โรคพิษสุนัขบ้า
ระยะอาการนำของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำๆ (38-38.5 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อาจมีอาการกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน วิตกกังวล มีความรู้สึกกลัว นอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
ที่สำคัญซึ่งถือเป็นอาการที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคนี้คือ บริเวณบาดแผลที่ถูกกัด อาจมีอาการปวดเสียว คัน ชา หรือปวดแสบปวดร้อน โดยเริ่มที่บริเวณบาดแผล แล้วลามไปทั่วทั้งแขนหรือขา
ระยะปรากฏอาการทางระบบประสาท มักเกิดภายหลังอาการนำดังกล่าว 2-10 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. แบบคลุ้มคลั่ง ซึ่ง พบได้บ่อยที่สุด (ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วย) ในระยะแรกๆ อาจมีเพียงอาการไข้ กระวนกระวาย สับสน ซึ่งจะเกิดบ่อยเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง เป็นต้น ต่อมาจะมีการแกว่งของระดับความรู้สึกตัว (เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดีสลับกัน) ขณะรู้สึกตัวดี ผู้ป่วยจะพูดคุยตอบโต้ได้เป็นปกติ แต่ขณะความรู้สึกตัวไม่ดี ผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง เดินเพ่นพ่าน เอะอะอาละวาด
ต่อมาจะมีอาการกลัวลม (เพียงแต่เป่าลมเข้าที่หน้าหรือคอจะมีอาการผวา) กลัวน้ำ (เวลาดื่มน้ำจะปวดเกร็งกล้ามเนื้อคอหอยทำให้กลืนไม่ได้ ไม่กล้าดื่มน้ำทั้งๆ ที่กระหาย หรือแม้แต่จะกล่าวถึงน้ำก็กลัว) ซึ่งพบได้เกือบทุกราย แต่ไม่จำเป็นต้องพบร่วมกันทั้ง 2 อาการ และอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ระยะไม่รู้สึกตัว
นอกจากนี้ ยังพบอาการถอนหายใจเป็นพักๆ (มักพบในระยะหลังของโรค) และอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น น้ำตาไหล น้ำลายไหล เหงื่อออกมาก ขนลุก ในผู้ชายอาจมีการแข็งตัวขององคชาตและหลั่งน้ำอสุจิบ่อย ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจ
ในที่สุดผู้ป่วยจะซึม หมดสติ หยุดหายใจ และเสียชีวิตภายใน 7 วัน (เฉลี่ย 5 วัน) หลังจากเริ่มแสดงอาการ
2. แบบอัมพาต (นิ่ง เงียบ) ซึ่งพบได้บ่อยรองลงมา (ประมาณร้อยละ 30) มักมีอาการไข้ ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนขาและทั่วร่างกายอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ พบอาการกลัวลมและกลัวน้ำประมาณร้อยละ 50 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสียชีวิตช้ากว่าแบบที่ 1 คือเฉลี่ย 13 วัน
บางครั้งอาจแยกจากกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (Guillain Barre syndrome) ได้ยาก
3. แบบแสดงอาการไม่ตรงต้นแบบ (non-classic) ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ถูกค้างคาวกัด ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการปวดประสาทหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ต่อมาจะมีอาการแขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาตหรือชา มีอาการชักและการเคลื่อนไหวผิดปกติ มักไม่พบอาการกลัวลม กลัวน้ำและอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติดังแบบที่ 1
ระยะไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยทุกรายเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการหมดสติและเสียชีวิต (จากระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ) ภายใน 1-3 วันหลังมีอาการไม่รู้สึกตัว ถ้าผู้ป่วยมาโรงพยาบาลในระยะนี้อาจทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก อาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากโรคสมองอักเสบจากสาเหตุอื่น
การดำเนินโรค
เมื่อปรากฏอาการแสดงของโรคแล้ว ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์
โรคนี้ถือว่ามีอัตราตายสูง 100 เปอร์เซ็นต์
ในต่างประเทศ เคยมีรายงานผู้ป่วยที่รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์อยู่เพียงไม่กี่ราย ซึ่งล้วนเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาป้องกันหลังถูกสัตว์กัดมาก่อนทั้งสิ้น แต่เกิดอาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้รอดชีวิตได้
ดังนั้น การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องและการฉีดยาป้องกันหลังถูกสัตว์กัดจึงนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการจัดการกับโรคนี้
การแยกโรค
อาการไข้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท (เช่น คลุ้มคลั่ง สับสน แขนขาอ่อนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว เป็นต้น) อาจเกิดจากโรคระบบประสาทอื่นๆ เช่น
- สมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม ชัก และค่อยๆ ไม่รู้สึกตัวจนหมดสติ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายสมองอักเสบ แต่จะพบว่ามีอาการคอแข็ง (ก้มคอไม่ลง)
- โปลิโอ (ปัจจุบันพบได้น้อย) และกลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร ผู้ป่วยจะมีไข้สูง และมีแขนขาอ่อนแรงตามมา
- บาดทะยัก ผู้ป่วยมักมีบาดแผลตะปูตำ หนามเกี่ยว หรือบาดแผลปนเปื้อนดินทราย หรือบาดแผลที่ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องมาก่อน ต่อมาผู้ป่วยมีอาการไข้ ขากรรไกรแข็ง (อ้าปากไม่ได้) กลืนและพูดลำบาก ในที่สุดจะมีอาการชักกระตุกเวลาสัมผัสถูก (แตะเนื้อต้องตัว) หรือถูกแสงหรือได้ยินเสียง
- โรคจิต ผู้ป่วยจะมีอาการเอะอะ อาละวาด คลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน มักไม่มีอาการไข้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาท ไม่ว่าจะมีสาเหตุอะไรก็ตาม ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์
- อ่าน 8,527 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้