โรคพิษสุนัขบ้า
หากมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
การป้องกัน
1. ผู้ที่ถูกสุนัข แมว ค้างคาว สัตว์ป่า สัตว์แทะ หรือปศุสัตว์ กัด ข่วน หรือเลีย ควรปฏิบัติดังนี้
- ทำการฟอกล้างบาดแผลด้วยน้ำสะอาด (เช่น น้ำก๊อก น้ำขวด น้ำต้มสุก) กับสบู่ทันที ควรฟอกล้างหลายๆ ครั้ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณเชื้อพิษสุนัขบ้าที่บาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน หรือแอลกอฮอล์ชนิด 70%
- ถ้ามีเลือดออกซิบๆ หรือออกไม่หยุด ควรใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาดปิดแผล และใช้แรงกดปากแผลเพื่อห้ามเลือด
- ควรรีบไปที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปและปรึกษาถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนและ อิมมูนโกลบูลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
- ควรกักขังหรือเฝ้าดูอาการสัตว์ที่ก่อเหตุนาน 10 วัน ในกรณีที่สัตว์นั้นจับตัวหรือหาตัวได้ยาก เช่น สัตว์ป่า หนู ค้างคาว สุนัข หรือแมวจรจัดที่อาจหนีหายไป ถ้าเป็นไปได้ควรหาทางกำจัดแล้วนำซากสัตว์ส่งตรวจ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อพิจารณาฉีดยาป้องกัน
ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะควรฉีดยาป้องกันให้ครบถ้วนตามแพทย์สั่ง ส่วนยาที่ฉีดแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้ชนิดใด ขนาดเท่าใด และวิธีการฉีด โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพของผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
โดยทั่วไป แพทย์จะมีแนวทางการฉีดยาป้องกันแก่ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้
-
ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือเคยฉีดน้อยกว่า 3 ครั้ง หรือวัคซีนที่เคยรับเป็นวัคซีนสมองสัตว์ ให้พิจารณาความเสี่ยงของการสัมผัสโรค
- ถ้ามีความเสี่ยงที่ระดับ 2 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) เป็นปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน) ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน
- ถ้ามีความเสี่ยงที่ระดับ 3 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (หยุดฉีดวัคซีนเมื่อสัตว์ (เฉพาะสุนัขและแมว) เป็นปกติตลอดระยะเวลากักขังเพื่อดูอาการ 10 วัน) และอิมมูนโกลบูลิน
-
ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า (pre-exposure) ครบชุด หรือเคยฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรคอย่างน้อย 3 ครั้ง ไม่ต้องฉีดอิมมูนโกลบูลิน ควรฉีดวัคซีนดังนี้
- ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนเกิน 6 เดือน ให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามหรือในชั้นผิวหนัง 2 ครั้ง ในวันที่ 0 และ 3
- ถ้าเคยได้รับวัคซีนมาก่อนภายใน 6 เดือน ให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามหรือในชั้นผิวหนัง 1 ครั้ง
- ในการฉีดวัคซีน ถ้าผู้ป่วยมารับการฉีดไม่ครบ ให้ฉีดวัคซีนโดยนับต่อจากเข็มสุดท้ายที่ผู้ป่วยได้รับ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
2. ผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมว ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์ที่เลี้ยงทุกตัว เมื่ออายุได้ 12 สัปดาห์ (ถ้าฉีดก่อนควรฉีดซ้ำเมื่ออายุ 12 สัปดาห์) และ 24 สัปดาห์ และต่อไปฉีดกระตุ้นปีละครั้งอย่างต่อเนื่อง
3. ผู้ที่ทำงานที่เสี่ยงต่อโรคนี้ เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ แพทย์ และพยาบาลที่มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าบ่อย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า เด็กที่ชอบเล่นกับสุนัข เป็นต้น ควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้าให้ครบ 3 เข็ม
- อ่าน 8,531 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้