ยารักษามาลาเรีย
เนื่องจากในปัจจุบันพบเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยา และอาจมีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในเมืองซึ่งไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้.
ดังนั้น ถ้าหากมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้หลังกลับจากเขตป่าเขาหรือเขตมาลาเรีย ก็ควรรีบไปหาหมอเพื่อตรวจหาเชื้อ. ถ้าพบว่าเป็นมาลาเรียจริง หมอจะให้ยาดังนี้
-
เชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ซึ่งไม่ร้ายแรง แต่อาจเป็นเรื้อรัง
ก. กินคลอโรควีน (Chloroquine) ขนาด 150 มก. ราคาเม็ดละ 75 สต. แบ่งให้ 3 วัน โดยวันแรกให้ 4 เม็ด อีก 6 ชั่วโมง ต่อมาให้ 2 เม็ด, วันที่ 2 และ 3 ให้ 2 เม็ด วันละครั้ง.
ข. หลังจากนั้นให้กินไพรมาควีน (Primaquine) ขนาด 15 มก. ราคาเม็ดละ 50 สต. วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน เพื่อฆ่าเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในตับ. (ในเด็ก ขนาดยาลดลงตามส่วน).
-
เชื้อมาลาเรียชนิดฟาลซิพารัม ซึ่งร้ายแรงและดื้อยาง่าย เลือกใช้ยาสูตรใดสูตรหนึ่งดังนี้
ก. ควินิน (Quinine) ขนาด 300 มก. ราคาเม็ดละ 2.50 บาท ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง ร่วมกับเตตราไซคลีน ขนาด 250 มก. ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน.
ข. เมโฟลควีน (Mefloquine) ขนาด 250 มก. ครั้งแรก 3 เม็ด, ต่อมาอีก 6 ชั่วโมง ให้อีก 2 เม็ด ร่วมกับเตตราไซคลีน ขนาด 250 มก. ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน.
ค. อาร์ทีซูเนต (Artesunate) ขนาด50 มก. ราคาเม็ดละ15บาท ครั้งแรก 2 เม็ด ต่อไปให้ 1 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน (รวม 12 เม็ด).
ง. อาร์ทีซูเนต กินแบบข้อ ค. ร่วมกับเมโฟลควีน กินแบบข้อ ข. ขนาดดังกล่าวใช้สำหรับผู้ใหญ่ (ในเด็ก ขนาดยาลดลงตามส่วน)
คำเตือน: ยากินป้องกันมาลาเรีย ในปัจจุบันไม่มียาที่ได้ผลดีจริง ยาที่เคยใช้กัน เช่น คลอโรควีน หรือซัลฟาดอกซีนไพริเมทามีน มีฤทธิ์เพียงกดอาหารไว้ได้ชั่วคราว เมื่อหยุดยาอาการอาจกำเริบอีก. ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้กินยาป้องกัน แต่ให้รีบรักษาเมื่อมีอาการที่น่าสงสัย. ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้าไปในดงมาลาเรียเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาหมอเพื่อขอยาติดตัว เช่น ควินิน, เมโฟลควีน หรืออาร์ทีซูเนต เมื่อเกิดอาการขึ้นและไม่สามารถตรวจเลือดหาเชื้อได้ ให้นำยานี้มาใช้รักษาตามขนาดดังกล่าวข้างต้น.
- อ่าน 11,152 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้