มะเร็งปอด
ระยะแรกเริ่มมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ให้รู้สึกได้ อาการผิดปกติจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นมะเร็งระยะมากแล้ว
อาการที่พบได้บ่อยก็คือ ไอเรื้อรัง อาจไอมีเลือดปนเสมหะ หรือไอออกเป็นเลือดสด หายใจมีเสียงดังวี้ด เจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ (อาจเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจเข้าลึกๆ เวลาไอหรือหัวเราะ) บางครั้งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อย และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น
ระยะของมะเร็งปอด
- ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่ภายในปอด อาจลุกลามถึงหลอดลม หรือเยื่อหุ้มปอดชั้นใน (visceral pleura) แต่ยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด หรือรอบๆ หลอดลม หรือลุกลามไปยังผนังทรวงอก (กระดูกซี่โครง) กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก (parietal pleura) หรือเยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังผนังทรวงอก กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก เยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก ร่วมกับแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือรอบๆ หลอดลม หรือไปยังเนื้อเยื่อภายในประจันอก (mediasternum) หัวใจ ท่อลม หลอดอาหาร หรือกระดูกสันหลัง หรือแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าหรือประจันอกข้างเดียวกัน หรือแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดหรือประจันอกในทรวงอกข้างตรงข้าม
- ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่นอกปอด เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูกทั่วร่างกาย เป็นต้น
การดำเนินโรค
เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่ม มักจะไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้ ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ปล่อยจนกระทั่งเป็นมากแล้วจึงค่อยมีอาการ (เช่น ไอ เจ็บหน้าอกเรื้อรัง) ที่ทำให้ต้องไปพบแพทย์ พอถึงขั้นนี้ก็มักจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะท้ายๆ การรักษาจึงเป็นเพียงการประทังอาการ ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง เฉลี่ยประมาณ 6-12 เดือน รายที่ตอบสนองต่อการรักษาก็อาจอยู่ได้นาน 2-3 ปี หรือมากกว่า ในรายที่สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และเป็นชนิดที่ลุกลามช้า หรือตอบสนองต่อการรักษา ก็อาจจะอยู่ได้นานหรือหายขาดได้
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน (เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) หรือมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) ทำให้หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
ที่สำคัญคือ มะเร็งมักจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูก ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย พิการ หรือทุกข์ทรมาน
การแยกโรค
ในระยะที่มีอาการไอหรือเจ็บหน้าอก น้ำหนักตัวยังไม่ลด อาจแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ โดยไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร ไม่อ่อนเพลีย มักจะมีอาการหลังจากเป็นไข้หวัด
- ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นตรงลิ้นปี่ และร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ หรือต้นแขนมักพบในคนสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันเลือดสูง คนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
ในระยะที่มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- วัณโรคปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไข้และไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ หรือไอมีเลือดปนเสมหะร่วมด้วย
- มะเร็งตับ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณชายโครงข้างขวา คลำได้ก้อนแข็งที่ใต้ชายโครงขวา (เป็นก้อนของตับที่โต) ท้องบวมร่วมด้วย
- อ่าน 23,750 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้