เอดส์ - โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแตกต่างกันไป สุดแล้วแต่จำนวนของเชื้อและระดับภูมิคุ้มกัน (จำนวน CD4) ของร่างกาย ดังนั้นโรคนี้จึงสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกันดังนี้
-
ระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (primary HIV infection หรือ acute retroviral syndrome) ระยะนี้นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อเอชไอวี จนกระทั่งร่างกายเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน กินเวลาประมาณ 1-6 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว น้ำหนักลด หรือมีฝ้าขาวในช่องปาก อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่ 1-2 สัปดาห์ (บางรายเพียง 2-3 วัน บางรายอาจนานถึง 10 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เอง เนื่องจากอาการคล้ายกับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่หรือไข้ทั่วๆ ไป ผู้ป่วยอาจซื้อยารักษาเอง หรือเมื่อไปพบแพทย์ก็อาจไม่ได้รับการตรวจเลือด นอกจากนี้บางรายหลังติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อจึงมักไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ในระยะนี้
ผู้ติดเชื้อบางรายอาจมีอาการรุนแรง มีอาการสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการอยู่นานหรือรุนแรง มักดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเอดส์เต็มขั้นภายในเวลาสั้นๆ ถ้ามีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ก็อาจเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ -
ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยอยู่ชั่วขณะดังกล่าวมักจะแข็งแรงเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป แต่การตรวจเลือดจะพบเชื้อเอชไอวีและสารภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะ (carrier)
ระยะนี้แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่เชื้อเอชไอวีจะแบ่งตัวเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ และทำลาย CD4 จนมีจำนวนลดลง โดยเฉลี่ยประมาณปีละ 50-75 เซลล์/ลบ.มม. จากระดับปกติ (คือ 600-1,000 เซลล์) เมื่อลดต่ำลงมากๆ ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ทั้งนี้อัตราการลดลงของ CD4 จะเร็วช้าขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อเอชไอวี และสภาพความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย
ระยะนี้มักเป็นอยู่นาน 5-10 ปี บางรายอาจสั้นเพียง 2-3 เดือน แต่บางรายอาจนานกว่า 10-15 ปีขึ้นไป -
ระยะติดเชื้อที่มีอาการ เดิมเรียกว่า ระยะที่มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (AIDS related complex/ARC) ผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยขึ้นกับจำนวน CD4 ดังนี้
ก. อาการเล็กน้อย ระยะนี้ถ้าตรวจ CD4 จะมีจำนวนมากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยอาจมีอาการ ดังนี้- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเล็กน้อย
- โรคเชื้อราที่เล็บ
- แผลแอฟทัส
- ผิวหนังอักเสบชนิดเกล็ดรังแคที่ไรผม ข้างจมูก ริมฝีปาก
- ฝ้าขาวข้างลิ้น (hairy leukoplakia) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus/EBV) มีลักษณะเป็นฝ้าขาวที่ด้านข้างของลิ้น ซึ่งขูดไม่ออก
- โรคโซริอาซิส (สะเก็ดเงิน) ที่เคยเป็นอยู่เดิมกำเริบ
- เริมที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งกำเริบบ่อย และเป็นแผลเรื้อรัง
- งูสวัด ที่มีอาการกำเริบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือขึ้นพร้อมกันมากกว่า 2 แห่ง
- โรคเชื้อราในช่องปาก หรือช่องคลอด
- ท้องเดินบ่อย หรือเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน
- ไข้เกิน 37.8 องศาเซลเซียส แบบเป็นๆ หายๆ หรือติดต่อกันทุกวันนานเกิน 1 เดือน
- ต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 แห่งในบริเวณไม่ติดต่อกัน (เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ) นานเกิน 3 เดือน
- น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- ปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ซึ่งเป็นซ้ำบ่อย
-
ระยะป่วยเป็นเอดส์ (เอดส์เต็มขั้น) ระยะนี้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเสื่อมเต็มที่ ถ้าตรวจ CD4 จะพบมีจำนวนต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นผลทำให้เชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อรา ไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว วัณโรค เป็นต้น ฉวยโอกาสเข้ารุมเร้า เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อที่รักษาค่อนข้างยาก และอาจติดเชื้อชนิดเดิมซ้ำอย่างเดียวหรือติดเชื้อชนิดใหม่ หรือติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
ระยะนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- ไข้ หนาวสั่น หรือไข้สูงเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน
- ไอเรื้อรัง หรือหายใจหอบเหนื่อยจากวัณโรคปอด หรือปอดอักเสบ
- ท้องเดินเรื้อรัง จากเชื้อราหรือโปรตัวซัว
- น้ำหนักลด รูปร่างผอมแห้ง และอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
- ปวดศีรษะรุนแรง ชัก สับสน ซึม หรือหมดสติจากการติดเชื้อในสมอง
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- กลืนลำบาก หรือเจ็บเวลากลืน เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบจากเชื้อรา
- สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด หรือเห็นเงาหยากไย่ลอยไปมาจากจอตาอักเสบ
- ตกขาวบ่อย
- มีผื่นคันตามผิวหนัง (papulopruritic eruption)
- ซีด
- มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- สับสน ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ไม่มีสมาธิ พฤติกรรมผิดแปลกไปจากเดิม เนื่องจากความผิดปกติของสมอง
- อาการของโรคมะเร็งที่เกิดแทรกซ้อน เช่น มะเร็งของผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Kaposi's sarcoma (KS) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
ในเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี ระยะแรกอาจมีอาการน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์ เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นก็อาจมีอาการเดินลำบากหรือพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ และเมื่อเป็นเอดส์เต็มขั้น นอกจากมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแบบเดียวกับผู้ใหญ่แล้ว ยังอาจพบว่าหากเป็นโรคที่พบทั่วไปในเด็ก (เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ) ก็มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าปกติ
การดำเนินโรค
หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตภายในไม่กี่ปี
แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจริงจัง ก็มักลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนลงได้อย่างมาก สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพและอายุยืนยาว
ภาวะแทรกซ้อน
มักพบในผู้ป่วยเอดส์ที่มีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาจมีความรุนแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (pneumocystis pneumonia/PCP) ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตค็อกคัส (cryptococcal meningitis) หลอดอาหารอักเสบจากเชื้อราแคนดิดา จอตาอักเสบจากเชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (ทำให้ตามัวตาบอดได้) ท้องเดินรุนแรงจากเชื้อซัลโมเนลลา ตับอักเสบจากไวรัส เป็นต้น
นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น
- มะเร็ง ที่พบบ่อยได้แก่ มะเร็งผนังหลอดเลือด (Kaposi's sarcoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมอง เช่น ภาวะสมองเสื่อม (AIDS dementia complex) ไขสันหลังอักเสบ (ขาชา อ่อนแรง) ปลายประสาทอักเสบ (ปวดแสบปวดร้อนและชาที่ขา)
- อาการน้ำหนักลดมากจนผอมแห้ง (wasting syndrome) มักมีอาการเรื้อรัง ท้องเดิน และอ่อนเปลี้ยเพลียแรงร่วมด้วย
- ภาวะโลหิตจาง (ซีด)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (มีจุดแดง จ้ำเขียวตามผิวหนังหรือเลือดออก)
- ปวดข้อ ข้ออักเสบ
- ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ภาวะไตวายเรื้อรัง
- ถุงน้ำดีอักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
การแยกโรค
ในระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ผู้ป่วยมักมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป จะทราบว่ามีการติดเชื้อก็โดยการตรวจเลือด
ในระยะติดเชื้อที่มีอาการ ผู้ป่วยสามารถแสดงอาการได้แบบเดียวกับการติดเชื้อของระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย เช่น
- ผิวหนังเป็นเริม งูสวัด โรคเชื้อรา แผลเรื้อรัง พุพอง
- ลิ้นเป็นฝ้าขาวแบบโรคเชื้อรา
- เป็นไข้และไอเรื้อรัง แบบวัณโรคปอด
- เป็นไข้ ไอ หอบ แบบปอดอักเสบ
- เป็นไข้ ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน คอก้มไม่ได้ (คอแข็ง) แบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- แขนขาชาหรืออ่อนแรง แบบไขสันหลังอักเสบ
- ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวหรือเลือดออกแบบโรคเลือด
- ท้องเดินเรื้อรัง แบบมะเร็งลำไส้ใหญ่
ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการผิดปกติแบบเรื้อรัง หรือร่วมกับไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ก็ถึงสงสัยว่าเป็นโรคเอดส์
- อ่าน 70,490 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้