ทอนซิลอักเสบ
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บมากขึ้นตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย การตรวจดูคอจะพบผนังคอหอยแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่หู บางคนอาจมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ หรือตาแดง แบบการติดเชื้อจากไวรัส
การตรวจดูจะพบผนังคอหอยและเพดานอ่อน มีลักษณะแดงจัดและบวม ทอนซิลบวมโตสีแดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองสีขาวๆ เหลืองๆ ติดอยู่บนทอนซิล นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ
การดำเนินโรค
ถ้าเกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
ถ้าเกิดจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ ถ้าได้ยาปฏิชีวนะที่ถูกกับโรค มักจะทุเลาหลังกินยา 48-72 ชั่วโมง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรือได้ไม่ครบ (10 วันสำหรับเพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
บางคนเมื่อหายดีแล้ว ก็อาจกำเริบได้เป็นครั้งคราว เมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น พักผ่อนไม่พอ เครียด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่เป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เป็นทอนซิลอักเสบชนิดเป็นหนอง อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้
- เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล
- เชื้ออาจเข้ากระแสเลือดแพร่กระจายไปยังที่ต่างๆ ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmun reaction) กล่าวคือหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อขึ้นมา แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ไข้รูมาติก (มีการอักเสบของข้อและหัวใจ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการ หัวใจวายได้) และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ บวม ปัสสาวะสีแดง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้) โรคแทรกเหล่านี้มักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์
สำหรับไข้รูมาติก มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกินยาปฏิชีวนะให้ครบ 10 วัน (แม้ว่าอาการจะทุเลาหลังกินยาได้ 2-3 วันไปแล้วก็ตาม)
การแยกโรค
อาการไข้และเจ็บคอ อาจมีสาเหตุที่พบได้บ่อยดังนี้
- ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้ น้ำมูกใส อาการเจ็บคอพบในช่วง 1-2 วันแรก เป็นเพียงเล็กน้อย คล้ายๆ อาการคอแห้งผาก ทอนซิลมักไม่โตหรือโตเพียงเล็กน้อย ลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน
- แผลแอฟทัส (แผลร้อนใน) จะมีอาการกลืนลำบากพูดลำบาก อาจมีไข้ร่วมด้วย การตรวจดูคอจะพบแผลตื้นๆ ตรงบริเวณคอหอย ทอนซิลมักไม่โต อาการเจ็บคอจะเป็นอยู่ 5-10 วัน ก็จะทุเลาไปได้เอง
- คอตีบ จะมีไข้ เจ็บคอ ไอเสียงแหบ หายใจลำบาก ตัวเขียว การตรวจดูคอ จะพบแผ่นหนองสีขาวปนเทาติดอยู่ที่บริเวณผนังคอหอยและทอนซิล จัดว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรีบไปรักษาที่โรงพยาบาล
- อ่าน 99,892 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้