โรคขาดไทรอยด์
ในผู้ใหญ่ อาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นช้าๆ กินเวลาเป็นแรมเดือน หรือแรมปี
ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ลำไส้ก็มักจะเคลื่อนไหวช้า ทำให้มีอาการท้องผูกเป็นประจำ บางรายอาจมีอาการคอโต (คอพอก) ร่วมด้วย
เนื่องจากร่างกายทำงานเชื่องช้า มีการใช้พลังงานน้อย ผู้ป่วยจึงมักมีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้งๆ ที่กินไม่มาก และจะรู้สึกขี้หนาว (รู้สึกหนาวกว่าคนปกติ จึงชอบอากาศร้อนมากกว่าอากาศเย็น)
อาจมีอาการเสียงแหบ หูตึง ปวดชาปลายมือ เนื่องจากเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ทั้งนี้เนื่องจากมีสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์สะสมที่กล่องเสียง ประสาทหู และช่องที่เส้นประสาทมือผ่าน
บางรายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ
ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกมากหรือประจำเดือนไม่มา
ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลงจนหมดสติ เรียกว่า Myxedma coma ซึ่งมักมีสาเหตุกระตุ้น เช่น ถูกความเย็นมากๆ ได้รับบาดเจ็บ เป็นโรคติดเชื้อ ใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนาร์โคติก (narcotic) เป็นต้น
ในทารกแรกเกิด จะมีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม มักมีอาการเสียงแหบ ท้องผูกบ่อย และอาจมีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ
เมื่ออายุมากขึ้น เด็กจะมีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว กินไม่เก่ง เฉื่อยชา (ทำให้ดูคล้ายเลี้ยงง่าย ไม่กวน)
ถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ (cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin) ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่าโรคเอ๋อ*
--------------------------------------
*แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
(1) ชนิดที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน เนื่องจากมารดาเป็นโรคคอพอกประจำถิ่น เด็กเครตินที่เกิดจากสาเหตุนี้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ประจำถิ่น (endemic cretinism)
(2) ชนิดที่เกิดจากต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที่ ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า สภาพแคระโง่แต่กำเนิด (congenital cretinism)
การดำเนินโรค
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการจะไม่หายและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการต่างๆ ก็จะทุเลาได้ภายในเวลาไม่นาน และร่างกายจะคืนกลับสู่สภาพปกติได้ภายในไม่กี่เดือน แต่ถ้าขาดยา อาการก็จะกลับกำเริบได้ใหม่
สำหรับทารกแรกเกิด ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุได้ 1 เดือน (ก่อนมีอาการชัดเจน แต่พบจากการตรวจเช็กเลือด) เด็กจะสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมอง แต่เด็กจะต้องกินยาทุกวัน ห้ามหยุดยา
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจโต หัวใจวาย ติดเชื้อง่าย เป็นหมัน แท้งบุตรง่าย เป็นโรคจิต (myxedema madness) ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดภาวะหมดสติ เรียกว่า Myxedema com
ในทารก อาจทำให้ตัวเตี้ยแคระ ปัญญาอ่อน
การแยกโรค
เนื่องจากโรคนี้อาจมีอาการแสดงได้หลายอย่างจึงควรแยกออกจากสาเหตุอื่นๆ มากมาย ดังนี้
-
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) ซึ่งจะมีอาการต่างๆ ตรง กันข้ามกับโรคขาดไทรอยด์ กล่าวคือ จะมีอาการน้ำหนักลด ขี้ร้อน เหงื่อออก มือสั่น ใจสั่น นอนไม่หลับ ชีพจรเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ถ่ายเหลว
- ภาวะซีด (โลหิตจาง) จากสาเหตุต่างๆ ซึ่งจะมีอาการหน้าตา ริมฝีปาก ลิ้น มือและเล็บซีดเผือดกว่าปกติ
- ภาวะดีซ่าน จะพบอาการตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะเหลืองพร้อมๆ กัน มักมีสาเหตุจากโรคตับ โรคถุงน้ำดี และอื่นๆ
- ภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอาการนอนไม่หลับ คิดมาก หรือมีอารมณ์เบื่อหน่าย ซึมเศร้า คิดช้า พูดช้า ท้องผูกหรือท้องเสีย เบื่ออาหารหรือกินเก่ง
- อาการบวมฉุ อาจต้องแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคไต โรคขาดอาหาร ผลข้างเคียงจากยา
- อาการคอโตหรือคอพอก (ถ้ามี) อาจต้องแยกจากโรคคอพอกเป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ดังกล่าวในข้อ 1) คอพอกที่เกิดจากการขาดไอโอดีน (พบในเขตเขาทางภาคเหนือ ภาคอีสานทที่ไม่ได้บริโภคเกลือแกง เกลือที่ใส่ไอโอดีน และอาหารทะเล)
- อาการเสียงแหบ หูตึง ท้องผูก หรือชีพจรช้า ก็ต้องแยกแยะจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย
- อาการปัญญาอ่อนในเด็ก ก็ต้องแยกแยะจากสาเหตุอื่น เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)
- อ่าน 13,710 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้