่นไข้ออกผื่นอื่นๆ (เช่น หัดเยอรมัน ส่าไข้) แต่จะค่อยๆ จางลงทีละน้อยภายใน 4-7 วัน เหลือให้เห็นเป็นรอยแต้มสีคล้ำๆ (ดูคล้ายผิวที่มีขี้ไคลติด) บางคนอาจมีอาการหนังลอกตามมาได้

ส่วนอาการไข้ (ตัวร้อน) จะขึ้นสูงสุดใกล้ๆ มีผื่นขึ้นและจะเริ่มทุเลาลงเมื่อผื่นขึ้นแล้ว ไข้มักจะเป็นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะหายไปได้เอง (ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้กินยาอะไรก็ไม่ลด)

อาการทั่วไปจะค่อยๆ ดีขึ้น พร้อมๆ กับผื่นที่จางลง แต่อาจมีอาการไอต่อไปได้อีกหลายวัน

การดำเนินโรค

ส่วนใหญ่มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ไข้จะทุเลาไปได้เอง และอาการออกผื่นจะค่อยๆ จางหายไปภายใน 4-7 วันหลังผื่นขึ้น ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน (ดูหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน")

ภาวะแทรกซ้อน

มักพบในเด็กที่ขาดอาหารหรือมีภูมิต้านทานต่ำ

ที่พบบ่อยคือ ปอดอักเสบ ท้องเดิน

อาจพบหูชั้นกลางอักเสบ ปากเปื่อย หลอดลมอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ

ที่รุนแรงถึงตายได้ คือ สมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อย นอกจากนี้ยังทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น ถ้ามีเชื้อมาลาเรียอยู่ก่อนก็อาจเป็นไข้มาลาเรียชนิดรุนแรงได้

เด็กบางคนที่เบื่ออาหาร หรืองดอาหารโปรตีน (ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นของแสลง) ก็อาจกลายเป็นโรคขาดอาหารได้

การแยกโรค

ในระยะแรกเริ่ม ขณะที่มีเพียงอาการไข้ น้ำมูกไหล ไอ โดยยังไม่มีผื่นขึ้น ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น

  1. ไข้หวัด จะมีอาการไข้เป็นพักๆ น้ำมูกไหล ไอแห้งๆ โดยที่อาการทั่วไปค่อนข้างดี ไม่ซึม ไม่เบื่ออาหาร ช่วงที่ไข้ลง (ตัวเย็น) ก็จะรู้สึกค่อนข้างสุขสบาย ไข้มักจะเป็นอยู่ 2-4 วัน ก็จะทุเลาไปได้เอง
  2. ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก น้ำมูกไหล ไอ ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง คล้ายหัดมาก แยกออกจากหัด โดยที่ตรวจไม่พบผื่นในกระพุ้งแก้ม (หลังมีไข้ 1-2 วัน) และไม่มีผื่นขึ้นตามตัว (หลังมีไข้ 3-4 วัน) โดยทั่วไปอาการไข้มักจะเป็นอยู่ 3-5 วัน
  3. ปอดอักเสบ จะมีไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจ หอบเร็ว ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว
  4. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร คล้ายหัด แต่มักจะไม่มี อาการน้ำมูกไหล ไอ หรือเจ็บคอ มักพบระบาด ในช่วงหน้าฝน

ในระยะที่มีผื่นขึ้นตามตัว ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น

  1. ส่าไข้ จะมีไข้สูงตลอดเวลา โดยไม่มีอาการอื่นๆ ให้เห็นชัดเจน 3-5 วัน ต่อมาไข้จะลดลงเอง หลังไข้ลดไม่กี่ชั่วโมง จะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ตอนผื่นขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายเป็นปกติ และผื่นจะจางหายไปภายใน 2 วัน มักพบในเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ (พบมากในช่วง 6-18 เดือน)
  2. หัดเยอรมัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา แบบเดียวกับผื่นของหัด โดยที่อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ ผื่นอาจขึ้นพร้อมไข้ ก่อนหรือหลังมีไข้ก็ได้ ผู้ป่วยค่อนข้างจะสบายดี กินได้ ทำงานได้ ลักษณะจำเพาะก็คือ จะตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู หลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง 2 ข้าง
  3. ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร หลังมีไข้ 2-3 วัน อาจมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัวและแขนขา ซึ่งจะขึ้นอยู่ 2-3 วัน ก็จางหาย บางคนอาจพบมีจุดเลือดออกลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (รีดหนังให้ตึง ไม่จาง หาย)
  4. ผื่นจากยา จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเกิดขึ้นหลังกินยารักษาอาการไม่สบาย (เช่น เป็นไข้ ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาปฏิชีวนะ ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้
ZADDITIONAL3: 

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ถ้าพบว่าเป็นโรคหัด ก็จะให้การรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้) และแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ

แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ (ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีหูชั้นกลางอักเสบแทรกซ้อน) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงแทรกซ้อนได้

การวินิจฉัย

แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคหัดจากอาการแสดง ได้แก่ การตรวจพบผื่นในกระพุ้งแก้ม (จุดค็อปลิก) และผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งขึ้น หลังมีไข้ 3-4 วัน ร่วมกับอาการไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง และอาการเป็นหวัด ไอ

ในกรณีที่แยกไม่ได้ชัดเจนจากไข้เลือดออก หรือปอดอักเสบ อาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด เป็นต้น

ZADDITIONAL4: 
  1. ขณะมีไข้สูง ให้ทำการเช็ดตัว และดื่มน้ำมากๆ
  2. ถ้าเบื่ออาหาร ให้ดื่มนม น้ำหวาน น้ำผลไม้
  3. ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง (สำหรับโรคหัด ยาลดไข้อาจไม่ช่วยบรรเทาอาการไข้ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโรคนี้ ก็ไม่ควรกินยาถี่กว่าที่แนะนำ)
  4. ถ้าไอมาก ให้จิบน้ำอุ่น หรือน้ำผึ้งผสมมะนาว

ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. มีอาการหายใจหอบเร็ว ปวดท้องมาก ชัก มีเลือดออก ซึมมาก หรือกระสับกระส่าย
  2. มีน้ำมูก หรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว เจ็บหู ตาแฉะ
  3. กินไม่ได้ อาเจียน ดื่มน้ำได้น้อย หรือท้องเดินมาก
  4. มีไข้สูงเกิน 4 วันแล้วยังไม่มีผื่นขึ้น
  5. สงสัยเป็นไข้เลือดออก ปวดอักเสบ หรือผื่นจากยา
  6. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

การป้องกัน

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เมื่อเด็กอายุได้ 9-12 เดือน ฉีดเพียงเข็มเดียวป้องกันได้ตลอดไป

หัด เป็นโรคที่มีอาการไข้ผื่นขึ้น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่าย มักเป็นอยู่นาน 1 สัปดาห์ ก็จะหายได้เอง แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันจึงไม่ค่อยมีการระบาดเช่นสมัยก่อน

ชื่อภาษาไทย 
หัด

ชื่อภาษาอังกฤษ
Measles

ความชุก

พบมากในเด็กอายุ 2-14 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน (เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา) ในผู้ใหญ่ก็พบได้ประปราย ในปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันหัดอย่างทั่วถึงมากขึ้น

ป้ายคำ:
  • โรค
  • อ่าน 8,687 ครั้ง
  • พิมพ์หน้านี้พิมพ์หน้านี้
Skip to Top

คุณไม่สบายตรงไหน

  • ศีรษะหู ตา คอ จมูก ปาก
  • ลำตัวท้อง แขน มือ อวัยวะภายใน
  • ลำตัวส่วนล่างอวัยวะเพศ ขา เท้า
  • อาการทั่วไป ไข้หวัด ผิวหนัง ฯลฯ

ข้อมูลสุขภาพ

  • โรค
  • ยา
  • สมุนไพร
  • ปฐมพยาบาล
Doctor Me

  • สนับสนุนสื่อสุขภาพออนไลน์หมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • คำแนะนำสำหรับประชาชน เรื่อง โรคจากเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลชนิดรุนแรง
  • ผ่าตัดฟรีสำหรับเด็ก ที่เป็นโรคหัวใจ
  • สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย (สพท.)
Appstore
GooglePlay

แผนผังเว็บไซต์

  • หน้าแรก
  • ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
  • บทความสุขภาพน่ารู้
  • สื่อสุขภาพ
  • คำถามสุขภาพ
  • ข่าวสาร
  • ติดต่อหมอชาวบ้าน
  • ข้อปฏิเสธความรับผิดชอบ

รวมลิงค์เครือข่าย

  • มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  • สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  • สถาบันโยคะวิชาการ

สื่อสุขภาพ

  • คลิปสุขภาพ
  • หมอชาวบ้านรายเดือน
  • คลินิกรายเดือน
  • จดหมายข่าวย้อนหลัง
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
  • feed หมอชาวบ้าน
  • facebook หมอชาวบ้าน
  • twitter หมอชาวบ้าน
  • youtube หมอชาวบ้าน
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน ChangeFusion พัฒนาระบบโดย Opendream สัญญาอนุญาต cc by-nc-sa